ค้นคนรัก-ผู้ชิงเก้าอี้พระสวามีควีนอลิซาเบธที่ 1 แล้วทรงเป็น “ราชินีพรหมจรรย์” จริงหรือ?

ภาพวาด สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน วาดขึ้นในวาระฉลองชนะกองทัพเรือสเปน (ในฉากหลัง)

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ทรงได้รับการขนานนามว่า “ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์” (Virgin Queen) เนื่องจากไม่ได้อภิเษกสมรสกับผู้ใด ที่มีข้อมูลกันนั้นย่อมเป็นเรื่องราวจากบันทึกและคำบอกเล่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับชนชั้นสูงทั้งในและต่างแดน แต่ในความจริงแล้ว คำว่า “ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์” อาจเป็นแค่คำเรียกเท่านั้น เมื่อนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ต่างลงความเห็นกันว่า พระองค์ทรงมีประสบการณ์โชกโชนไม่เบา

พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 กับแอนน์ โบลีน ทรงขึ้นครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1558-1603 สืบราชสมบัติต่อจากพระนางเจ้าแมรี่ที่ 1 ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 กับพระนางแคธรีนแห่งอารากอน (สเปน)

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “หย่า-ประหาร-ตาย-รอด” ชะตากรรมพระราชินี 6 พระองค์ในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “แอนน์ โบลีน” ราชินีอังกฤษถูกประหาร

ก่อนหน้ารัชสมัยของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 นักประวัติศาสตร์ก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องฝ่ายในของพระนางเจ้าแมรี่ที่ 1 พระราชินีที่ครองราชย์องค์ก่อนหน้าพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 แล้ว ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการซุบซิบกันต่อมาจากบันทึกและคำบอกเล่าของเจน ดอร์เมอร์ (Jane Dormer) สาวรับใช้คนหนึ่งของพระนางเจ้าแมรี่ที่ 1 เธอถวายการรับใช้ในห้องบรรทมของพระนางเจ้าแมรี่ที่ 1 เคยสวมฉลองพระองค์และเครื่องประดับของพระนางเจ้าแมรี่ที่ 1 และยังเป็นผู้แล่เนื้อให้นายผู้หญิง

ก่อนหน้าพระนางเจ้าแม่รี่ที่ 1 ขึ้นครองราชย์ เจ้าหญิงแมรี่ก็เลือกที่จะใกล้ชิดกับเหล่าสตรี เจน บอกเล่าเอาไว้ว่า “สมาชิกในกลุ่มคนใกล้ชิดขององค์หญิงคือที่สถานที่พักพิงหลบภัยของเหล่าสุภาพสตรีวัยเยาว์ทั้งหลาย…”

ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องต่างมารดาคู่นี้ก็เป็นเรื่องซับซ้อน กล่าวกันว่า เจ้าหญิงแมรี่ ทรงปฏิบัติต่อเจ้าหญิงอลิซาเบธ ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากโทษอลิซาเบธ ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พระมารดาของพระนาง ตกต่ำและเสียชีวิตในภายหลัง

ไม่ว่าข้อเท็จจริงที่ทำให้แอนน์ โบลี พระมารดาของเจ้าหญิงอลิซาเบธถูกประหารจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม (มีข้อสันนิษฐานหลายกระแส บ้างก็ว่าถูกจับและตั้งข้อหาเป็นชู้ มีเพศสัมพันธ์ในสายเลือดเดียวกันจนถูกประหาร แต่บ้างก็แย้งว่า ไม่มีมูลความจริง) ที่ยอมรับกันคือ การเสียชีวิตของแอนน์ โบลีน ส่งผลกระทบต่อเจ้าหญิงอลิซาเบธ

ภาพวาด สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน วาดขึ้นในวาระฉลองชนะกองทัพเรือสเปน (ในฉากหลัง)

ต้นรัชสมัย

เมื่อพระนางขึ้นครองราชย์ ในช่วงเริ่มต้นพระนางแสดงความสนพระทัยต่อชายหนุ่มน้อยมาก พระนางอยู่ใกล้ชิดกับสตรีโสดที่พร้อมจะเต้นรำหรือนอนเป็นเพื่อนพระนางในห้องบรรทม ว่ากันว่าพระนางไม่ทรงโปรดเมื่อคนใกล้ชิดจะไปแต่งงาน ผู้สนใจประวัติศาสตร์บางรายยกตัวอย่างกรณี แคทเธอรีน เกรย์ (Katherine Grey) แอบไปแต่งงาน กับเอ็ดเวิร์ด เซมัวร์ (Edward Seymour) เอิร์ลแห่งเฮิร์ตฟอร์ด อย่างลับๆ เมื่อปี 1560 โดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากราชวงศ์

แคทเธอรีน ปิดเรื่องการแต่งงานหลายเดือน เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องก็รับสั่งให้ลงโทษขังแคทเธอรีนในหอคอยแห่งลอนดอน แต่เรื่องนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับเหตุผลเรื่องที่พระนางไม่ทรงโปรดเมื่อคนใกล้ชิดจะออกห่างเพื่อไปแต่งงาน น่าจะเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดธรรมเนียมราชสำนักและผลกระทบทางนโยบายการเมืองในด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มสกอตติชมากกว่า

ข้อกังวลประการหนึ่งในราชสำนักเกี่ยวกับพระนางคือเรื่องการผลิตทายาท แม้ว่ารายชื่อชายหนุ่มที่เรียงรายคอยเป็นพระสวามีของพระองค์จะไล่เรียงได้ยาวเหยียด มีตั้งแต่เจ้าชายต่างแดนที่ไม่เพียงต้องการแค่คู่รัก แต่ยังมา “จับมือ” สร้างพันธมิตรทางการเมืองที่แข็งแกร่ง ในรายชื่อยังมีแม้แต่ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนพระเทวัน (พี่เขย) ของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ก็ยังเข้าข่ายหวังเป็นตัวเลือกหนึ่งด้วย

แต่หากพูดถึงชนชั้นสูงจากต่างแดนที่เข้าข่ายมีลุ้นอันดับต้นๆ ย่อมเป็นอาร์ชดุ๊ก (เจ้าชาย) ชาร์ลสแห่งออสเตรีย ซึ่งมีเสียงร่ำลือกันว่าทรงรับสั่งให้ชายหนุ่มที่ใกล้ชิดกับเหล่านางในที่ถวายการรับใช้ใกล้ชิดเข้าไปสืบข้อเท็จจริงว่า พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 เอ่ยถึงพระองค์บ้างหรือไม่ นักวิชาการบางรายบอกอีกเสียงว่า บารอน เบราเนอร์ (Baron Breuner) ราชทูตตัดสินใจสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องความรักของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 โดยจ้างชายหนุ่มที่ชื่อฟรองซัวส์ บอร์ธ (Francois Borth) ผู้ใกล้ชิดกับคนรับใช้ของราชินีให้หาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องซุบซิบเกี่ยวกับคนรักของพระนาง (แอนนา วิทล็อก, 2001)

โรเบิร์ต ดัดลีย์ 

ภาพวาด โรเบิร์ต ดัดลีย์ ปี 1564

คนรักที่มีชื่ออยู่ในวงซุบซิบนี้คือลอร์ดโรเบิร์ต ดัดลีย์ (Robert Dudley) ชายหนุ่มที่ใกล้ชิดกับพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 โดยทั้งคู่เกิดในปี 1533 และรู้จักกันมาตั้งแต่ยังเล็ก ในสมัยพระนางเจ้าแมรี่ที่ 1 ครองราชย์ โรเบิร์ต และเจ้าหญิงอลิซาเบธ ยังเคยถูกจองจำในหอคอยแห่งลอนดอนในช่วงเวลาเดียวกันด้วย ประมาณกลางปี 1553 ถึงกลางปี 1554 จากกรณีที่ดัดลีย์ สนับสนุนเลดี้เจน เกรย์ ให้ครองบัลลังก์สืบต่อหลังพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 สวรรคต ส่วนเจ้าหญิงอลิซาเบธถูกส่งไปด้วยข้อหาต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกบฏไวแอท (Wyatt’s rebellion)

โรเบิร์ต ดัดลีย์ (Robert Dudley) เป็นพระสหายในวัยเยาว์ ภายหลังได้เป็นเอิร์ลแห่งเลสเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นคนโปรดที่สุดในรัชสมัยพระนาง เชื่อกันว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่สนิทสนมกันอย่างมาก อิทธิพลที่ดัดลีย์ มีต่อพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ปรากฏชัดเจน บันทึกของทูตสเปนในเดือนเมษายน 1559 เอ่ยถึงดัดลีย์ ตอนหนึ่งว่า “…ลอร์ด โรเบิร์ต กลายเป็นคนโปรดอย่างมากกระทั่งเขาสามารถเลือกทำอะไรก็ได้ในแต่ละกิจการ…”

มีเสียงซุบซิบกระทั่งว่า พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 เสด็จฯ ไปที่ห้องนอนของดัดลีย์ ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน ช่วงปลายปี 1559 รายงานของบารอน เบราเนอร์ ยังระบุว่า “นับตั้งแต่พระนางขึ้นครองราชย์ เขาไม่เคยห่างจากราชสำนัก ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยเข้าไปใหญ่…”

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มปฏิเสธข้อเสนอที่ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่เกินเลยไปกว่า “คนสนิท” แต่ที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือ โรเบิร์ต ดัดลีย์ น่าจะลุ่มหลงพระนางเจ้าอลิซาเบธ อย่างมาก (ทั้งในแง่ตัวพระนางเองและตำแหน่งกษัตริย์) ภรรยาของโรเบิร์ต นามว่าเอมี่ ร็อบสาร์ต (Amy Robsart) หรือเอมี่ ดัดลีย์ ที่ว่ากันว่าเป็นภรรยาจากหญิงสามัญชนที่ภักดีต่อขุนนางหนุ่มก็ต้องถูกทรยศจากสามี อย่างเจ็บช้ำและเสียชีวิตในภายหลังอีกต่างหาก

ข้อติดขัดเรื่องศาสนา

วิลเลียม เซซิล (William Cecil) หัวหน้าที่ปรึกษาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ก็เห็นว่า พระองค์สมควรอภิเษกสมรสกับอาร์ชดุ๊กชาร์ลส มากกว่าโรเบิร์ต ดัดลีย์ ในทุกทางแม้ว่าจะมีข้อติดขัดเรื่องศาสนาอยู่บ้าง กล่าวคือบรรยากาศในสังคมอังกฤษตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 จนถึงพระนางเจ้าแมรีที่ 1 อันกินระยะเวลาสืบเนื่องระหว่างค.ศ. 1547-1558 นโยบายเกี่ยวกับการศาสนาเหวี่ยงดุลอำนาจไปมาระหว่างสถาบันกษัตริย์, นิกายโปรเตสแตนท์ และคาทอลิก ทำให้บรรยากาศทางการเมือง สังคม และศาสนา ในช่วงก่อนที่พระนางเจ้าอลิซาเบธจะขึ้นครองราชย์ แบ่งแยกออกเป็น 2 ฝั่งคือ โรมันคาทอลิก และโปรเตสแตนท์

ภาพวาด วิลเลียม เซซิล ไม่ทราบผู้เขียน คาดว่าอยู่ในช่วงหลัง 1585

ช่วงเวลานั้นศาสนามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนมาก เมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อมจะแตกหักกันได้ทุกเรื่องย่อมส่งผลต่อบรรยากาศการใช้ชีวิตของคนทั่วไป (เซซิล อยู่ฝั่งโปรเตสแตนท์ เสียมากกว่า) ขณะที่พระนางเจ้าอลิซาเบธทรงมีนโยบายสายกลางทางศาสนาตามรอยนโยบายที่พระราชบิดาของพระนางทรงริเริ่มไว้ โดยพยายามผสานเนื้อหาของ 2 นิกายเข้าด้วยกัน

ปัญหาอีกประการที่ทำให้โรเบิร์ต ดัดลีย์ ถูกมองว่าไม่ควรอภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 นั่นคือ ดัดลีย์ แต่งงานแล้วนั่นเอง

ภรรยาของดัดลีย์ คือเอมี่ ร็อบสาร์ท (Amy Robsart) คู่ครองรายนี้เป็นทางเลือกที่สายสกุลดัดลีย์ จัดหามาให้โรเบิร์ต มากกว่า และเหมือนไม่ใช่สายสัมพันธ์ในเชิงความรัก มีข่าวลือว่า สถานะการสมรสของโรเบิร์ต ไม่ใช่ปัญหาในระยะยาว ทูตสเปนยังบันทึกเรื่องข่าวลือที่ซุบซิบกันว่า พระราชนีทรงรอให้เอมี่ ตายเสียก่อนแล้วค่อยอภิเษกสมรสกับโรเบิร์ต ดัดลีย์ แต่นี่ย่อมไม่มีน้ำหนักเท่าใด

แต่ปัญหาจริงกลับเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เอมี่เสียชีวิตในบ้านในสภาพคอหักอยู่ปลายบันไดเสียก่อน ดัดลีย์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่งไปทันที แต่ก็ไม่วายลือกันว่าตามประสาว่า พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ทรงพัวพันกับคดีด้วย หลังจากนั้นมา ดัดลีย์ก็แทบไม่ห่างจากพระเนตรของพระราชินีแห่งอังกฤษ

4 ปีต่อมา ดัดลีย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเอิร์ลแห่งเลสเตอร์ พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ทรงตอบโต้กับทูตสเปน โดยทรงคิดว่าถูกมองอย่างดูถูก และทรงอธิบายการแต่งตั้งโรเบิร์ตว่า มาจากเหตุผลเรื่องทักษะการจัดการที่ยอดเยี่ยมและประโยชน์หลายประการที่โรเบิร์ตก่อไว้

อย่างไรก็ตาม การตายของเอมี่ ทำให้โรเบิร์ต ดัดลีย์ แทบถูกตัดออกจากรายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งพระสวามีของควีนอลิซาเบธที่ 1 ไปโดยปริยาย ลองนึกดูว่า หากอภิเษกสมรสเกิดขึ้นจริง จะไม่ยิ่งครหากันว่าความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของเอมี่ หรอกหรือ

รายนามผู้เข้าข่ายที่เหลือ

รายชื่อต่อมาที่เข้าข่ายมีนามอย่าง เซอร์วิลเลียม พิกเกอร์ริง (Sir William Pickering) ผู้หล่อเหลาและเป็นที่ชื่นชอบของหมู่สตรี เซอร์วิลเลียม มีชื่อให้ลือกันสักพัก ต่อมาก็มีชื่อเซอร์คริสโตเฟอร์ ฮัตตัน (Sir Christopher Hatton) นักกฎหมายหนุ่มหน้าตาดีจากนอร์แธมตัน (Northamton) รายนี้เคยเขียนจดหมายไปถึงพระนางอลิซาเบธที่ 1 ด้วย

รายชื่อไล่เรียงมาจนถึงเอ็ดเวิร์ด เวียร์ (Edward Vere) เอิร์ลแห่งอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้เข้าข่ายอยู่ระยะหนึ่งทีเดียวก่อนที่จะตกเป็นข่าวเรื่องเกี้ยวพาราสีคนใกล้ชิดควีนและเกิดกรณีดราม่าในที่สาธารณะ

แต่ในสถานการณ์นั้น พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ทรงกลับมาสนพระทัยในตัวโรเบิร์ต ดัดลีย์ อีกครั้ง นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งบอกว่า มีแนวโน้มว่าพระองค์มีแนวโน้มจัดงานให้โรเบิร์ต แต่งงานกับแมรี่แห่งสกอต แต่บ้างก็ลือว่าพระนางเองก็ทรงไม่พอพระทัยที่ดัดลีย์ พัวพันกับหญิงอื่น

ปี 1570 ความสัมพันธ์ระหว่างดัดลีย์ กับเลดี้ ฟรานเชส โฮเวิร์ด ยุติลง และเชื่อกันว่าดัดลีย์ สนใจในเลดี้ ดักลาส เชฟฟิลด์ พระญาติของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความงาม และในปี 1578 ดัดลีย์ แต่งงานกับเลตทิส เดเวโรซ์ (Lettice Devereux) แห่งเอสเซ็กซ์ (Essex) ภายหลังจากที่สามีของเลตทิส เสียชีวิตลง (ลือกันอีกว่าดัดลีย์ เป็นผู้ลงมือ)

ดุ๊กแห่งอองฌู

ขณะเดียวกัน ในปีต่อมา พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 (คาดว่าอาจเป็นการโต้ตอบกลับกันก็เป็นได้) เริ่มต้นคลุกคลีกับฟรองซัวส์ ดุ๊กแห่งอองฌู (Anjou) พระอนุชาของกษัตริย์ฝรั่งเศส ซึ่งพระองค์มีพระชนมายุน้อยกว่าพระนางครึ่งหนึ่งทีเดียว เฮนรี่ เป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด ด้วยสาเหตุที่ว่ากันว่าพระองค์ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางศาสนา ความสัมพันธ์จึงมีปัญหา

บรรดาผู้ท้าชิงเป็นพระสวามีของควีนอลิซาเบธที่ 1 ตั้งแต่พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน, พระเจ้าเอริคที่ 14 แห่งสวีเดน จนถึงชาร์ลสแห่งออสเตรีย ไม่มีใครรอดพ้นสำเร็จไปจนด่านสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นชนะพระทัยของพระนางเจ้าอลิซาเบธเอง หรือผ่านความเห็นชอบของขุนนางในราชสำนักพระนาง

ส่วนชายในประเทศเองก็มีรายชื่อที่เกี่ยวพันอาทิ โธมัส เฮนเนจ (Thomas Heneage) สุภาพบุรุษท่านหนึ่งที่มีหน้าที่ในห้องพักส่วนพระองค์ในราชสำนัก, เซอร์คริสโตเฟอร์ ฮัตตัน (Christopher Hatton), วอลเตอร์ วาเลจห์ (Walter Raleigh) ที่ไปพัวพันกับหญิงรับใช้ในห้องบรรทมของควีนอลิซาเบธที่ 1

หรือแม้แต่โรเบิร์ต เดเวโรซ์ (Robert Devereux) เอิร์ลแห่งเอสเสค อีกหนึ่งคนสนิทที่มาแทนโรเบิร์ต ดัดลีย์ ซึ่งพระนางรับสั่งให้เดเวโรซ์ กู้พระราชอำนาจของพระนางในไอร์แลนด์คืนมา หลังจากกองกำลังอังกฤษพ่ายแพ้ชาวไอริช เมื่อปี 1596 ก็ยังตกเป็นข่าวเรื่องความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับพระนาง

ในบรรดาผู้ท้าชิงเหล่านี้ ถึงจะมีทั้งผู้สูงศักดิ์จากต่างแดน หรือหนุ่มรูปงานในดินแดนเข้ามาเป็นตัวเลือก แต่ไม่นานนัก โรเบิร์ต ดัดลีย์ ยังคงเป็นเบอร์หนึ่งอยู่เสมอ พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 อาจทรงพยายามปกปิดความผิดหวัง เมื่อดัดลีย์ แต่งงานกับเลตทิส แล้ว ปีต่อมา พระนางทรงต้อนรับฟรองซัวส์ ดุ๊กแห่งอองฌู ในฐานะผู้เหมาะสมเข้าพิธีอภิเษกสมรสด้วย ระหว่างที่ฟรองซัวส์ ประทับในอังกฤษ พระนางรับสั่งเชิญดัดลีย์ กลับมาในราชสำนักด้วย

ฟรองซัวส์ ดุ๊กแห่งอองฌู เมื่อปี 1572 ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน

หลังโรเบิร์ต ดัดลีย์ แต่งงาน

ช่วงหนึ่งที่ท่านดุ๊กประชวร เชื่อว่าสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ทรงร่วมดูแลความเป็นอยู่ให้ด้วย และถึงกับทรงขนานนามดุ๊กแห่งอองฌูอย่างน่าเอ็นดูว่าเป็น “กบเลี้ยง” ของพระองค์ หลายสัปดาห์ต่อมาอองฌู เสด็จฯ กลับฝรั่งเศส ดูเหมือนว่าการเจรจาผูกความสัมพันธ์ทางความรักไม่ลงเอยและสาธารณชนก็ไม่ค่อยเห็นพ้องด้วยนัก

กระทั่งเดือนตุลาคม 1581 ดุ๊กแห่งอองฌู เสด็จฯ มาที่อังกฤษอีก ในช่วงปลายปีนั้นเอง พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ทรงแสดงท่าทีต่อราชสำนักว่าทรงมีพระทัยจะเลือกอภิเษกสมรสกับฟรองซัวส์ อย่างไรก็ตาม หลังผ่านไปไม่นาน แค่วันต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ทรงเปลี่ยนพระทัยแล้ว แผนการที่ล่มลงครั้งนี้เหมือนกับเป็นความหวังครั้งสุดท้ายที่ดับลง

ปี 1588 โรเบิร์ต ดัดลีย์ ถึงแก่กรรม หลังจากนั้นพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ถึงเริ่มสานความสัมพันธ์กับเลตทิส พระญาติของพระนางอีกครั้ง มีรายงานว่า “ท่านหญิงแห่งเลสเตอร์” เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 และจูบพระหัตถ์พระนาง และพระองค์ก็ทรงโอบกอดพระญาติ

ยิ่งเวลาผ่านไปนานขึ้น มีสัญญาณว่าพระองค์ยิ่งทรงสนพระทัยในข้าราชการชายในราชสำนักมากยิ่งขึ้น ชื่อของโรเบิร์ต เดเวโรซ์ ก็โดดเด่นขึ้นมาในเวลานี้ด้วยเช่นกัน และน่าจะเป็นชื่อของชายในราชสำนักรายสุดท้ายที่ถูกเชื่อมโยงกับสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 เมื่อภารกิจที่เดเวโรซ์ ได้รับมอบหมายตามที่กล่าวข้างต้นได้ผลออกมาค่อนข้างดี

แต่ก็ดูเหมือนว่า การลงทุนงบประมาณ 3 ล้านปอนด์และกำลังแรงงานจำนวนมากจะไม่คุ้มค่ากับผลที่ได้รับมาเมื่อแลกกับดินแดนส่วนน้อยที่ยึดครองได้ กรณีนี้ทำให้โรเบิร์ต ไม่ได้เป็นที่โปรดปรานอีก ภายหลังโรเบิร์ต เดเวโรซ์ ก่อกบฏต่อต้านพระนางในปี 1601 และถูกประหารในที่สุด

ในปี 1603 พระนางสวรรคตโดยที่ไม่ได้อภิเษกสมรส ชาวอังกฤษขนานนามพระองค์ว่า “ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์” (Virgin Queen)

อย่างไรก็ตาม ตามความคิดเห็นของนักวิชาการประวัติศาสตร์อย่างแอนนา วิทล็อก และผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อีกจำนวนไม่น้อย พวกเขาไม่เชื่อว่าพระองค์เป็น “ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์” แต่อย่างใดตามเสียงซุบซิบของชนชั้นนำรอบยุโรปที่ล้วนตั้งคำถามเรื่องนี้ หรือถึงขั้นเสียดสีด้วยคำที่รุนแรงมากกว่านั้นด้วยซ้ำ “ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์” ย่อมเป็นความหมายในแง่การเปรียบเปรยถึงสถานะที่พระนางไม่ได้อภิเษกสมรสมากกว่าความหมายตรงตัว


อ้างอิง:

Cawthorne, Nigel. Sex Lives of the Kings & Queens of England. London : Sevenoaks, 2016

Doran, Susan. Monarchy and Matrimony: The Courtships of Elizabeth I. Routledge. 1996

Whitelock, Anna. Elizabeth’s Bedfellows: An Intimate History of the Queen’s Court. Bloomsbury, 2001

Whitelock, Anna. “Elizabeth I’s love life: was she really a ‘Virgin Queen’?”. History Extra. Online. Published 31 JAN 2019. Access 2 OCT 2019. <https://www.historyextra.com/period/elizabethan/elizabeth-i-love-life-was-she-virgin-queen-robert-dudley-earl-essex/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2562