นักวิชาการแย้ง พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุฉันอาหารยามวิกาล มิใช่เพราะรู้การทำงานของเซลล์

จอแสดงงานวิจัยของ โยชิโนริ โอสุมิ เบื้องหลังคณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลประจำปี 2016 (AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND)

หลังจากที่ โยชิโนริ โอสุมิ (Yoshinori Ohsumi) นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น สามารถอธิบายกระบวนการทำงานของเซลล์สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “Autophagy” อันเป็นกระบวนการที่เซลล์ใหม่จะกินซากเซลล์เก่า ซึ่งมักเกิดขึ้นในภาวะขาดแคลนอาหาร จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ประจำปีนี้

ต่อมาจึงได้มีผู้นำงานวิจัยดังกล่าวไปอ้างว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงรู้มาตั้งแต่เกือบ 2,600 ก่อนแล้ว เห็นได้จากการที่พระองค์บัญญัติห้ามภิกษุฉันมื้อเย็น แต่นักวิชาการที่ศึกษางานด้านศาสนาพุทธกลับมองว่า การเชื่อมโยงดังกล่าวไม่ถูกต้อง

สุรพศ ทวีศักดิ์ ได้อธิบายบนเฟซบุ๊ก ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะไว้ว่า กรณีที่บัญญัติวินัยห้ามพระฉันอาหารในเวลาวิกาล(ตั้งแต่เที่ยงถึงรุ่งอรุณของวันใหม่) ก็ไม่ได้เกิดจากการรู้ความจริงตามที่ผลวิจัยยืนยันเลย และไม่ใช่เกิดจากความคิดริเริ่มของพุทธะเองด้วยซ้ำ”

“แต่สาเหตุจริงๆ เกิดจากพระไปบิณฑบาตรตอนพลบค่ำ ไปยืนรอขออาหารที่หน้าบ้านของชาวบ้านในเวลาที่พวกเขาเพิ่งกลับจากการทำงานในไร่นามาเหนื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านบ่นรำคาญจนเรื่องทราบถึงพุทธะแล้วจึงเรียกประชุมสงฆ์และบัญญัติวินัยห้ามพระฉันอาหารเวลาวิกาล”

ขณะเดียวกัน มีผู้แย้ง (กนฺตสีโล ภิกขุ) ขึ้นมาว่า ในพระไตรปิฎกมีตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงข้อดีของการฉันอาหารมื้อเดียวเอาไว้ แต่ สุรพศ ก็อธิบายกลับไปว่า ข้อความตอนนั้นมิได้อธิบายว่า “ทำไม” เข้าลักษณะเป็นการอธิบายจากประสบการณ์ส่วนตัว และก็ไม่ใช่สาเหตุของการบัญญัติห้ามพระฉันมื้อเย็นแต่อย่างใด