กำเนิดธนาคารในประเทศ จากแบงค์ฝรั่ง ถึงธนาคารไทยพาณิชย์ แบงค์ไทยแห่งแรก

พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย และ ผู้บริหาร แบงค์สยามกัมมาจลทุน จำกัด หรือ แบงค์สยามกัมมาจล หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ผู้บริหารและพนักงานบริษัทแบงค์สยามกัมมาจลทุน จำกัด หรือ “แบงค์สยามกัมมาจล” (ภาพจากหนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”)

กำเนิดธนาคารในประเทศ จากแบงค์ฝรั่ง ถึง “ธนาคารไทยพาณิชย์” แบงค์ไทยแห่งแรกสมัยรัชกาลที่ 5

นับตั้งแต่ปี 2403-2431 มีธนาคารพาณิชย์ต่างชาติหลายแห่งตั้งบริษัทตัวแทนขึ้นในประเทศไทย เช่น ธนาคารชาร์เตอร์ ให้บริษัท เอ.มาร์กวอลด์ จำกัด (A. Markwald & Co.) ของเยอรมนีเป็นตัวแทน, ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ให้ห้างยุกเกอร์ซิก จำกัด (Jucker Sigg & Co.) ของสวิตเซอร์แลนด​์เป็นตัวแทน, ธนาคารเมอร์แคนไทล์ ให้ห้าง วินเซอร์ (Winsor) เป็นตัวแทน เพื่อดำเนินธุรกิจธนาคาร คือรับฝากเงินให้กู้ยืมเงิน และออกตั๋วเงิน ควบคู่ไปกับดำเนินกิจการของบริษัท

ต่อมาเศรษฐกิจของไทยขยายตัวมากขึ้นจากพระบรมราโชบาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ด้วยการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการคมนาคมขนาดใหญ่ช่วงปี 2429-2430 ซึ่งแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

โดยในปี 2429 รัฐบาลได้อนุมัติสัมปทานแก่บริษัทเดนมาร์ก ในการก่อสร้างทางรถไฟสายแรกระหว่างกรุงเทพฯ -ปากน้ำ ระยะ 21 กิโลเมตร ต่อมาในปี 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เซอร์แอนดรู คราก (Sir Andrew Clarke) และบริษัท ปันชาร์ด แมค ทักการ์ด โลว์เธอร์ เพื่อสำรวจเส้นทางการสร้างรถไฟกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งธนาคารในยุโรปเห็นว่าเป็นโครงการที่ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมากในการใช้จ่ายหมุนเวียนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเป็นค่าแรงค่าอุปกรณ์ และวัสดุต่างๆ และธนาคารควรเข้าไปมีบทบาทเป็นตัวกลางในการหมุนเวียนเงินเหล่านี้

วันที่ 2 ธันวาคม ปี 2431 ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารพาณิชย์ของอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง เข้ามาจัดตั้งสาขาในประเทศไทยเป็นธนาคารพาณิชย์แรก ต่อมาในปี 2437 ธนาคารชาร์เตอร์ ธนาคารของอังกฤษอีกเช่นกัน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ก็ได้เข้ามาจัดตั้งสาขาขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับที่ 2 และ ในปี 2439 ธนาคารแห่งอินโดจีนของฝรั่งเศสก็ได้เข้ามาจัดตั้งสาขาเป็นธนาคารที่ 3

แล้วคนไทยหรือคนชาติอื่นๆ ในไทยขณะนั้นนิยมฝากเงินหรือกู้เงินกับธนาคารกันเพียงใด คำตอบก็คือ ธนาคารเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมีปริมาณเงินฝากหรือการปล่อยสินเชื่อเท่าใดนัก สิ่งที่ธนาคารให้ความสนใจก็คือการค้าระหว่างประเทศและการค้าเงินตราต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยุโรปเหล่านี้ยังต้องพบกับสิ่งแวดล้อมในไทยที่ทำให้ดำเนินงานตามแบบแผนเช่นในยุโรปไม่ได้ อุปสรรคแรกคือ คนไทยไม่คุ้นเคยกับระบบธนาคาร, การใช้เช็ค แม้แต่การใช้ธนบัตร ขณะที่ชาวยุโปรก็ไม่สามารถเข้าใจหรือเข้าถึงคนไทยจากปัญหาทางด้านภาษา จึงทำให้เกิดการร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ยุโรปกับคอมประโดร์ซึ่งส่วนมากเป็นคนจีน

ในระยะแรกคอมประโดร์ทำหน้าที่เป็นเพียงล่าม และเพิ่มบทบาทมากขึ้น เช่น ค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่ลูกค้า, ให้ความรู้เกี่ยวกับฐานะการเงินของลูกค้า, ติดตามทวงหนี้เรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ แล้วคิดค่าบริการทั้งจากลูกค้าและธนาคาร ธนาคารพาณิชย์ในระยะนั้นจึงเป็นบทบาทร่วมกันของชาวตะวันตกและชาวจีนในไทย

ทว่า ธนาคารพาณิชย์ของยุโรปเหล่านี้มุ่งให้บริการอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อค้าขายกับลูกค้าชาวต่างประเทศของตนเป็นสำคัญ ชาวไทยก็เริ่มมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงตั้งขึ้นกิจการในลักษณะของธนาคารพาณิชย์ที่เปิดทำการเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปี 2447 ว่า “บุคคลัภย์” (Book Club) โดยในระยะแรกดำเนินธุรกิจรับฝากและให้กู้เงิน ต่อมาในเดือนมกราคม ปี 2448 ก็เปิดบริการบัญชีกระแสรายวัน และเพื่อจะดำเนินการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย จึงขอพระบรมราชานุญาติจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด โดยออกหุ้นเป็นจำนวน 3,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 1,000 บาท มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ดังนี้

กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย 503 หุ้น

พระสรรพการหิรัญกิจ 340 หุ้น

ดอยซ์เอเซียติช (ของแบงก์ชาติเยอมนัน) 330 หุ้น

กิมเซ่งหลี 314 หุ้น

พระคลังข้างที่ 300 หุ้น

เด็นคานสกีแลนแมนส์แงก์ (ของแบงค์ชาติเดนมาร์ก) 240 หุ้น

หลวงประสารอักษณพรรณ 110 หุ้น

จีนกัน 100 หุ้น

เองเสี่ยงหยง 100 หุ้น

ในปี 2449 ได้เปลี่ยนกิจการเป็นธนาคารอย่างสมบูรณ์แบบ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษจากรัชกาลที่ 5 ก่อตั้งเป็นบริษัทสยามกัมมาจลทุน จำกัด หรือ “แบงค์สยามกัมมาจล”  เมื่อวันที่ 30 มกราคม ปี 2449 (ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน))

หลังจากนั้นก็มีธนาคารพาณิชย์เกิดขึ้นในประเทศอีกหลายธนาคาร คือ บริษัท จีนสยาม จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2450, บริษัท แบงก์มณฑลทุน จำกัด ปี 2450, บริษัท บางกอกซิตี้แบงก์ทุน จำกัด สิงหาคม ปี 2452, บริษัท แบงก์จีนสยามทุน จำกัด ปี 2453

เพื่อให้ประเทศมีธนาคารพาณิชย์ของไทยเอง ตามที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย กราบบังคมทูลแสดงความคิดเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ของไทยขึ้นว่า

“การแบงก์ของบ้านเมือง ไม่ต้องสงไสยว่าถ้าไทยมีอำนาจในการนี้ขึ้นได้เพียงใด ก็เท่ากับเปนไทยแก่ตัวขึ้นเพียงนั้น ฟิแนนซ์เปนเครื่องป้องกันผลประโยชน์ของบ้านเมืองฝ่าย การพลเรือน ทหารเปนเครื่องรักษาผลประโยชน์ในการอุกฉกรรจ์ กำลังทั้งสองฝ่ายนี้ เมื่อพร้อมจึงนับว่าเป็นกำลัง ถ้าขาดฝ่ายหนึ่งก็ไม่เปนองค์ การฟิแนนซ์เมืองเราแลเหมือนน้ำขังอยู่ในสระ มีคลองไหลเข้าออกแต่ 2 ทาง คือคลองใหญ่ของอังกฤษ แลลำหลอดเลกของฝรั่งเศษ ซึ่งเจ้าของทั้งสองอาจจะปิดเสียให้น้ำเน่าได้ง่าย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

รัตนาวดี รัตนโกมล. วิวัฒนาการและบทบาทของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2431-2488), วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2524


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563