จุดเปลี่ยนกุ้ง กับบิดาแห่งฟาร์มเลี้ยงกุ้ง พลิกโฉมการผลิตให้ผู้บริโภคจับต้องได้

ภาพประกอบเนื้อหา - กุ้งในปารีส, ฝรั่งเศส ถ่ายเมื่อ 2000 ภาพจาก JEAN-PIERRE MULLER / AFP

การเพาะเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ ล้วนมีที่มาส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากจำนวนของสัตว์ (ในธรรมชาติ) มีจำกัด มนุษย์จึงเริ่มทดลองเพาะเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่สัตว์บก มาจนถึงสัตว์น้ำ สำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งที่ทำให้มนุษย์ทั่วไปสามารถเข้าถึงเนื้อกุ้งได้สะดวกมากขึ้น นักวิชาการและองค์กรต่างๆ ล้วนยกเครดิตให้กับดร. โมโตซากุ ฟูจินากะ (Dr. Motosaku Fujinaga) ชาวญี่ปุ่น

ผลงานวิจัยศึกษาเส้นทางของการเพาะเลี้ยง (Farm) กุ้งไม่ใช่กิจกรรมที่มีความเป็นมาเก่าแก่ หากเทียบกับการเพาะเลี้ยงสัตว์บก ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ล้วนอธิบายว่า มนุษย์เพาะเลี้ยงสัตว์บกกันมานานหลายพันปีแล้ว ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลนั้น เพิ่งริเริ่มกันอย่างจริงจังไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น

จอร์จ ดับเบิลยู แชมเบอร์เลน (George W. Chamberlain) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเพาะเลี้ยงกุ้ง และผู้เขียนบทความเชิงวิชาการหัวข้อ History of Shrimp Farming อธิบายไว้ว่า จุดเริ่มต้นของฟาร์มกุ้งเริ่มกันในภูมิภาคเอเชียนี้เอง พื้นที่แถบนี้เป็นละแวกที่ลูกกุ้งทะเลตามธรรมชาติอพยพเข้ามาเพื่อหาแหล่งอาหาร จำนวนกุ้งที่จับได้แต่ละปีก็มีมากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับกุ้งนั้นเริ่มในช่วงศตวรรษที่ 20 เท่านั้น แชมเบอร์เลน อธิบายว่า เหตุผลหลักของเรื่องนี้เป็นเพราะปัญหาขาดความเข้าใจวงจรชีวิตกุ้งทะเล

การพัฒนาก้าวแรกในการเลี้ยงกุ้งทะเลและได้ผลสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อปี 1934 เมื่อ ดร. โมโตซากุ ฟูจินากะ (Dr. Motosaku Fujinaga) จากยามากูชิ ในประเทศญี่ปุ่น เขาสามารถทำให้กุ้งคูรุม่า (Penaeus japonicus) วางไข่จนฟักเป็นตัว ในปี 1940 เขาสามารถเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของกุ้งดังกล่าวจนเจริญเติบโตได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาต้องหยุดชะงักลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายในระยะเวลา 20 ปีหลังสงครามจบลง ดร. ฟูจินากะ สามารถพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงกุ้ง วางไข่ จนถึงช่วงเจริญเติบโตซึ่งยังกลายมาเป็นรากฐานของเทคโนโลยีฟาร์มกุ้งในทุกวันนี้ จนเขาได้รับขนานนามว่า “บิดาแห่งการฟาร์มกุ้ง” ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็ถือเป็นหัวหอกในการพัฒนาในอุตสาหกรรมสายนี้ไปโดยปริยายด้วย

ระบบคลังข้อมูลสารสนเทศระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ในออนไลน์ โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) อธิบายว่า เมื่อดร.ฟูจินากะ เลี้ยงกุ้งจนได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการภายในห้องปฏิบัติการ และยังสามารถทำในเชิงการค้าในปริมาณมากแล้ว ก็เผยแพร่ผลงานของตัวเอง โดยผลงานชิ้นสำคัญคือวิทยานิพนธ์ในปี 1942 ในหัวข้อ “‘Reproduction, development and rearing of Penaeus japonicus Bate’” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญต่อการรับรู้ในวงกว้างระดับนานาชาติด้วย

Dr. I Chiu Liao อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประมงแห่งไต้หวัน (Taiwan Fisheries Research Institute) ซึ่งเคยศึกษาร่วมกับดร. ฟูจินากะ เมื่อปี 1968 เผยว่า ความฝันของดร.ฟูจินากะ คือการผลิตกุ้งให้เป็นอาหารที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย โดยหลังจากยุค 60s เป็นต้นไป ถือว่าเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการพัฒนาเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยเหล่านักวิจัยพยายามประยุกต์เทคนิคของดร. ฟูจินากะ มาใช้กับกุ้งในสายพันธุ์อื่น และภูมิภาคที่แตกต่างกัน แหล่งการพัฒนาในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นที่รับรู้กันเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง

Chamberlain, George. “History of Shrimp Farming”. 2010. <https://www.researchgate.net/publication/287496187_History_of_Shrimp_Farming>

ประวัติการเลี้ยงกุ้ง. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน). ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2563. <http://www.arda.or.th/kasetinfo/south/shrimp/history/01-02.php>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2563