“หน้าบันพระอุโบสถ”

หน้าบันพระอุโบสถ” วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ที่ริมคลองสระบัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยอยู่ในส่วนหลังคามุขเด็จด้านสกัดด้านหน้า เป็นหน้าบันศิลปะอยุธยา มีลักษณะแบบแผนการจำหลักที่คล้ายคลึงกับหน้าบันที่อยู่ตามปราสาทหินในศิลปะสถาปัตยกรรมขอม ซึ่งนิยมจำหลักเป็นรูปเทพเรียงเป็นชั้นๆ หรืออาจเป็นเรื่องราวปางต่างๆ ของเทพเจ้า โดยจำหลักเป็นรูปคนเต็มหน้าบัน มีลวดลายแทรกเป็นส่วนน้อย

หน้าบันแห่งนี้จำหลักไม้เป็นรูปเทพชุมนุม ๒๖ องค์ รายล้อมอยู่รอบพระนารายณ์ทรงครุฑยืนอยู่บนหน้ากาล (ตัวเกียรติมุข) ลักษณะแบบแผนการจำหลักรูปเทพสวมชฎาเทริด (ซึ่งพบอยู่ตามทวารบาลประตู) อีกท้งรูปแบบของฉัตรสามารถนำมาเป็นตัวกำหนดยุคสมัยทางศิลปะ โดยสันนิษฐานได้ว่าเป็นหน้าบันศิลปะอยุธยายุคต้น-กลาง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับศิลปวัฒนธรรมขอม แต่ได้คลี่คลายรูปแบบจนมาเป็นลักษณะเฉพาะของช่างท้องถิ่นอยุธยา

ในส่วนของเครื่องลำยอง (ช่อฟ้า ใบระกา) ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นรูปแบบสมัยสร้างหรือไม่ แต่คงผ่านการบูรณะซ่อมแซมมาอย่างต่อเนื่องในสมัยต่างๆ ถึงปัจจุบัน คุณค่าความงดงามในเชิงช่างของหน้าบันแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นหน้าบันศิลปะอยุธยา (ยุคต้น-ยุคกลาง) ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดที่ยังหลงเหลือและใช้งานอยู่ในปัจจุบัน


ที่มา: คอลัมน์ “เส้นสายลายสือ” โดย ติ๊ก แสนบุญ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2547 (จัดเรียงย่อหน้าใหม่)