ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2532 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
ความพยายามที่จะตั้ง “ธนาคารกลาง” หรือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” มีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว แต่ไม่สำเร็จ เพราะชาวยุโรปที่มีบทบาทสำคัญในการขอตั้ง “ธนาคารกลาง” ตั้งข้อเรียกร้องเอาเปรียบไทยสูงมาก
หลังจากนั้นก็มีความพยายามที่จะตั้ง “ธนาคารกลาง” เป็นระยะๆ
ด้วยสถานการณ์ “สงคราม” สมัยต่อๆ มาทำให้รัฐบาลไทยตั้งเร่งรัดจัดตั้ง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ขึ้นมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485
เรื่องราวของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ที่นำเสนอโดยย่อต่อไปนี้รวบรัดตัดทอนมาจากเอกสารต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย…
“ธนาคารกลาง” ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พลโท เซอร์ แอนดู คล้าก (Lt. Gen. Sir Andrew Clarke) และพวกรวม 6 คน คิดจัดตั้ง “ธนาคารกลาง” ขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ 2431 โดยให้ นายเฟรเดอกริก ไซเดนแฮม คล้าก พ่อค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นผู้ติดต่อกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ทราบถึงความคิดข้อนี้
ต่อมาก็ส่งรายละเอียดหัวข้อการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจ ตลอดจนร่างหนังสืออนุญาตให้จัดตั้งธนาคาร (Charter of the Bank) มาถวายให้ช่วยนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งและดำเนินการ “ธนาคารที่จะตั้งขึ้นจะใช้ชื่อว่า แบงค์หลวงกรุงสยาม (Royal Bank of Siam)”
เมื่อกรมหลวงเทวะวงษ์วโรปการได้รับเอกสารต่างๆ แล้วก็ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งได้ถวายความเห็นเกี่ยวกับการที่พลโท เซอร์ แอนดรู คล้าก กับพวกขอตั้งธนาคาร และแนวทางการดำเนินงานตลอดจนร่างในหนังสืออนุญาตว่า
“…เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เซอร์ แอนดรู คล้าก คิดเอาแต่ประโยชน์ที่จะอาได้ทุกอย่างแล้วไม่มีคุณอันใดแก่ไทยเลย ถ้ายอมตามร่างมานี้เหมือนหนึ่งว่า ยกเมืองไทยให้อยู่ในกำมือของ เซอร์ แอนดรู คล้าก เท่านั้น เป็นอันใช้ไม่ได้แท้…”
นอกจากจะได้ถวายความเห็นเกี่ยวกับธนาคารที่ตั้งขึ้นใหม่แล้ว กรมหลวงเทวะวงษ์วโรปการ ยังได้ทรงเล่าถึงเรื่องธนาคารความว่า คนไทยที่จะทำการธนาคารได้ก็ติดราชการเสียหมดและรัฐบาลควรคิดที่จะจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องของธนาคาร และการนำเงินไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศ เพื่อว่าหากมีงานใหญ่ทำ รถไฟหรือการก่อสร้างก็จะได้อาศัยเงินที่ออมไว้ได้ไม่เสียประโยชน์แก่เจ้าของเงินที่เก็บเงินไว้เฉยๆ เปรียบเหมือนเก็บดินไว้ฉะนั้น
ในความเห็นของพระองค์นั้น ทรงเห็นว่าน่าจะได้อาศัยการไปรษณีย์ดำเนินธุรกิจธนาคารด้วยเช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ธนาคารออมสินไปรษณีย์ (Post Office Saving Bank) โดยให้ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งรับฝากเงินจากประชาชนตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป และจะถอนเงินคืนได้จากที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง เงินที่ฝากจะได้ดอกเบี้ย
แม้จะไม่ปรากฎว่ามีการดำเนินงานอย่างใดหรือไม่ต่อข้อเสนอในการตั้งธนาคารออมสินไปรษณีย์ ตามที่กรมหลวงเทวะวงษ์วโรปรพการนำขึ้นกราบบังคมทูลก็ตาม แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่าการเสนอขอตั้ง “แบงก์หลวงกรุงสยาม” หรือ Royal Bank of Siam ในครั้งนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งขึ้น
หลังจากนั้นมา เนื่องจากเป็นระยะที่ประเทศมหาอำนาจในยุโรปกำลังดำเนินนโยบายแสวงหาอาณานิคมในทวีปเอเชีย และประเทศไทยก็ประสบกับภัยจากการล่าเมืองขึ้นของมหาอำนาจในยุโรปอย่างหนัก…ดังนั้นความคิดที่จะตั้งธนาคารกลางขึ้นจึงระงับไปโดยปริยาย
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าไทยจำเป็นต้องมีมิตรประเทศให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ เป็นเหตุให้เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440
ผลจากการเสด็จไปเยือนประเทศต่างๆ ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้พวกยุโรปรู้จักไทยดีขึ้นสมดังพระราชประสงค์ ยังเป็นโอกาสให้พระองค์ได้ทรงพบปะกับบรรดาผู้นำในด้านต่างๆ…และหลังจากที่ได้เสด็จกลับมาจากยุโรปแล้วก็ปรากฏว่ามีผู้สนใจที่จะประกอบธุรกิจกับประเทศไทยหลายราย
เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับธนาคารนั้น ได้มีผู้สนใจติดต่อมาทั้งทางตรงและทางอ้อม คือมีหนังสือมากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง ติดต่อผ่านมาทางเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติบ้าง
ต่อมาอีกไม่นาน ผู้จัดการธนาคารในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดชนมาร์ก ได้มีหนังสือลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2441 ถึง Admiral du Plessis de Richelieu (พระยาชลยุทธโญธิน ชาติเดนมาร์ก) ขอให้ช่วยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้ง “ธนาคารกลาง” ขึ้น
นอกจากหนังสือฉบับที่กล่าวแล้ว กลุ่มนักการธนาคารจากประเทศในยุโรปเหนือยังได้ร่างข้อบังคับ หลักเกณฑ์การดำเนินงานของธนาคารที่จะตั้งขึ้นส่งมาด้วย ซึ่งพระยาชลยุทธโยธินได้นำขึ้นถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในขณะนั้น
กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทรงส่งให้ นายริเวต คาร์แนค ที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติในขณะนั้นพิจารณา
นายริเวต คาร์แนค ทำบันทึกความเห็นต่อข้อเสนอและขอบเขตของการดำเนินงานของธนาคาร สรุปได้ว่าไม่ควรอนุญาต โดยมีความเห็นว่า หากรัฐบาลไทยจะจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นเสียเองก็ยังไม่สมควรแก่เวลา เพราะยังมีโครงการใหญ่ๆ ที่จะต้องทำอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องธนบัตร การปรับปรุงการบริหารและการเงินเป็นต้น ควรจะรอไปจนกว่าจะมีความรู้มีประสบการณ์มากพอเสียก่อน
ความคิดที่จะตั้งธนาคารแห่งชาติขึ้นนั้น นอกจากชาวต่างชาติที่ติดต่อมาเพื่อประโยชน์ของตนเอง ก็ยังเป็นความคิดเห็นของคนไทยอีกด้วย
ผู้ที่ได้รู้ถึงประโยชน์รวมทั้งหน้าที่การดำเนินงานของสถาบันการเงินเช่น “ธนาคารกลาง” นั้น ได้แก่ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยนุวัตร ((เกิด บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นอรรคราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับมอบหมายให้แสวงหาแหล่งเงินทุนจากประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 ปอนด์ เพื่อนำมาลงทุนสร่งทางรถไฟระหว่างเมืองลพบุรีกับอุตรดิตถ์) คนหนึ่งและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศวรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกพระองค์หนึ่ง
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 ได้เกิดเหตุการณ์สงครามขึ้นในทวีปยุโรป และต่อมาได้ลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามโลก ระหว่างประเทศเยอรมนี, ออสเตรเลียและฮังการีฝ่ายหนึ่ง กับประเทศอื่นๆ มีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นต้น ซึ่งรวมกันพันธมิตรอีกฝ่ายหนึ่ง
จนถึง พ.ศ. 2460 ไทยจึงได้ประกาศสงครามโดยเข้าร่วมเป็นฝ่ายพันธมิตร และได้จัดส่งกองทหารอาสาสมัคร ไปเข้าร่วมรบที่ทวีปยุโรปด้วย
การเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้นอกจากจะเป็นผลดีในทางการเมืองทำให้สามารถแก้ไขสภาพสิทธินอกอาณาเขตและสัญญาการค้าระหว่างประเทศที่ทำไว้อย่างไม่เป็นธรรมแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น ดังปรากฏว่ามีชาวต่างชาติมาติดต่อขอตั้ง ธนาคารชาติ (State Bank) ขึ้นอีกคือ พันเอกครีเวนโก (Colonel Crivenko) ชาวรัสเซีย ได้มาเฝ้าพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อรรคราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เมือกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 อ้างว่ามีเงินของพวกอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเสศ นอร์วิเจียน และฮออลันดา รวม 100 ล้านแฟรงค์ เดิมจะไปค้าขายในประเทศรัสเซีย แต่เมื่มอมาเกิดจลาจลกันขึ้นภายใน จึงคิดหาทางออกอื่น เห็นว่าเมืองไทยมีช่องทางดี…จึงประสงค์จะตั้งแบงก์ขึ้น แต่อยู่ในความควบคุมแลอุปถัมภ์ของรัฐบาล เช่นอย่างแบงก์เดอฟรองซ์ในเมืองฝรั่งเศส ก่อนจะส่งคนมาสำรวจ อยากจะทราบว่ารัฐบาลสยามเห็นชอบหรือไม่
พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรทรงส่งโทรเลขกราบทูลเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศทรงทราบ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2460 แต่ข้อเสนอขอตั้งธนาคารในระหว่างสงครามโลกครั้งแรกรายนี้ก็มิได้รับความยินยอมให้ดำเนินการ
หลังสงครามไทยเริ่มดำเนินโยบายต่างประเทศเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาการค้ากับประเทศต่างๆ ที่ทำไว้ และไม่เป็นธรรมกับไทย ตลอดจนดำเนินการหาทุนเพื่อสร้างทางรถไฟ, การชลประทานเพิ่มเติมจากสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการคลังตั้งแต่ พ.ศ. 2462…ดังนั้นโครงการจัดตั้งธนาคารกลางจึงถูกละเลยจนสิ้นสัชกาลที่ 6
ธนาคารชาติ ของคณะราษฎร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2468 ทรงมีพระราชภาระหนักต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจการคลังที่ทับถมมาหลายปีอย่างรีบด่วน ทรงตัดทอนรายจ่าย ให้งบประมาณเข้าสู่ดุล ทรงปรับปรุงการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการให้มีระเบียบแบบแผน…
ในระยะแรกๆ การแก้ปัญหาลุล่วงไปด้วยดี เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวขึ้น ก็บังเอิญเกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งเริ่มจากสหรัฐอเมริกาแล้วติดต่อมาถึงยุโรป การค้าระหว่างประเทศลดลงเนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีสินค้า เกิดปัญหาคนว่างงาน…ภาวะดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองขึ้น เนื่องจากของประชาชนประเทศต่างๆ ไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลของตนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งก็เกิดขึ้นกับประเทศไทยด้วย
ใน พ.ศ. 2473 ข้าวซึ่งเป็นสินค้าขาออกสำคัญของประเทศราคาตกทำให้เกิดภาวะเงินฝืด รายได้ที่เคยมีจากภาษีอากรก็จัดเก็บภาษีได้ลดลง งบประมาณเริ่มขาดดุลอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลได้พยายามตัดทอนรายจ่ายต่างๆ ลงรวมทั้งยุบกรมกองต่างๆ ที่เห็นว่าไม่จำเป็นด้วย ก่อให้เกิดปัญหาคนว่างงานจำนวนมาก ประกอบกับมีปัญหาสำคัญ ในเรื่องที่ว่าควรจะผูกค่าเงินบาทกับเงินปอนด์ หรือทองคำภายหลังที่ประเทศอังกฤษได้ประกาศออกจากมาตราทองคำ ในปี พ.ศ. 2474 อีกด้วย การดำเนินการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำอย่างรุนแรงจึงนับว่าเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในขณะนั้น เรื่องเกี่ยวกับ ธนาคารชาติ จึงมิได้มีการพิจารณากัน
ต่อมาเมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 แล้ว “คณะราษฎร” โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรได้มอบให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้จัดร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้น เสนอต่อผู้ก่อการคณะราษฎร
ในเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ได้กล่าวถึงการจัดตั้งธนาคารชาติไว้หลายตอน แต่พระยามโนปกรณ์ฯ กับรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย
ต่อมาพระยาพหลพลพยุหเสนาได้นำกำลังทหารและพลเรือนยึดอำนาจรัฐอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงนี้ก็ได้มีการเคลื่อนไหวที่จะให้มี ธนาคารชาติ ขึ้นอีก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จึงได้หารือกับ นายเจมส์ แบ็กซ์เตอร์ ที่ปรึกษาทางการคลังของรัฐบาลไทยในขณะนั้น
แต่นายแบ๊กซ์เตอร์ให้ความเห็นว่ายังไม่สมควรแก่เวลาที่จะจัดตั้ง “ธนาคารกลาง” ขึ้นในขณะนั้น
ต่อมาพระยาสุริยานุวัตร รัฐมนตรีท่านหนึ่งในคณะรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลฯ ซึ่งเคยมีความเห็นให้ตั้งธนาคารชาติขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2446 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ได้มีหนังสือถึงพระยาพหลฯ เสนอ “โครงการธนาคารชาติและได้ส่งบทความลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นระยะ” หลังจากนั้นก็มีอีกหลายท่านที่สนับสนุนจะให้มีธนาคารชาติขึ้น
ต่อมา พลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แก่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเมื่อเข้ารับตำแหน่งจึงได้รื้อฟื้นเรื่องธนาคารชาติมาดำเนินการ และได้โอน ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ อธิบดีกรมศุลกากรขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลัง (แต่ก่อนมีแต่ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ)
หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ให้นายดอลล์ที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของกระทรวงการคลัง เป็นผู้ร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น และมอบหมายให้ ม.จ. วิวัฒนไชยฯ ที่ปรึกาษฝ่ายไทยทรงดำเนินการต่อ ซึ่งในที่สุดได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเตรียมจัดตั้งธนาคารชาติไทย พ.ศ. 2482 ต่อนายกฯ โดยมีหนังสือด่วนที่ น. 724/2482 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2482
เหตุที่ต้องรีบเตรียมจัดตั้ง ธนาคารชาติไทย เนื่องจากสภาพการสงครามเพราะประเทศอังกฤษได้มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ในประเทศไทยก็มีผู้ไปถอนเงินจากธนาคารเป็นจำนวนมาก ทำให้ฐานะของธนาคารทรุดโทรมลงไป การตั้ง ธนาคารชาติ ขึ้นเพื่อความมุ่งหวังที่จะให้บังเกิดความมั่นคงในการเงิน และช่วยส่งเสริมให้เครดิตของประเทศได้หมุนเวียน อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนยิ่งขึ้น รวมทั้งจะจัดระเบียบการเงินตรารักษาทุนสำรองเงินตรา ทำหน้าที่เป็น ธนาคารของรัฐ และเป็น ธนาคารแห่งธนาคาร ทั้งหลายในราชอาณาจักรต่อไปด้วย
เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ พร้อมทั้งหลักการและเหตุผลก็เห็นชอบด้วยหลักการ จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีการพิจารณา แล้วแก้ไขร่างใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย”
หลังจากนั้น ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรและออกมาเป็นพระราชบัญญัติประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พุทธศักราช 2482” มีทุนตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด แต่ไม่เกิน 10 ล้าบาท โดยจ่ายจากผลกำไรแห่งทุนสำรองเงินตราและผลดอกเบี้ยอันเกิดแต่ทุนสำรองเงินตรา และจากเงินคงคลัง
สถานที่ตั้งสำนักงานในระยะแรกได้อาศัยอยู่ที่กรมบัญชีกลาง ต่อมาจึงขยับขยายไปใช้ตึกสองชั้นริมกำแพงพระบรมมหาราชวังข้างประตูวิเศษไชยศรี (ด้านซ้ายมือ) มีพนักงานทั้งหมด 18 คน (โอนจากกรมบัญชีกลางไปช่วยงานชั่วคราว 8 คน) เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483
ธนาคารแห่งประเทศไทยในสถานการณ์สงคราม
ต่อมาเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาในเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ และยกกองทัพเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในภาวะจำยอมต้องรวมอยู่ในกลุ่มซึ่งญี่ปุ่นขนานนามว่า “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา”
แผนการสำคัญอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น สำหรับวงไพบูลย์ฯ คือ จัดตั้ง “ธนาคารกลาง” ขึ้นในประเทศต่างๆ ที่ยึดครองได้ แม้ประเทศไทยจะเป็นพันธมิตรก็ถูกยื่นข้อเสนอให้จัดตั้ง “ธนาคารกลาง” ขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ เป็นชาวญี่ปุ่น
ขณะนั้น สำนักงานธนาคารชาติไทยเพิ่งดำเนินการได้ปีเศษ ธุรกิจที่กระทำยังเป็นส่วนน้อยของงานของ “ธนาคารกลาง” และยังไม่มีผู้ใดคิดมาก่อนว่าถึงเวลาที่จะจัดตั้งธนาคารชาติแล้ว แต่เมื่อได้รับข้อเสนอเช่นนี้ หากรีรออยู่ญี่ปุ่นก็จะเข้ามาใช้อำนาจควบคุมการเงินของประเทศ รัฐบาลจึงตัดสินใจแก้ปัญหาโดยรับสมอ้างว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการจัดตั้ง “ธนาคารกลาง” อยู่แล้ว และลงมือดำเนินการอย่างรีบเร่ง โดยมอบให้ ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ ที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลังทรงร่างกฎหมายขึ้นเพื่อที่จะประกาศใช้โดยเร็วที่สุด
การจัดร่างออกกฎหมายดังกล่าวดำเนินการสำเร็จลงอย่างรวดเร็วทันแก่ความต้องการ โดย ม.จ.วิวัฒนไชย ทรงร่างเค้าโครงของ “ธนาคารกลาง” โดยอาศัยตำราและกฎหมายธนาคารกลางในต่างประเทศเป็นหลักประกอบกับรายงานของเซอร์ เบอร์นาร์ด ฮันเตรอ์ แล้วเสนอร่างต่อ พลตรีเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว จึงทรงร่าง “พระราชบัญญัติธนาคารชาติแห่งประเทศไทย” ขึ้น และนำเสนอนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 คณะรัฐมนตรีรับหักการและแก้ไขชื่อเป็น “พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย” สภาลงมติให้ประกาศพระราชบัญญัติได้เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2485
พิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทย มีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ณ อาคารที่ทำการธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ถนนสี่พระยา (ที่ปิดกิจการลงเนื่องจากเป็นธุรกิจของชนชาติคู่สงคราม) เนื่องจากสำนักงานธนาคารชาติไทยในบริเวณพระบรมมหาราชวังมีพื้นที่คับแคบ และการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นไปโดยรีบด่วน จึงต้องเช่าอาคารของธนาคารฮ่อกงฯ จากคณะกรรมการควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าว ไปพลางก่อน…
…และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ เป็นผู้ว่าการ
จากวังหลวง ถึงวังบางขุนพรหม
เมื่องสงครามมหาเอเชียบูรพาใกล้จะยุติลง ก็เป็นเวลาที่จะต้องคืนตึกที่ทำการให้เจ้าของเดิม เพราะญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจำเป็นต้องแสวงหาที่ทำการแห่งใหม่ โดยได้ขอเช่า “วังบางขุนพรหม” จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่วังบางขุนพรหม เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2488 ขณะนั้นมีพนักงานประมาณ 300 คน
หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี ปัญหาในด้านความไม่พอเพียงของสถานที่ที่ใช้ปฏิบัติงานก็เริ่มปรากฏ ประกอบกับเห็นว่าธนาคารควรจะมีที่ดินเป็นของตนเอง จึงเริ่มแสวงหาที่ที่มีความเหมาะสมใหม่ซึ่งมีผู้เสนอขายหลายราย
ในที่สุดคณะกรรมการธนาคารได้พิจารณาว่า ไม่มีที่ใดจะเหมาะสมยิ่งไปกว่าวังบางขุนพรหม และควรจัดซื้อที่ดินซึ่งพลเอกเจ้าพระยารามราฆพเสนอขายด้วย เพื่อจะได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร
มีเหตุประจวบเหมาะคือ ในขณะนั้นกรมประชาสัมพันธ์ได้เสนอขอเช่าบ้านมนังคศิลาเพื่อใช้เป็นที่ทำการใหม่ กรมบัญชีกลางกับกรมธนารักษ์ได้ติดต่อขอเช่าจากธนาคารแห่งเอเชียฯ แต่ธนาคารประสงค์จะขายไม่ต้องการให้เช่า กระทรวงการคลังไม่มีงบประมาณที่จะจัดซื้อได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเสนอขอเป็นผู้ซื้อบ้านมนังคศิลาเสียเอง แล้วมอบให้กระทรวงการคลังเพื่อใช้เป็นที่ทำการแห่งใหม่ของกรมประชาสัมพันธ์ โดยแลกเปลี่ยนกับวังบางขุนพรหม…
ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของวังบางขุนพรหม ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา…
อ่านเพิ่มเติม :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2565