Jingle Bells เพลงยอดนิยมในเทศกาลคริสต์มาส ที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคริสต์มาส

เจมส์ ลอร์ด เพียร์พอนต์ โน้ตเพลง Jingle Bells

เพลง Jingle Bells เพลงยอดนิยมใน “เทศกาลคริสต์มาส” ที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคริสต์มาส

“Jingle bells, jingle bells, jingle all the way…” ท่อนแรกของเพลง Jingle Bells คงเป็นที่คุ้นหูของใครหลายคน เมื่อได้ยินเพลงนี้แล้วก็เป็นที่รู้กันโดยอัตโนมัติว่าอยู่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และให้บรรยากาศในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นเพลง Jingle Bells จึงกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ประจำเทศกาลคริสต์มาสไปโดยปริยายทั้งที่ความหมายของเพลงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้เลยแม้แต่น้อย

ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว บทเพลงยอดนิยมในเทศกาลคริสต์มาสอย่างเพลง Jingle Bells ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเพลงประจำเทศกาลคริสต์มาส โดยนักแต่งเพลงชาวนิวอิงแลนด์ชื่อ “เจมส์ ลอร์ด เพียร์พอนต์” (James Lord Pierpont) เมื่อ ค.ศ. 1857

จุดประสงค์แรกในการแต่งเพลงนี้ของเขาคือ เพื่อใช้แสดงในคอนเสิร์ตงานขอบคุณพระเจ้าของโรงเรียนแห่งหนึ่งในซาวันนาห์ อีกทั้งชื่อเพลงก็ไม่ใช่ชื่อที่รับรู้กันอยู่ปัจจุบัน หากแต่มีชื่อเดิมว่า “The One Horse Open Sleigh” ต่อมา เมื่อ ค.ศ. 1859 เจมส์ เพียร์พอนต์นำมาเรียบเรียงและใส่เมโลดี้ท่อนคอรัสใหม่จึงเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น Jingle Bells

เจมส์ ลอร์ด เพียร์พอนต์ (James Lord Pierpont)

แม้ว่าเพลง Jingle Bells จะเป็นเพลงที่นิยมและอาจถือเป็นเพลงประจำเทศกาลคริสต์มาส แต่เนื้อหาของเพลงกลับไม่มีท่อนไหนที่กล่าวถึงเทศกาลคริสต์มาสเลย ในเนื้อร้องกล่าวถึงแต่เพียงความสนุกสนานจากการนั่งรถเลื่อนเทียบม้าลากแล่นไปบนหิมะ และมีเสียงกรุ๊งกริ๊งจากกระดิ่งที่ผูกติดไว้บนหางม้าดังตลอดทาง ดังในเนื้อเพลงและชื่อเพลงที่มีคำว่า “Jingle” แปลว่า เสียงกรุ๊งกริ๊ง และคำว่า “Bells” แปลว่ากระดิ่ง หรือระฆัง

เพลง Jingle Bells จึงเป็นเพลงที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาสเลยแม้แต่น้อย แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่บอกได้ว่าทำไมเพลง “Jingle Bells” ถึงถูกนำมาใช้ในเทศกาลคริสต์มาสจนกลายเป็นเพลงประจำเทศกาลนี้ไปแล้ว

Jingle Bells เป็นเพลงที่โด่งดังทั่วโลก เป็นหนึ่งในหลายเพลงที่บันทึกเสียงซ้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีสถิติว่าเป็นเพลงที่มีผู้นำทำนองไปใส่เนื้อร้องเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดอีกเพลงหนึ่ง

โดยส่วนใหญ่นำไปใส่เนื้อร้องที่ไม่ได้เกี่ยวกับฤดูหนาวเหมือนเพลงต้นฉบับ และไม่ได้เกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาส แต่ใส่ตามใจผู้แต่งเนื้อร้อง ดังปรากฏในเมืองไทยชื่อเพลง “โจงกระเบน” โดย ครูนคร มงคลายน นักแปลงเพลงชื่อดังยุค 50s ตัวอย่างเนื้อร้องท่อนแรกว่า

“โจงกระเบน โจงกระเบน เป็นของเก่านานเน
กาลมานานกาเล โจงกระเบนทุกคน…

โจงกระเบน โจงกระเบน
มองแล้วเด่นงามล้น
กาลนานมา ประชาชน
ทุกคนโจงกระเบน…”

ถึงแม้ว่าเพลง Jingle Bells จะมีเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาสอย่างสิ้นเชิง และจุดประสงค์ของผู้แต่งก็ไม่ได้แต่งเพื่อเทศกาลคริสต์มาส แต่ในปัจจุบันเพลงนี้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลคริสต์มาสไปโดยปริยาย เพราะเมื่อมีเทศกาลคริสต์มาสจะต้องมีเพลงนี้ให้ได้ยินกันอย่างแน่นอน หรือเมื่อได้ยินเพลงนี้คงทำให้จินตนาการถึงเทศกาลคริสต์มาสอย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่สำคัญเพลง “Jingle Bells” ได้กลายเป็นเพลงที่รู้จัก และเป็นที่นิยมกันไปทั่วโลก ถึงขั้นมีการนำทำนองไปใส่เนื้อร้องใหม่ในหลายภาษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :  

ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. เพลงของโลกและของเรา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.

8 Things You May Not Know About “Jingle Bells”. History. Online. Access 23 December 2019. <https://www.history.com/news/8-things-you-may-not-know-about-jingle-bells/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ธันวาคม 2562