บ้านบรรทมสินธุ์ ร.6 พระราชทานให้พระยาอนิรุทธเทวา สู่บ้านพิษณุโลก มีเรื่องลี้ลับหรือ?

บ้านพิษณุโลก บ้านบรรทมสินธุ์
บ้านพิษณุโลก เดิมชื่อ บ้านบรรทมสินธุ์

บ้านพิษณุโลก มีเรื่องราวเล่าขานมากมายล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาถรรพ์ดำมืดที่พิสูจน์เรื่องราวเกี่ยวกับภูตผีปีศาจที่ออกมาเพ่นพ่านยามราตรี

เรื่องเกี่ยวกับม้าทองแดงที่ว่ากันว่ายามกลางวันจะยืนอย่างสงบนิ่ง หากพอตกกลางคืนจะออกมาวิ่งส่งเสียงร้องดังไปทั่วละแวกแถวนั้น

หรือรูปปั้นทรงโรมันที่เรียงรายทอดสองข้างทางบ้านวันดีคืนดีมีชีวิตออกมาเดินเล่น !

แต่นั่นเป็นเพียงเรื่องเล่า ยังไม่มีใครสักคนยืนยันและพิสูจน์ “ศาสตร์อันลี้ลับ” นี้ ปล่อยให้เป็นปริศนาดำมืดค้างคาในใจคนต่อไป

หากสำหรับ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ทายาทชายคนเดียวของพระยาอนิรุทธเทวา เจ้าของบ้านพิษณุโลกดั้งเดิม บ้านหลังนี้คือสถานที่อันอบอุ่น เป็นความทรงจำ เป็นชีวิตอันสดใสแจ่มกระจ่างที่กาลเวลาไม่อาจลบเลือนลงไปได้ เป็นผู้เดียวซึ่งยืนยันทุกครั้งว่า

“ผีในบ้านพิษณุโลกไม่มีจริง ถ้ามีผมต้องเจอ แต่ผมอยู่มานานแล้วไม่เคยเจอ”

บ้านพิษณุโลก เดิมคือ “บ้านบรรทมสินธุ์” อันเป็น “บ้านพระราชทาน” ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แล้วพระราชทานให้กับมหาเสวกเอก พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ) (23 พฤษภาคม 2436 – 11 มกราคม พ.ศ. 2494) บุตรชายของ พระนมทัต (คุณหญิง ประสิทธิ์ศุภการ) ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ คัดเลือกให้เป็น “แม่นม” ถวายแด่ทูลกระหม่อมโต เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

บุตรธิดาของพระนมทัต 3 คน ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม รับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาทมาแต่ครั้งเยาว์วัย

ม.ล. เชื้อ พึ่งบุญ ลูกสาวคนโตมีหน้าที่ดูแลเครื่องแต่งกายฉลองพระองค์ของรัชกาลที่ 6 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่ “ท้าวอินทร์สุริยา”

บุตรชายคนรอง ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ รับราชการในพระองค์ตลอดมา จนกระทั่งได้เลื่อนขึ้นเป็น มหาเสวกเอก พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กและสมุหราชองครักษ์

ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ บุตรชายคนเล็กที่ได้รับพระราชทานบ้านบรรทมสินธุ์นั้น เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กห้องที่พระบรรทม ซึ่งบางครั้งต้องนอนที่พื้นปลายแท่นพระบรรจถรณ์ เพราะรัชกาลที่ 6 มักทรงเข้าที่บรรทมดึกมากเช่นหลังยามสาม เพราะพระองค์โปรดทรงพระอักษรหรือทรงซ้อมบทละครพระราชนิพนธ์อยู่จนดึก

ต่อมาทรงแต่งตั้งให้เป็นนายสุนทรมโนมัย (มหาดเล็กหุ้มแพร) นายม้าต้นแห่งกรมอัศวราช (กรมม้าหลวงรักษาพระองค์แห่นำตามเสด็จ) แล้วเลื่อนขึ้นเป็นหลวงศักดินายเวร เป็นเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหน้าห้องที่พระบรรทม เป็นจางวางเอกพระยาอนิรุทธเทวา อธิบดีกรมมหาดเล็กกับผู้บัญชาการกรมมหรสพ (อธิบดีกรมศิลปากรในปัจจุบัน) และเป็นนายพลตรีผู้บัญชาการทหารรักษาวัง ว.ป.ร. กับรองสมุหราชองครักษ์ในรัชกาลที่ 6 แต่เครื่องยศมหาดเล็กชั้นเสวกเอกเทียบเท่าตำแหน่งมหาอำมาตย์เอกในสมัยนั้นด้วย

“บ้านบรรทมสินธุ์”

แรกเริ่ม “บ้านบรรทมสินธุ์” ไม่ได้เป็นดังเช่น “บ้านพิษณุโลก” ที่เราเห็นในปัจจุบัน หากแต่เป็น “บ้านสวน” อันร่มรื่นแถวชานกรุงติดกับกรมอัศวราช (กรมพิธีแห่นำตามเสด็จ) อันเป็นสนามม้าชานเมืองชายพระนคร ปัจจุบันคือราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ การคมนาคมไม่สะดวกสบายเหมือนเวลานี้ รถราไม่ยอมไปเพราะเปลี่ยวกลัวโดนจี้ ถนนจึงเป็นที่สำหรับปั่นจักรยานและม้าเดิน

การก่อสร้าง “บ้านบรรทมสินธุ์” ต้องขี่ม้าไปดูสถานที่ และขุดสระใหญ่เอาดินขึ้นมาถมที่ปลูกบ้าน และขนหินบางส่วนจากราชบุรีกับสระบุรีมาเป็นฐานสร้างตึกใหญ่ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงเลือกแบบจากฝีมือนายช่างสถาปนิกชาวอิตาลีที่ว่างจากการมาก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมในสมัยนั้น

บ้านพิษณุโลก บ้านบรรทมสินธุ์
บ้านพิษณุโลก บ้านพักนายกรัฐมนตรีอีกมุม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ส.ค. 2536)

การปรับที่ปลูกบ้านเริ่มประมาณปี พ.ศ. 2465 ค่อยทำค่อยเป็นไปที่ละส่วนในพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ และเริ่มปลูก “เรือนคู่ใจ” เป็นบ้านเล็กๆ หลังแรกระหว่างการก่อสร้างเพื่อเป็นที่อยู่ของพระยาอนิรุทธเทวาและคุณหญิงเฉลาผู้ภริยา

บ้านบรรทมสินธุ์ค่อยทยอยสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ทั้งบริเวณเมื่อปี 2468 อันมี “ตึกใหญ่” เป็นประธาน และมีตึกบริวารต่างๆ เช่น “เรือนเย้าใจ” เป็นที่ฝึกซ้อมบทละครพระราชนิพนธ์และ “ตึกธารกำนัล” ซึ่งเป็นที่ที่รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ และทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ทอดพระเนตรหรือทรงกีฬาต่างๆ กับข้าราชบริพารและชาวต่างประเทศ

เรือนเย้าใจ
เรือนเย้าใจ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ส.ค. 2536)

“ตึกใหญ่” ด้านหน้ามีรูปปั้น “พระนารายณ์บรรทมสินธุ์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์พระราชทานเป็นเครื่องหมายประจำตระกูลประดิษฐานอยู่บนแท่นศิลาในอ่างน้ำพุหน้าบ้านทำด้วยบรอนซ์ ส่วนม้าทองแดงขนาดเท่าตัวจริงในสนามข้างตึกใหญ่ สั่งซื้อมาจากอิตาลี และพระราชทานให้เป็นอนุสรณ์แห่งความพอพระราชหฤทัยแก่นายสุนทรมโนมัย นายม้าต้นคนแรกที่ขี่ม้าแห่นำตามเสด็จในพระราชพิธีต่างๆ จนกระทั่งได้เลื่อนขึ้นเป็นนายพลเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์ที่พระยาอนิรุทธเทวา

บ้านบรรทมสินธุ์เมื่อครั้ง พล.อ. เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา เยาว์วัยและพำนักอาศัยนั้นมีบรรยากาศแตกต่างจากสมัยนี้โดยสิ้นเชิง “เมื่อก่อนจากประตูรั้วใหญ่บ้านบรรทมสินธุ์มองเข้าไปจะแลเห็นกระถางต้นไม้ขนาดยักษ์ใส่ต้นตะโกดัด ถ้าเลี้ยวขวาตามถนนจะไปยัง ‘ตึกธารกำนัล’ และสนามกีฬากับบ้าน 2 ชั้น ถ้าเลี้ยวซ้ายไปตามถนนราดยางจากกระถางต้นไม้ใหญ่จะเป็นทางไปสู่ตึกใหญ่ ซึ่งปลูกต้นสนครื้มตลอดสองข้างทาง มีตุ๊กตาโรมันทั้งรูปคนและรูปสัตว์เรียงรายไปยังถนนวงแหวน

หน้าตึกใหญ่ที่มีรูปปั้นนารายณ์บรรทมสินธุ์บนแท่นศิลาในอ่างน้ำพุ เมื่อก้าวขึ้นบันไดหินอ่อนหน้ามุก เข้าประตูตึกใหญ่เป็นห้องโถง มีเสาหินอ่อนคู่แรกบนพื้นไม้สักแบบปาเก้ต์ มีลวดลายประณีตมันวับ ด้านซ้ายเป็นห้องรับแขกใหญ่ที่วิจิตรบรรจง มีบันไดสองแพร่งประกอบ…

…อ่างหินอ่อนเล็กๆ มีน้ำไหลจากปากหัวสิงห์ที่แกะสลักอย่างงดงาม เดินลงไปสู่ห้องรับแขกที่กว้างสามารถใช้เป็นห้องเต้นรำสำหรับงานราตรีสโมสรได้ มองออกไปด้านหน้าต่างจะเห็นสะพานโรมันที่จะนำไปสู่สระใหญ่และสวนป่าที่มีศาลเทพารักษ์อยู่บนยอดเขาจำลอง จากสะพานพายเรือแคนูแล่นข้ามไปดื่มน้ำชาที่เกาะ สมัยนั้นมีสะพานแขวนที่ข้ามไปแล้วมีเถาวัลย์ มีดอกไม้เต็มไปหมดแล้วมีอนุสาวรีย์เล็กๆ เตี้ยๆ คือสุนัข ตัวโปรดของพ่อผมที่ฝังที่นั่น เดินข้ามสะพานไป ข้างหลังเป็นสวนหย่อม มีเขามอ มีน้ำตกไหลลงมา ในนั้นมีปลาเข็ม ปลากัด ปลากิม…”

ลักษณะเป็นแบบบ้านสวนเหมือน “COUNTRY HOUSE” ของอังกฤษ เพราะรัชกาลที่ 6 ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

ส่วนด้านขวาของห้องโถงชั้นแรกเป็นห้องนั่งเล่นหรือรับแขกคุ้นเคย ด้านนี้มองทะลุไปยังสนามหญ้าใหญ่ข้างตึกที่มีม้าทองแดง ซึ่งอาจใช้เป็นที่จัดงานเลี้ยงกลางแจ้งได้หลายร้อยคน การเลี้ยงเป็นแบบค็อกเทลเลี้ยงน้ำชาตอนบ่าย

ส่วนห้องเต้นรำที่ภาพยนตร์เรื่อง “บ้านทรายทอง” เคยถ่ายทำเป็นห้องบอลรูมจุคนได้ 50 คน จากห้องมองเลยจะเห็นตึกธารกำนัลและสนามกีฬา (มีบ่อน้ำริมสนามสำหรับให้ม้ากิน) หลังห้องรับแขกทั้ง 2 ห้องเป็นห้องคนรับใช้สำหรับบริการอาหารและเครื่องดื่มรับแขก

บันไดขึ้นชั้นบนพิสดารมากไม่มีเสารองรับแม้แต่ต้นเดียว บันไดวนขึ้นไปจนถึงชั้น 3 เมื่อเดินขึ้นไปบนตึกใหญ่ชั้น 2 เป็นห้องนอนทั้งสองด้าน ห้องนอนใหญ่ของเจ้าบ้านอยู่ด้านซ้ายซึ่งมองทางหน้าต่างจะเห็นสระน้ำและสวนป่า ห้องทาสีชมพูตามสีวันเกิดของเจ้าของบ้าน และมีที่วางเตียงนอนเป็นรูปครึ่งวงกลมที่หัวนอนเป็นตู้ไม้สักเรียงแถวแกะสลักสำหรับใส่เสื้อผ้าและเปลี่ยนชุดนอน

หน้าต่างเป็นกระจกพิเศษรูปวงกลมขนาดปาก ถ้วยแก้วสีต่างๆ ประกอบเป็นบานหน้าต่างสี่เหลี่ยม เวลาแดดส่องจะเป็นสีรุ้งทำให้เย็นตาและคลายร้อนได้ ม่านหน้าต่างเป็นกํามะหยี่สีฟ้าหม่นตลอดแนววงพระจันทร์ เพดานทุกห้องสูงมากเพื่อให้อากาศถ่ายเท และมีลวดลายแกะสลักตามซุ้มบานประตู ภาพเขียนสีฝุ่นงดงามประดับตามเพดานห้อง

ภายใน บ้านพิษณุโลก บ้านบรรทมสินธุ์
ภายในตัวตึกใหญ่ บ้านพิษณุโลก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ส.ค. 2536)

ห้องนอนด้านปีกขวามี 2 ห้อง สำหรับบุตรสาว 2 คน มีห้องน้ำด้านหลังเรียบร้อยทุกห้อง ด้านหลังชั้นสองมีห้องรับประทานอาหารซึ่งมองเห็นตึกเย้าใจ มีสะพานเดินเชื่อมทั้ง 2 ชั้น และมีสระน้ำเล็กๆ ปลูกบัววิคตอเรีย มีตุ๊กตาโรมันสามสาวอยู่กลางบ่อ ส่วนชั้นสามเป็นห้องพระใหญ่ใต้โดมหน้าตึก ด้านหลังเป็นห้องนอนของบุตรชายเจ้าของบ้านทะลุออกไปเป็นดาดฟ้าหลังคาบ้าน มองเห็นวิวสวยได้รอบทิศแบบแพโนราม่าและหลังคามุงกระเบื้องสีแดงมีประตูเล็กๆ เป็นช่องลอดเข้าไปซ่อมแซมหลังคาบ้านได้สะดวก

ตึกใหญ่หลังนี้เป็นที่ถือกำเนิดของบุตรธิดาทั้งสามของพระยาอนิรุทธเทวา และรกฝังไว้ใต้ต้นไม้สวนป่าตามธรรมเนียมโบราณเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข

สู่กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น

ตระกูล “อนิรุทธเทวา” อยู่ในบ้าน “บรรทมสินธุ์” ด้วยความสงบสนุกรื่นเริงอยู่เย็นเป็นสุขมาหลายปีจนสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น ญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปลายปี 2484 เพื่อ “ขอผ่าน” ไปสู้รบกับอังกฤษที่ประเทศพม่าและมลายู และใช้แผนการสถาปนากลุ่มประเทศวงศ์ไพบูลย์อันยิ่งใหญ่แห่งเอเชียร่วมกันขึ้นมาเพื่อขับไล่ฝ่ายประเทศพันธมิตรจักรวรรดินิยมในสมัยนั้น

เนื่องจากความผันผวนทางการเมืองระหว่างประเทศ และสถานการณ์บีบบังคับในตอนนั้น ประกอบกับไทยกำลังสู้รบกับฝรั่งเศสเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนจากฝรั่งเศส ญี่ปุ่นจึงยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยจนฝรั่งเศสยอมยกดินแดนในบางส่วนในลาวและเขมรคืนให้แก่ไทย แล้วญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองอินโดจีนทั้งหมดแทนฝรั่งเศส

รัฐบาลไทยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยอมเข้าร่วม “วงศ์ไพบูลย์” กับญี่ปุ่นและตกลง “ร่วมรุก ร่วมรบ” เข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา ทางฝ่ายพันธมิตรจึงส่งเครื่องบิน บี.24-25 “ป้อมบิน” มาทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพฯ บ่อยครั้ง ทำให้กรุงเทพฯ ต้องพรางไฟและติดตั้งไฟฉายยิง ปตอ.ต่อสู้กันเป็นการใหญ่ โรงเรียนปิดเกือบหมด แม้แต่วชิราวุธวิทยาลัยก็ย้ายไปอยู่บางปะอิน อยุธยา และโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็ย้ายไปอยู่ที่ “ป่าแดง” จังหวัดเพชรบูรณ์

พระยาอนิรุทธเทวาตัดสินใจพาครอบครัวอพยพทางเรือไปอยู่ที่วัดตำหนักเหนือ เลยปากเกร็ดนนทบุรีไปทางอยุธยา

2485 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่งผู้แทนติดต่อขอเช่าหรือซื้อบ้านบรรทมสินธุ์ซึ่งว่างอยู่ เพราะพระยาอนิรุทธเทวาได้อพยพครอบครัวไปอยู่ต่างจังหวัดหมด เนื่องจากรัฐบาลสมัยนั้นต้องการ “บ้านรับรอง” ที่หรูหราสมเกียรติระดับชาติเพื่อใช้ในราชการสงคราม และเตรียมการไว้ต้อนรับ นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งมีข่าวจะมาเยือนไทย

“พ่อผมในลักษณะว่าทางการต้องการก็ได้แต่ลึกๆ ที่เรานึกอยู่คือถ้าไม่ให้เขาต้องเกณฑ์เหมือนเกณฑ์ทหาร เกณฑ์บ้านสำหรับใช้ในราชการแล้วรับรองแขกต่างประเทศ คิดเช่นนั้นไหนๆ เราต้องคืนให้เขาในสภาพอะไรเราว่าขายดีกว่า ตอนสงครามอพยพไปอยู่ที่อื่น บ้านก็ร้างอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ขายทั้งหมด เราขายเฉพาะซีกทางตัวตึก แต่ทางด้านขวาที่เป็นสโมสรวัฒนธรรมและเป็นสปอร์ตคลับของพ่อผม ของเจ้านายสมัยก่อนเก็บเอาไว้ พ่อผมขาย “บ้านบรรทมสินธุ์” ไปในราคา 500,000 บาท ให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”

ในสัญญาซื้อขายมีการบันทึกไว้ชัดเจนว่า “สิ่งใดที่เป็นของพระราชทานและเคารพนับถือนั้น เมื่อเจ้าของต้องการขนย้ายไปในโอกาสอันสะดวกก็ได้”

“บ้านบรรทมสินธุ์” ถูกใช้เป็นที่ทำการ “กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น” รัฐบาลเปลี่ยนชื่อตึกใหญ่เป็นตึก “ไทยพันธมิตร” และเปลี่ยนชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็น “บ้านพิษณุโลก” ตามชื่อถนนแทนในที่สุด

ส่วนบริเวณบ้านที่เหลืออีกซีกคือด้านที่เป็นโรงพยาบาลมิชชันในปัจจุบันนั้น พระยาอนิรุทธเทวาขายให้แพทย์ฝรั่งไปหลังสงครามสงบในราคาหลายล้านบาท

นับจากนั้น “บ้านบรรทมสินธุ์” หรือชื่อใหม่ “บ้านพิษณุโลก” ก็ไม่ใช่เป็น “บ้านบรรทมสินธุ์” อันเคยเป็นบ้านสวนที่สงบร่มรื่นอีกต่อไปแล้วในความคิดคำนึงของ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา เพราะ “ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปบ้านถูกทิ้งร้างเป็นสิบๆ ปีปราศจากคนสนใจจะเข้ามาดูแลซ่อมแซม แต่ได้มีการทุ่มงบประมาณ 10 ล้านบาท ในสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อบูรณะซ่อมแซมบ้านพิษณุโลกให้เป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นั้นเอง”

บ้านพิษณุโลก บ้านบรรทมสินธุ์
อีกมุมของบ้านบรรทมสินธุ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ส.ค. 2536)

“บ้านพิษณุโลก”

หากทว่าสภาพของ “บ้านพิษณุโลก” เปลี่ยนแปลงจนเกือบจะเหมือนคนแปลกหน้าสำหรับผู้คนที่รู้จัก “บ้านบรรทมสินธุ์” อันสร้างความสะเทือนใจให้กับสายตระกูล “อนิรุทธเทวา” ยิ่งนัก “ผมเสียใจหลายอย่าง คนได้บ้านไปเหมือนวานรได้แก้ว ทิ้งของระเกะระกะไปหมด ตุ๊กตารูปกวนอูเตียวหุย ตุ๊กตาหินนักรบจีนขนาดเท่าตัวคนใช้ถ่วงเรือสำเภาเรียงรายตามทางเข้าเต็มไปหมด ตอนนี้เหลืออยู่ 3-5 ตัว มันดำดินไปไหนหมด ผมไม่ทราบ…

…ในสนามเคยมีเก๋งจีนหรือซุ้ยเกาะแต่เดี๋ยวนี้ไม่มี รูปปั้นนารายณ์บรรทมสินธุ์สมัยก่อนเป็นบรอนซ์แล้วมีดอกบัว มีน้ำพุ แต่เดียวนี้ไม่ใช่บรอนซ์เป็นนารายณ์บรรทมสินธุ์ขนาดเท่าของเดิม แต่เป็นปูนปลาสเตอร์ทาสี ม้าทองแดงรักษากันอย่างไรไม่ทราบปล่อยให้ทะลุเป็นรูกลวงโบ๋สนิมกิน แต่ช่วงสงครามอะไรเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น…

ของที่ยังเหลือเป็นของใหญ่ที่ยกลำบาก ที่รักษาอยู่มีกระถางต้นไม้ใบสีเขียวข้างเตียงนอนห้องสีชมพู เป็นหยกตั้งแต่ต้นจนถึงกิ่งไปถึงดอกสูงประมาณศอกเศษ เป็นของขวัญที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้วันสมรสของพ่อกับแม่ผม เมื่อวันซ่อม “บ้านพิษณุโลก” ปรากฏว่าใบหายไป ให้สันติบาลสืบอยู่ตั้งนานกว่าจะพบว่าไปอยู่ที่โรงรับจำนำ

…แต่ผมดีใจนะที่คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของบ้านโบราณหลังนี้ และบูรณะซ่อมแซมของที่เป็นเพชรไปอยู่ในโคลนตมเมื่อเอาขึ้นมาขัด ขัดอย่างไรก็ยังเป็นเพชร”

หากแม้ว่าจะบูรณะหลายครั้งและมีข่าวว่านายกรัฐมนตรีจะเข้าไปอยู่ หาก พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ขนข้าวขนของไปได้คืนเดียวก็ต้องย้ายกลับมาพำนักยังบ้านสี่เสาเหมือนเดิม และปี (2536) ก็ยืนยันจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีจะเข้าไปอยู่อย่างเป็นทางการ กระนั้นจนบัดนี้นายกรัฐมนตรีเพียงใช้บ้านอาถรรพ์เป็นสำนักงานในเวลากลางวันเท่านั้น

(หาก) นายชวน หลีกภัย ยังสงสัยยิ่งนักว่าเหตุใดชื่อบ้านบรรทมสินธุ์จึงกลายมาเป็น “บ้านพิษณุโลก” ถึงขนาดขอพบเจ้าของบ้านเดิมก่อนย้ายสำนักงานเข้าไปอยู่ และถามคำถามนี้กับ พล.อ. เฟื่องเฉลย ซึ่งคำตอบที่ได้รับคือ “ต้องย้อนกลับไปถามจอมพล ป. พิบูลสงคราม” เพราะถ้าถามคนในตระกูล “อนิรุทธเทวา” แล้วคงไม่มีใครอยากเปลี่ยนชื่อบ้านเพราะเป็นชื่อพระราชทาน และนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูลที่คนในบ้านทุกคนนับถือบูชา

บางทีนายกฯ อาจเปลี่ยนชื่อบ้านกลับไปเป็นบ้านบรรทมสินธุ์เช่นเดิมก็ได้ อันอาจเป็นการลบอาถรรพ์ที่เล่าลือกันลง เพราะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากคำว่า “พิษ” มีความหมายอันไม่ดี

ที่จริงคำว่า “พิษณุโลก” แผลงมาจาก “วิษณุโลก” หมายถึงโลกของพระวิษณุ (พระนารายณ์) ก็คือสรวงสวรรค์นั้นเอง

ปราสาท “นครวัด” ในสมัยเขมรแรกตั้งเดิมชื่อ “วิษณุโลก” ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงรับแบบแผนมาตั้งชื่อเมืองสองแควว่า “พิษณุโลก” เพื่อให้เป็นมงคลต่อพระองค์

สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชโอรส – ธิดาหลายพระองค์ จึงทรงขนานพระนามตามชื่อเมืองในพระราชอาณาจักร เช่น กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ฯลฯ

หลังจากนั้นเมื่อมีการตัดถนนก็เอาชื่อเมืองต่างๆ มาตั้งชื่อถนน เช่น ถนนพิษณุโลก ถนนนครสวรรค์ ฯลฯ เมื่อบ้านบรรทมสินธุ์ตั้งอยู่ถนนพิษณุโลก จึงเปลี่ยนชื่อบ้านตามถนนว่า “บ้านพิษณุโลก”…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ฟื้นอดีต ‘บ้านบรรทมสินธุ์’ ลบอาถรรพ์ ‘พิษ’ ณุโลก” เขียนโดย อินทิรา ใจอ่อนน้อม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2536


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 29 มกราคม 2563