“อิรัก” แอ่งอารยธรรมโลก (ตอนที่ 1) : ตระเวนทะเลทรายแห่งดินแดนเสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์

ทหารอเมริกันเดินผ่านภาพวาดแหล่งอารยธรรมโบราณบาบิโลนบนกำแพงของพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2004 (Photo by ROSLAN RAHMAN / AFP)

ตระเวนทรายในอิรัก “เขตแล้ง” (Dry Zone) แอ่งอารยธรรมโลก

สงกรานต์ปีนี้ผมไม่ได้ไปสาดน้ำใครที่ไหน เพราะมัวแต่ติดตามข่าวทหารอเมริกันสาดกระสุน ระเบิด และเลือดใส่คนอิรักอย่างเมามัน ตามข่าวที่ดูนั้นเกือบเป็นการสาดแต่ฝ่ายเดียว เพราะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าสักล้านเท่า ไอ้ที่เตรียมหน้าก่งหน้ากากกันก๊าซพิษ หรือกันอาวุธชีวภาพของอิรัก ก็เป็นหมันกันทั้งสิ้น เพราะพวกอิรักคงจะโง่มากหากมีอาวุธที่ว่าจริงแล้วไม่งัดอาวุธชนิดนี้มาใช้เลยสักนิดเดียว หรือว่าพวกอิรักจะไม่มีอาวุธชนิดนี้ก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จวนจะสิ้นเดือนเมษาสงกรานต์เลือดนี้แล้ว พวกอเมริกัน-อังกฤษ ซึ่งเข้าไปอยู่กันเต็มประเทศอิรักแล้วนั้น ก็ยังไม่เจอ “ยาบ้า” เลยสักเม็ดเดียว

รายการนี้อาจมีคนต้องหน้าแตกยับเยินคือบุช (คาวบอย) แบลร์ (คนเลี้ยงแกะ) พ่วงตามมาด้วยรัฐสภาของทั้งสองประเทศที่ให้การรับรองอย่างแข็งขัน รวมทั้งอนุมัติงบประมาณมากมายมหาศาลทุ่มเข้าไปในสงครามคราวนี้ แต่เข้าใจว่า นิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะนั้น มีข้อสรุปที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ไงๆ ไอ้ลูกแกะก็ผิดอยู่ดี หากไม่ใช่ตัวมันเองก็ต้องเป็นความผิดของคนรุ่นพ่อของมัน นอกเหนือจากข่าวในทางการทหาร ทางการเมือง การทูตระหว่างประเทศ สลับกับข่าวการเคลื่อนไหวของดัชนีทางธุรกิจแล้ว มีข่าวหลายข่าวที่น่าสนใจในเชิงสัญลักษณ์อยู่ไม่น้อย ที่เป็นการสรุปหัวใจของสงครามอเมริกา-อังกฤษต่ออิรักคราวนี้ ก็คือภาพของการล้มรูปสำริดขนาดมหึมาของซัดดัม ฮุสเซน ที่อยู่ตรงใจกลางของเมืองแบกแดด

รูปสำริดนี้ตั้งตรงย่านสำคัญของตัวเมืองที่เรียกว่าย่านอัล-มันซูร์ ชาวอิรัก 2-3 คนพยายามใช้ค้อนมือทุบทั้งที่ฐานและที่รูปตัวสำริด ตั้งแต่หกโมงเย็นของวันที่ 9 เมษายน แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งทหารอเมริกันปีนขึ้นไปเอาธงชาติอเมริกันคลุมหน้ารูปสำริด แล้วใช้โซ่ล่ามคอ จากนั้นจึงฉุดลากจนโค่นลงมาถึงพื้น รถที่ใช้ฉุดลากคือรถถังที่ชื่ออับรามส์ หรือเอ็ม วัน อันทรงมหิทธานุภาพ

หกโมงครึ่ง รูปสำริดอันเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิบูชาบุคคล (เช่นเดียวกับที่มีอยู่ในโมร็อกโก ซีเรีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ จีน และที่อื่นๆ) ตลอดเวลาเกือบ 24 ปีของอิรัก (นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2522 ซึ่งซัดดัม ฮุสเซน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี) ก็สิ้นสุดลง ที่ผมรู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สรุปรวบยอดหัวใจการศึกสงครามคราวนี้ ก็เพราะใจตรงกับสื่อต่างๆ ซึ่งพากันรายงานเหตุการณ์ในวันนั้น โดยเฉพาะโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ภาพที่ได้เห็นนี้มีความหมายกับผมในเชิงสัญลักษณ์อยู่หลายประการ คือ

ประการที่หนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในบรรยากาศที่ผู้เผด็จการหายตัวไปจากอิรัก เหมือนละลายกลายเป็นอากาศธาตุ ไม่มีปัญญาแม้จะปกป้องรูปแทนตัว หรือบ้านเรือนทรัพย์สินอันโอ่อ่าของตน ขณะเดียวกันเราเห็นฝูงชนที่ออกมาชุมนุม ออกมากระโดดโลดเต้นตามท้องถนน เพราะดีใจกับการที่ได้ลิ้มรสเสรีภาพเป็นครั้งแรกๆ หลังจากที่ต้องทนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการหลายชุดที่ต่อเนื่องกันมายาวนานตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศในปี พ.ศ. 2475

ประการที่สอง เหตุการณ์นี้เกิดในกรุงแบกแดดซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบอบเก่า และการเมืองการปกครองของประเทศ การยึดแบกแดดได้ก็คือการยึดประเทศอิรักได้

ประการที่สาม อนุสาวรีย์อันนี้ตั้งอยู่ตรงย่านอัล-มันซูร์ ซึ่งขนานนามตามผู้ก่อตั้งเมืองแบกแดดเมื่อ พ.ศ. 1305 (ค.ศ. 762) นามเต็มๆ ของท่านคือ กาหลิบจาฟาร์ อัล-มันซูร์ (Ja’far al-Mansur)

ประการที่สี่ ประชาชนชาวอิรักพยายามโค่นอนุสาวรีย์นี้ด้วยมือเปล่า เครื่องมือที่เห็นอยู่ก็มีแต่ค้อนเล็กเท่านั้น แต่ก็ไม่สำเร็จ ต้องอาศัยธงอเมริกัน ทหารอเมริกัน โซ่ และรถถัง (Abrams) ของอเมริกัน

ชื่อของรถถังนี้เห็นจะตรงกับชื่อของอับราฮัม (Abraham) หรือ อิบรอฮิม (Ibrahim) ในภาษาอารบิค ท่านผู้นี้เป็นบุคคลสำคัญในตำนานของทั้งยิว และมุสลิม เพราะตามเรื่องเล่าในพระคัมภีร์ไบเบิล (ส่วนพันธสัญญาเดิม) นั้น ท่านมีบุตรชื่ออิชมาเอลกับนางฮาการ์เมียทาสชาวอียิปต์ ต่อมาจึงมีบุตรกับเมียแท้ (ชาวยิว) คือนางซาราห์ บุตรผู้นั้นคือไอแซค อิชมาเอลพร้อมแม่ถูกขับให้เดินทางไปในเขตกันดาร ต่อมาเขาคือต้นเผ่าพันธุ์ชาวอาหรับทั้งมวล ในขณะที่ไอแซคสืบต่อกันลงมาเป็นชาวยิว

เรื่องราวที่เหลือก็อย่างที่เราๆ ทราบกันดีว่า ลูกหลานทั้งสองฝ่ายของท่านทะเลาะกัน และถึงกับต่างเอาชีวิตต่อกันมาโดยตลอด/ลูกหลานของไอแซคได้รับการหนุนช่วยจากอเมริกันอยู่เนืองๆ เช่นเดียวกันกับในคราวนี้ ในช่วงก่อนสงกรานต์เล็กน้อยอิรักเกิดการจลาจลกันเป็นอย่างมาก การปล้นสะดมมักเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ในสถานการณ์เช่นว่านี้ สถานที่ทำการของรัฐ บ้านบุคคลสำคัญๆ ในระบอบเก่า ธนาคาร และอื่นๆ เป็นเป้าหมายแรกๆ ของการปล้นสะดม ก่อนที่ขยายไปทุกหนทุกแห่ง

ในบรรดาสถานที่เหล่านี้ พิพิธภัณฑ์ใหญ่ในกรุงแบกแดดที่เรียกกันว่าพิพิธภัณฑ์อิรัก (Iraq Museum) ก็โดนด้วย ภาพทีวีข่าวของวันที่ 16 เมษายน เผยให้เห็นเครื่องปั้นดินดิบ และดินเผาแตกหักกระจัดกระจายกันเกลื่อนพื้น วงล้อเกวียนชนิดทึบ (ยังไม่พัฒนาเป็นซี่และกง) ตกอยู่ในบริเวณข้างเคียงกัน ของเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีค่าในทางความรู้ ปัญญา และจิตวิญญาณอย่างประมาณค่ามิได้ ผมเองไม่โกรธและประณามการกระทำของฝูงชนเหล่านั้น เพราะเราจะต้องเข้าใจสภาวการณ์ทางจิตใจของเขาเหล่านั้นด้วย และคำอธิบายคงจะซับซ้อนเกินกว่าคนภายนอกอย่างเราจะเข้าใจได้ แต่กระนั้นก็ยังอดเสียดายข้าวของเหล่านั้นไม่ได้อยู่ดี

คงจะต้องตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้อีกด้วยว่า ฝ่ายอเมริกา-อังกฤษ ทั้งที่เป็นนักการเมือง และขุนทหารทั้งหลาย ตลอดรวมทั้งสื่อเกือบทุกสำนัก ไม่มีใครพูดถึงแหล่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่กระจายกันอยู่ทั่วทั้งอิรักเลย คำอธิบายของปรากฏการณ์เช่นนี้คงมีอยู่ 2 ประการ คือ หากพูดไปก็จะเป็นการลดความชอบธรรมของสงคราม (ซึ่งมีอยู่น้อยมาก) ให้น้อยลงไปอีก หรือไม่เช่นนั้นคนเหล่านี้ก็คงถือว่าโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านั้นสำคัญน้อยกว่าน้ำมัน และยุทธการการศึกสงคราม เพราะน้ำมันย่อมจะนำผลประโยชน์มาให้อย่างมหาศาล เมื่อการยึดครองประสบความสำเร็จ และยุทธการการรบนอกจากจะแก้ปัญหาคนตกงานแล้วยังจะขาย “สินค้า” ประเภทอาวุธได้อีกในอนาคต

พิพิธภัณฑ์อิรักนี้รอดสงครามอ่าว (2534) มาได้ก็เพราะภัณฑารักษ์ท่านช่วยกันระดมขนของที่เปราะบางแตกหักง่ายนำไปซุกซ่อน/ฝังเอาไว้ ที่ขนไปไม่ได้ก็สร้างผนังปูนแข็งแรงป้องกันการกระแทกอย่างรุนแรง พิพิธภัณฑ์นี้ปิดตัวอยู่อย่างยาวนาน เริ่มมีการจัดแสดงอีกก็เมื่อตอนปลายเดือนเมษายน ปี 2543 เพื่อเฉลิมฉลองวันเกิดของประธานาธิบดี หลังจากที่ผมเดินทางกลับจากอิรักไม่นานนัก เป็นอันว่าอดดูครับ

ภาพแผนที่เมืองโบราณในประเทศอิรัก (ภาพจากหนังสือ Treasures of the Iraq Museum)

ฟื้นความหลังครั้งไปอิรัก

ผมเดินทางไปอิรักเมื่อคราวสงกรานต์ ปี 2543 ด้วยความอนุเคราะห์ยิ่งของกัลยาณมิตรหลายท่าน เราทั้งหลายไปอิรักคงจะด้วยแรงบันดาลใจที่มีต่างๆ กัน สำหรับผมอิรักเกี่ยวพันกับกรุงแบกแดดในนิทานอาหรับราตรี เกี่ยวพันกับชื่อต่างๆ ที่เคยได้ยินอยู่ตลอดตามวาระต่างๆ เช่น ชื่อของเมโสโปเตเมีย แม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรตีส สุเมเรียน อัคคาเดียน บาบิโลเนียนซึ่งมีสวนลอยและหอคอยสูง อีกทั้งยังมีพระเจ้าฮัมมูราบี เป็นต้น

การเดินทางของคณะของผมใช้วิธีการบินจากกรุงเทพฯ ไปยังกรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดน แล้วจึงเดินทางต่อด้วยรถเข้าสู่กรุงแบกแดด ที่ต้องเป็นเช่นนี้ก็เพราะทางตอนบนและล่างของประเทศเป็นเขตห้ามบินผ่านตามมติการลงโทษของยูเอ็น สืบเนื่องจากการที่อิรักใช้กำลังทหารไปยึดคูเวตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ส่วนการเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ ก็เป็นเรื่องยากลำบากเป็นที่สุด

การบินจากกรุงเทพฯ ถึงกรุงอัมมานนั้นใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง แต่การเดินทางด้วยรถจากอัมมานไปที่พรมแดนอิรักระยะทาง 330 กิโลเมตร แล้วต่อเข้าไปยังกรุงแบกแดดระยะทาง 520 กิโลเมตรนั้น ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง เพราะเราต้องเดินทางฝ่าทะเลทรายซีเรียเข้าไป ผมนั้นเห็นเป็นสัจธรรมว่า ชีวิตคนอิรักจะลำบากเพียงไรในยามบ้านเมืองถูกปิดการคมนาคมจากโลกภายนอกตลอดระยะเวลาเกือบ 12 ปีที่ผ่านมา

ผมนึกถึงนวนิยายของยอร์จ ออร์เวลล์ ในเรื่อง “1984” เมื่อเห็นรูปขนาดใหญ่ของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน โดยเฉพาะประโยคที่ยอร์จ ออร์เวลล์ เขียนว่า “บิ๊กบราเธอร์กำลังมองคุณอยู่” รูปวาด รูปถ่าย รูปปั้น รูปหล่อสำริด รูปกระเบื้องโมเสกของซัดดัมนั้น มีอยู่ในทุกที่ ทั้งที่ที่เป็นสาธารณะ โรงแรม ร้านค้า และบ้านเรือน ผมต้องขอสารภาพว่า ตอนแรกๆ ก็รำคาญ ที่ต้องพบเห็น “ท่านประธาน” ในทุกที่ และทุกเวลาของทุกหนทุกแห่ง แต่ตอนหลังๆ ก็ชินไป แถมยังนึกขันว่า รูปท่านประธานนั้นมีอยู่ในอากัปกิริยาที่ต่างๆ กันออกไป นั่ง ยืน เดิน ยกมือ ประสานมือ ฯลฯ ดูแล้วเพลินดีเหมือนกัน

แต่ที่แย่ที่สุดเมื่อจะข้ามพรมแดนเข้าประเทศก็ตรงที่ว่า คนต่างชาติทุกคนจะต้องถูกแพทย์เจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อเอดส์ ที่ว่าแย่เพราะต้องเจ็บตัว และเจ็บใจที่ต้องเสียสตางค์เพื่อการนี้อีกตั้ง 80 เหรียญอเมริกัน (มาตราเงินของชาวอิรักเรียกอิรักดีนาร์ ซึ่งขณะนั้น 1 อเมริกันดอลลาร์มีค่าเท่ากับ 1,250 ดีนาร์) แถมจนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบผลของการตรวจอีกด้วย

ผมค่อนข้างประหลาดใจที่มองไปรอบๆ ตัวเห็นแต่ความแห้งแล้งเวิ้งว้างไปหมด ทำไมหนอพื้นที่แบบนี้จึงจะกลายเป็นที่ตั้งถิ่นฐานแรกๆ ของมนุษย์ และต่อๆ มาจะได้กลายเป็นชุมชนที่พัฒนาขึ้นเป็นเมือง และเป็นบ่อเกิดของอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกได้ แม้จะพอเคยได้ยินทฤษฎี “เขตแล้ง” (Dry Zone) ว่าเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานเก่าแก่ของมนุษย์เกือบในทุกภูมิภาคของโลก แต่ต้องสารภาพครับว่าไม่เคยสำเหนียกเลยจริงๆ

ต่อเมื่อได้เดินทางไปทั้งปักษ์ใต้ และเมืองเหนือของอิรัก แล้วเอาไปต่อภาพกับซีเรีย เลบานอน จอร์แดน ตุรกี และอิหร่าน จึงพอจะเข้าใจขึ้นบ้าง แต่ก็เป็นความเข้าใจแบบงูๆ ปลาๆ นะครับ

อิรักแอ่งอารยธรรมโลก

อิรักปัจจุบันนั้นอยู่ในแผนที่เก่าของกรีกที่เรียกกันว่า เมโสโปเตเมีย เพราะพื้นที่นี้อยู่ระหว่าง 2 แม่น้ำที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ (mesos แปลว่าระหว่าง ในขณะที่ potamos แปลว่าแม่น้ำ) คือแม่น้ำไทกรีส กับยูเฟรตีส แม่น้ำทั้งสองนี้มีกำเนิดจากที่ราบสูงอนาโตเลียในตุรกีปัจจุบัน

ไทกรีส ยาว 2,700 กิโลเมตร ไหลวกจากเหนือเฉียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนบนของลำน้ำเซาะกัดไปตามหุบของเทือกซากรอส (Zagros) ซึ่งกั้นเป็นพรมแดนกับประเทศอิหร่านปัจจุบัน ฉะนั้นต้นน้ำไทกรีสจึงมีกระแสน้ำพัดจัดรุนแรง ชาวสุเมเรียนจึงเรียกแม่น้ำนี้ว่า idigna และชาวอัคคาเดียนเรียกว่า idiglat ซึ่งแปลว่า “ไหลเร็วดุจลูกธนู” อันเป็นที่มาของชื่อไทกรีส ซึ่งเป็นภาษากรีก

ยูเฟรตัส ยาว 1,900 กิโลเมตร ไหลเอื่อยกว่า ผ่านประเทศซีเรียแล้วไหลเกือบขนานกับไทกรีส ซึ่งอยู่ขึ้นไปข้างบน สองแม่น้ำนี้มาบรรจบพบกันที่เมืองอัล คุรนาร์ กลายเป็นแม่น้ำเดียวเรียกว่าชัตต์ อัล-อาหรับ ยาวประมาณ 193 กิโลเมตร แล้วไหลลงอ่าวเปอร์เซียไป ดินแดนอุดมระหว่างสองแม่น้ำนี้ ซึ่งมีระยะห่างกันโดยประมาณ 400 กิโลเมตร จึงเป็นแหล่งอุดมท่ามกลางความแห้งแล้งของทั้งทิศเหนือ ตะวันตก และใต้

แต่ลำพังน้ำกับตะกอนดินยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายการกำเนิดเมืองและอารยธรรมอันรุ่งเรืองของแถบนี้ได้ เพราะจริงๆ แล้วการที่ฤดูน้ำหลากของ 2 แม่น้ำนี้ (อันเกิดจากการละลายตัวของหิมะที่ต้นน้ำ) ในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนั้น เป็นระยะเวลาที่เลยระยะเวลาแห่งการเพาะปลูกไปแล้ว (เทียบกับแม่น้ำไนล์ซึ่งหลากในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ฉะนั้น ตะกอนดินอันอุดมจึงนอนรออยู่ในแปลงดินสำหรับการเพาะปลูกที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของปีต่อไป) ฉะนั้น การพัฒนาคู คลอง เหมือง ฝาย ทำนบ เพื่อป้องกันอำนาจการทำลายล้างของกระแสน้ำ และเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูการเพาะปลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแถบนี้เป็นครั้งแรกๆ ของโลกด้วย (บริเวณเมืองอูรุกทางตอนใต้ของอิรัก 4,300-3,100 ปีก่อนคริสตกาล)

อักษรรูปลิ่มบันทึกเหตุการณ์ในรัชสมัยของอาดัดนิราริที่ 1, 1,305-1,274 ก่อนคริสตกาล (ภาพจากหนังสือ Treasures of the Iraq Museum)

ความจริงการเพาะปลูกและการเพาะเลี้ยงสัตว์เริ่มในบริเวณนี้ (เช่นเดียวกับในจีนและลุ่มน้ำสินธุ) เมื่อเกือบหมื่นปีมาแล้ว พืชที่สำคัญคือ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ นึกๆ แล้วก็น่าอัศจรรย์ใจนะครับ ที่ข้าว ๒ พันธุ์นี้ก็คือหญ้าป่า ซึ่งมีอยู่อย่างดกดื่นบริเวณ “เสี้ยวอันอุดม” (The Fertile Crescent) ซึ่งหมายถึงดินแดนรูปเสี้ยวจันทร์ ที่ครอบคลุมตั้งแต่เทือกเขาซากรอส (ทางทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนเหนือของอิรัก พาดผ่านทิศตะวันออกของซีเรีย แล้ววกลงใต้ครอบคลุมถึงอิสราเอลและจอร์แดน) บรรพชนแถบนี้ท่านเลือกหญ้า 2 พันธุ์ที่เรียกว่าไอน์คอร์น (einkorn) เอมเมอร์คอร์น (emmerkorn) มาพัฒนาจนตัวเมล็ดใหญ่ มีแป้งเยอะ และมีก้านคอที่หนาพอจะรับน้ำหนักรวงได้ จนกลายมาเป็นแป้งหลักที่ใช้ทำอาหารนานาชนิดของคนในโลกตะวันตก ส่วนบาร์เลย์นั้นนอกจากจะใช้เป็นแป้งบริโภคแล้ว ยังเอามาหมักทำเบียร์ได้อีกด้วย (เช่นกรณีของอียิปต์โบราณ)

ทั้งการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ (แพะ) ได้กลายมาเป็นอาหารที่มนุษย์ผลิตขึ้นเองได้ ชีวิตที่ต้องเฝ้าดูแลการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ ทำให้เกิดความจำเป็นอย่างอื่นๆ ตามมา เช่น การตั้งบ้านเรือน การจัดการระบบแรงงาน การสร้างกฎเกณฑ์ กติกา ระเบียบ และกฎหมาย การสร้างสถาบันต่างๆ เช่น ระบบความเชื่อ ศาสนา การเมืองและการปกครอง ตลอดจนอื่นๆ อีกสารพัน

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการบันทึกและการขีดเขียน เพราะจำนวนของผลิตผลมีความสัมพันธ์โดยตรงกับส่วยสาอากร และภาษี ซึ่งวัดและผู้ปกครองจะใช้จ่ายเพื่อควบคุมสังคมทั้งระบบ อักขระรุ่นแรกๆ ที่ใช้ในการขีดเขียนเรียกกันว่าคูนิฟอร์ม หรืออักษรลิ่ม (cunei แปลว่าลิ่ม) เกิดจากการขีด หรือกดรอยของวัสดุแท่งยาวที่มีด้านปลายตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ลงบนก้อนหรือแผ่นดินเหนียวเปียก รอยขีดหรือกดจึงลึกลงไปบนผิวดิน เป็นรอยสามเหลี่ยมรูปลิ่ม

อักขระชนิดนี้คิดค้นขึ้นโดยพวกสุเมเรียน เมื่อประมาณ 7 พันปีที่แล้ว แล้วผ่านไปให้พวกอัคคาเดียน บาบิโลเนียน จนถึงพวกเซมิติคได้พัฒนาเป็นระบบเสียงมาตรฐานขึ้น แล้วส่งทอดต่อให้ชนชาตินักค้าขาย คือฟินิเชีย ซึ่งจะทำให้อักขระนี้แพร่หลายไปทั่วชายขอบของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะพวกกรีก ภาษาของกรีกจะกลายมาเป็นแม่แบบของภาษาที่สำคัญที่สุดตระกูลหนึ่งของยุโรปต่อมา (นักภาษาศาสตร์บางท่าน เช่น John Heise เชื่อว่าภาษาสุเมเรียนอาจเป็นญาติห่างๆ กับภาษาฑราวิด จนพวกอินโด-อารยันเข้ามาขับไล่พวกฑราวิดลงทางใต้ของอินเดียเมื่อประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว ปัจจุบันภาษาพูดของชาวทมิฬ ซึ่งเป็นลูกหลานของฑราวิดทางภาคใต้ของอินเดีย ก็ยังมีร่องรอยเช่นว่านั้น)

ผมไม่มีความรู้อย่างนักภาษาศาสตร์เลย แต่กระนั้นก็มีความนิยมชมชื่นทุกครั้งที่ได้ฟังคนสุรินทร์ หรือบุรีรัมย์พูดทั้งภาษาไทยกลาง ไทยอีสาน และเขมรกลับไปกลับมาได้ในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับที่คนปักษ์ใต้พูดทั้งภาษากลาง ภาษายาวี ซึ่งเป็นญาติกับภาษามาเลย์ ไปพร้อมๆ กัน หรือเช่นเดียวกับพระนานาชาติที่ท่านเดินทางไปชุมนุมวันวิสาขบูชา เพื่อบูชาพระธาตุโบโรบูดูร์ (Borobudur) ที่อินโดนีเซียนั้น ท่านก็พูดภาษาเดียวกันเป็นภาษาบาลี เข้าใจว่าภาษาในโลกคงจะเป็นญาติกันในทางใดทางหนึ่งที่ผมไม่รู้คำตอบกระมังครับ

เมโสโปเตเมียอารยธรรม 6,000 ปี

ในแง่ของประวัติศาสตร์แล้ว ประเทศอิรักเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ 6,000 กว่าปีของเมโสโปเตเมีย โดย 4,000 ปีแรกเกี่ยวพันกับพวกสุเมเรียน อัคคาเดียน บาบิโลเนียน อัสสิเรียน ปาณีเทียน และกรีกตามลำดับของเวลา

ศิลาจารึกสมัยอัคคาเดียน เป็นรูปพระเจ้านานาม-สิน (2,255-2,218 ก่อนคริสตกาล) ปราบศัตรูเบื้องล่าง พระองค์ถือคันศรและลูกธนูสวมหมวกประดับเขา กำลังเดินขึ้นไปหาพระเจ้า (ภาพจากหนังสือ Timelines of the Ancient World)

ความเป็นอาหรับเป็นมุสลิมนั้น มาเกี่ยวพันกับอิรักเมื่อ 1,300 กว่าปีที่แล้ว ต่อจากนั้นก็ถูกพวกมองโกลเข้ามาปล้นสะดมเมื่อ พ.ศ. 1801 โดยฮูลากุ ลูกหลานของเจงกิสข่าน และอีกครั้งโดยทาเมอร์เลนข่าน (ขาเป๋) เมื่อ พ.ศ. 1944 (ฆ่าคนนับหมื่นๆ และเผาเมืองนับร้อยๆ เมือง) จากนั้นก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมาน (เติร์ก) เมื่อ พ.ศ. 2078 ภายใต้การนำของ “กษัตริย์สุไลมาน” (หรือสุลต่าน Suleyman the Magnificient) มาจนกระทั่งสิ้นอาณาจักรออตโตมานตอนสงครามโลกครั้งที่ 1

ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้จึงทับซ้อนกันของอารยธรรมที่รุ่งเรืองที่สุดของโลกในสมัยโบราณ และความเจริญโอ่อ่ามั่งคั่งของโลกอาหรับตลอดสมัยกลาง ถ้านับจากกรุงแบกแดดลงไปทางใต้ จะมีเมืองประวัติศาสตร์ทั้งเก่า และเก่ามากหลายเมืองด้วยกัน เช่น ซเตซิฟอน (30 กิโลเมตร บนแม่น้ำสายเดียวกัน คือไทกรีส) คาร์บาลา และบาบิโลน (120 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนแม่น้ำยูเฟรตีส) นาจาฟ (150 กิโลเมตร บนแม่น้ำยูเฟรตีส) นาสิริยาห์ (303 กิโลเมตร) เมืองอูร์อยู่ฝั่งตรงข้ามกันบนแม่น้ำยูเฟรตีส เมื่อลงไปสู่เกือบปลายน้ำก็จะถึงเมืองบัสราฮ์

แต่หากเดินทางไปในทิศตรงกันข้าม คือขึ้นเหนือไป จะถึงเมืองสมาร์รา (120 กิโลเมตรบนแม่น้ำไทกรีส) กีรกุก และชามเชมาล ตั้งอยู่บนกิ่งของแม่น้ำไทกรีสเช่นเดียวกับเมืองฮัตรา ทั้งสามเมืองนี้ห่างประมาณ 230 กิโลเมตรจากแบกแดด ขึ้นเหนือต่อไปอีกก็จะถึงเมืองโมซูล (280 กิโลเมตร) โดยมีนิมรุด และนิเนเวห์เป็นบริวารห่างกัน 20-40 กิโลเมตร

ที่ผมระบุชื่อเมืองต่างๆ ทั้งเหนือและใต้ของอิรัก ก็เพราะเชื่อว่าตลอดระยะเวลา 3 อาทิตย์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงกลางเมษายนที่ผ่านมา ชื่อต่างๆ เหล่านี้คงจะต้องผ่านตาของท่านผู้อ่านอยู่บ้างไม่มากก็น้อย อีกทั้งหากดูจากระยะทางที่เอาแบกแดดเป็นศูนย์กลาง เราคงจะเห็นขนาดของอิรักชัดเจนขึ้น ว่ามีระยะทางโดยรอบทิศประมาณ 450 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย ยกเว้นทิศตะวันออกที่จรดกับอิหร่านนั้นห่างกันแค่ 150 กิโลเมตรเท่านั้น และคงจะรับรู้ได้นะครับว่าระเบิดมหาประลัยที่อเมริกาและอังกฤษขนเอาไปถล่มใส่อิรัก ทั้งที่เป็นขีปนาวุธระยะไกล (มาก) ทั้งที่เป็นลูกๆ ขนไปทางเครื่องบินเป็นพันๆ เที่ยว และทั้งที่ยิงโดยปืนครกขนาดเล็ก ปืนกลนานาชนิดประจำรถถัง และที่พลทหารราบแบกขนไป ทั้งหมดนี้จะสร้างความน่าสะพรึงกลัวให้แก่ชาวอิรัก ลูกเด็กเล็กแดงและชาวบ้านมากน้อยเพียงใด และแรงสั่นสะเทือนเหล่านี้ย่อมกร่อนทำลายแหล่งโบราณสถานให้เข้าขั้นวิกฤตอันตรายสักเพียงไหน

เป็นที่น่าเสียดายที่การเดินทางคราวนี้ผมไปไม่ถึงเมืองบัสราฮ์ซึ่งอยู่เขตปลายของแม่น้ำชัตต์ อัล-อาหรับ การที่ทำเลที่ตั้งของเมืองอยู่ใกล้กับทะเล (อ่าวเปอร์เซีย) เป็นเหตุผลให้เมืองนี้มีความสำคัญก็ในช่วงที่การค้าทางทะเลเฟื่องฟูแล้ว คือเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสมัยที่ศาสนาอิสลามเข้ามาสู่อิรักแล้ว ความเจริญมั่งคั่งของบัสราฮ์นั้น ควบคู่ไปกับความรุ่งเรืองของนครแบกแดด พ่อค้าวาณิชคงจะได้รวบรวมสินค้านานาชนิดที่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน บรรทุกอูฐ ลา ม้าต่าง เกาะกันมาเป็นกองคาราวาน เมื่อมาถึงลำน้ำก็คงจะพากันล่องเรือเรื่อยลงมาจนถึงทะเล แล้วขนถ่ายสินค้าลงเรือใหญ่เพื่อที่จะได้ออกสู่ทะเลกว้าง ถ้าไปทางตะวันตกประเทศ เยเมน และกรุงไคโร น่าจะเป็นสถานที่หลัก แต่หากจะหันไปทางทิศตะวันออก เปอร์เซียและอินเดียคงจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญทางการค้า

หลักฐานที่อ้างอิงถึงได้อย่างหนึ่งก็คือชื่อสถานที่ที่ปรากฏในนิทานอาหรับราตรี (Arabian Nights) หรือเรียกให้เต็มยศว่า นิทานหนึ่งพันกับหนึ่งราตรี (Tales from the Thousand and One Nights) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนิทานที่มีกำเนิดจากการร้อยเรียงเรื่องเล่าจากอียิปต์ เยเมน และอินเดียเมื่อ พ.ศ. 1393

ฉะนั้น กะลาสีเรือซินแบด ชาวเมืองแบกแดดที่เรารู้จักกันดี จึง “…ข้าได้ซื้อสินค้าจำนวนมาก ตระเตรียมสำหรับการเดินทางที่ยาวไกล ข้ากับเพื่อนชาวพ่อค้าเกาะกุมกันเป็นหมู่เหล่า ลงเรือล่อง (แม่น้ำไทกรีส) ไปจนถึงเมืองบัสราฮ์ จากนั้นจึงออกทะเล รอนแรมกันไปในห้วงน้ำใหญ่ วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า จากเกาะหนึ่งไปอีกเกาะหนึ่ง จากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง เราทั้งซื้อทั้งขาย และแลกเปลี่ยนสินค้าประดามีทุกที่ที่เรือทอดสมอ…”

และเมื่อตอนขากลับก็จะ “ฉะนั้นข้าจึงตัดสินใจที่จะกลับยังบ้านเกิดเมืองนอน เราขายบ้านและทรัพย์ศฤงคาร จัดจ้างพาหนะ เรือสำเภาบรรทุกบรรดาสินค้าอันมากค่า ด้วยความหนุนช่วยของกระแสลม เราเดินทางกันหลายวันหลายคืน จนการเดินทางอันยาวนานสิ้นสุดลงเราก็ถึงเมืองบัสราฮ์ แล้วจึงต่อมายังกรุงแบกแดด, นครแห่งความสันติ และผาสุข…” (Tales from the Thousand and One Nights แปลโดย N.J. Dawood, 1973 หน้า 115 และ 161)

(บน) เครื่องประดับศีรษะและสร้องของสตรี ทำจากทองและอัญมณีขุดพบที่สุสานพระมหากษัตริย์เมืองอูร์, 2,450 ปี ก่อนคริสตกาล (ล่าง) เครื่องประดับศีรษะทำจากทอง น้ำหนักกว่า 1 กิโลกรัม พบที่หลุมพระศพที่เมืองอูร์ อาจมีอายุ 2,450 ปี ก่อนคริสตกาล (ภาพจาก หนังสือ Treasured of the Iraq Museum)

บัสราฮ์ เป็นเมืองแรกๆ ที่ถูกอังกฤษยึดได้ในสงกรานต์เลือดคราวนี้ ในขณะที่ปิดล้อมหลังการระดมยิงอย่างหนักจนเมืองขาดน้ำ ขาดอาหาร พวกอังกฤษยังประหลาดใจ ที่ชาวเมืองไม่ได้ออกมาต้อนรับในฐานะเป็นผู้ปลดปล่อย (จากเผด็จการ) ถัดจากเมืองบัสราฮ์ขึ้นไปตามลำน้ำยูเฟรตีส ก็ถึงเมืองอูร์ซึ่งอยู่ถัดกับเมืองนัสสิริยาฮ์ เมืองคู่กับบัสราฮ์ซึ่งเป็นฐานกำลังของพวกถือนิกายชิอะห์ และเคยถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากระบอบซัดดัม เมื่อ พ.ศ. 2534 ด้วยเหตุผลที่ว่าชอบกระด้างกระเดื่องต่อระบอบซัดดัมซึ่งถือสุหนี่

เมืองอูร์ เป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งในยุคสมัยสุเมเรียนตอนต้น (3,000-2,350 ปีก่อนคริสตกาล) ในสมัยนั้นมีเมืองสำคัญต่างยุคต่างสมัยกันอยู่หลายเมือง ได้แก่ เมืองสิปปูร์ ชูรุปปัก กิช อูรุก อูร์ นิปปูร์ เกอร์สุ ลากาช กาฟาเจ เตล-อาจะรัย และมารี

เราได้พบร่องรอยของโบราณสถานจำนวนมาก ซึ่งยืนยันให้เห็นพัฒนาการของเมือง และระบบต่างๆ ของสังคม ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ระบบการขีดเขียนแบบอักษรลิ่ม ซึ่งประกอบกันด้วยภาพ อักขรภาพ และสัญลักษณ์จำนวนมากมายถึง 600 ชนิด กลายเป็นข้อความที่ระบุถึงนามและเรื่องราวของกษัตริย์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของกษัตริย์กิลกาเมช เจ้าเมืองอูร์ (4,700 ปีที่แล้ว) ซึ่งเรื่องราวของท่านกลายเป็นตำนานต่อมาอีกยาวนาน คล้ายกับตำนานของท้าวแสนปม ตำนานของพระร่วง เรื่องเล่าที่ว่าด้วยความโศกเศร้าของกิลกาเมชอันเนื่องจากการตายของเอนกิดูเพื่อนรัก ทำให้ท่านเดินทางไปแสวงหาความเป็นอมตะ (แบบเดียวกันกับตำนานของภีมะ ในมหาภารตยุทธ์ เวอร์ชั่นอินโดนีเซีย) ต้องผจญกับน้ำท่วมโลก และได้พบกับชายผู้ชาญฉลาดซึ่งรอดตายมาได้เพราะสร้างเรือขนาดใหญ่ (แบบเดียวกับโนอาห์)

สุเมเรียนยุคต้นจบลงโดยการรุกรานของพวกอัคคาเดียน ซึ่งเป็นพวกเซเมติกมาจากแถบซาอุดีอาระเบียปัจจุบัน ยุคสมัยของอัคคาเดียนยุคต้นนั้นยืดยาวถึง 191 ปี มีการรับเอาศิลปะวิทยาการต่างๆ ของสุเมเรียนมาพัฒนาต่อ แต่ย้ายศูนย์การปกครองมาอยู่ที่เมืองอัคคาด (เข้าใจว่าอาจอยู่ระหว่างเมืองบาบิโลนกับสิปปูร์) กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของอัคคาเดียนคือ ซาร์กอน และนาราม-ซิน ท่านผู้อ่านลองฟังประวัติของกษัตริย์ซาร์กอนดูนะครับ ว่าพ้องกับเรื่องของท่านผู้ใด

“มารดาของท่านนั้นเป็นสตรีของวิหาร (เป็นพระ? เป็นข้าวัด? และอาจต้องถือพรหมจรรย์) ซึ่งตั้งท้อง และแอบคลอดท่านโดยไม่ให้ใครล่วงรู้ ท่านถูกจับใส่ตะกร้าลอยไปในแม่น้ำยูเฟรตีส ตะกร้าลอยน้ำไปจนชายคนสวนเจอแล้วเก็บไปเลี้ยง เติบใหญ่มาท่านได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยเทพีอิชตาร์ ต่อมาได้รับราชการในกษัตริย์อูร์-ซาบาบาแห่งเมืองกิช ท้ายสุดท่านได้ยึดอำนาจแล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์”

พระเยซู โมเสส ท้าวแสนปม หรือพระยาพาน?

ยุคอัคคาเดียนจะถูกคั่นด้วยยุคสุเมเรียนใหม่ ๖ ปี แล้วก้าวมาสู่ยุคบาบิโลเนียน ๔๐๐ ปี ซึ่งย้ายเมืองหลวงอยู่ ๔ ครั้ง จนมาปักหลักอยู่ที่เมืองบาบิลอนตลอด ๓๐๐ ปี ซึ่งเราจะเรียกยุคนี้ว่าบาบิโลเนียน มีกษัตริย์ที่สำคัญที่สุดพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าฮัมมูราบี ซึ่งจะได้กล่าวถึงท่านเมื่อเราเดินทางไปถึงเมืองบาบิโลน นักท่องเที่ยวอย่างพวกผมมีระยะเวลาเพียงสั้นๆ และสังเกตการณ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างฉาบฉวย ผมจึงได้เห็นเพียงซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน และซากของวิหารทรงพีรามิดที่เราเรียกกันว่า ซิกกูแรต

ผมไม่ได้เห็นระบบคันคูคลองส่งน้ำ ซึ่งเป็นระบบชลประทานก้าวหน้าที่คอยควบคุมน้ำให้มีมากพอที่จะทำการเพาะปลูกในยามน้ำน้อย และเหมือง ฝาย เขื่อนกั้นน้ำที่หลากจนเกินเหตุในฤดูน้ำมาก ซึ่งในบางปีน้ำได้หลากมาท่วมท้นจนเกิดความเสียหายแก่ไร่นา ทรัพย์สิน และชีวิตของผู้คน อย่างที่กล่าวถึงน้ำท่วมโลกในตำนานกิลกาเมช อาลักษณ์คงจะได้บันทึกขีดเขียนเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ผ่านประสบการณ์ในยุคสมัยของตนไปสู่การเรียนรู้ของชนรุ่นหลัง

การบันทึกระบุถึงผลผลิตซึ่งจำเป็นสำหรับพระและผู้ปกครอง ผู้คอยควบคุมภาษีอากรที่จะเป็นทรัพยากรมาใช้หล่อเลี้ยงระบบสังคม เช่น การขุดคลอง ทำนุบำรุงระบบชลประทาน การสร้างกำแพงเมือง การสร้างวิหาร และค่าใช้จ่ายทางการทหาร ระบบคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณจำนวนตัวเลขมหึมาเหล่านี้ พัฒนาระบบตัวเลขหลัก 6 ซึ่งจะสัมพันธ์กับการแบ่งเวลา 360 วัน 60 นาที และ 60 วินาที การคำนวณจำนวนองศาของเส้นรอบวง โดยการเอา 6 คูณกับ 60 ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็น 360 กลายมาเป็นฐานในทางเรขาคณิต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการก่อสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ

ซากส่วนฐานบริเวณโดยรอบของแหล่งโบราณสถานแห่งเมืองอูร์มีหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ “บ้านของอับราฮัม” อาคารที่ผมเห็นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่แบ่งซอยเป็นห้องขนาดเล็กๆ ประมาณ 3 x 4 เมตร แต่ละห้องต่อเนื่องกันด้วยซุ้มประตูยอดโค้งแบบที่ฝรั่งมักเรียกกันว่าโรมันอาร์ช เพราะคิดกันว่าพวกโรมันเป็นพวกแรกที่รู้จักการใช้โค้งมาเป็นเครื่องรับน้ำหนักของเครื่องบน อาคารมีความสูงสองชั้นซึ่งชั้นบนกับชั้นล่างอาจเดินถึงกันด้วยบันได 4 ขั้น แล้วต่ออีก 4 ขั้นขึ้นไปชั้นบนสุด จากการที่แต่ละห้องไม่มีทางเดินร่วมจึงดูเหมือนว่าการเข้า “บ้าน” ห้องแต่ละห้องนั้นจะต้องเดินจากข้างบนลงไป ซึ่งบ้านแบบนี้เป็นพัฒนาการรุ่นแรกๆ ของบ้านที่เราพบทั้งในอิรัก และที่เมืองชาตาล ฮูยุค (ในตุรกี) ซึ่งร่วมสมัยกัน ที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่งก็คือ มีการเจาะช่องระบายน้ำลงตรงกลางพื้นห้อง เพื่อระบายน้ำส่วนที่ไม่ต้องการลงสู่ท่อระบายน้ำใหญ่ที่วางแนวไว้ใต้ฐานบ้านอีกทีหนึ่ง เป็นอันว่าในแต่ละบ้านมีระบบท่อระบายน้ำอีกด้วย

ชาวบ้านเรียก “บ้าน” หลังนี้ว่าบ้านของอับราฮัม เพราะในตำนาน เช่นพระคัมภีร์ไบเบิล (ส่วนพันธสัญญาเดิม) ระบุว่าอับราฮัมท่านเป็นชาวเมืองอูร์นี่เอง ในเมืองอูร์นี้เรายังได้เห็นซิกกูแรตอันเป็นทั้งวิหารบูชาเทพเจ้า เช่น อนู (เทพสูงสุดแห่งสรวงสวรรค์) เอนลิล (เทพแห่งน้ำ) อีอา (เทพผู้สร้างมนุษย์) และอินานนา เทพีแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร และความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นสถานที่ที่บรรดาพระใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ อีกด้วย

ซิกกูแรตแห่งเมืองอูร์ถูกลมและพายุทรายกัดกร่อนไปจนถึงชั้นฐาน แต่กระนั้น (หลังการบูรณะแล้ว) ก็ยังมีความสูงถึงประมาณเกือบ 20 เมตร ซึ่งเข้าใจว่าความสูงเมื่อขณะยังดีอยู่น่าจะสูงขึ้นไปอีกถึงประมาณเท่าตัว อิฐดิบตากแห้ง (ซึ่งเป็นวัสดุพื้นฐานใช้กันทั่วไปในเขตแล้งฝน และเขตที่ขาดไม้ใหญ่มาทำเป็นเชื้อฟืน) มักมีอักขระคูนิฟอร์มจารึกข้อความสั้นๆ ไว้เพื่อบอกความเป็นมาและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิหารเทพเจ้า กิ่งไม้ขนาดเล็ก หรือลำต้นกกอ้อมักจะถูกใช้เป็นวัสดุยึดเหนี่ยวและรับแรงสั่นสะเทือนภายในงานก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งซิกกูแรตด้วย วิธีการนี้เป็นแบบเดียวกับที่ชาวบ้านของเราใช้ไม้ไผ่แทนเหล็กเส้นในการเทคอนกรีตนั่นเอง การก่อสร้างซิกกูแรตนี้ยังได้ใช้สารประเภทบิทูเมนที่ได้จากน้ำมันดิบเป็นตัวประสานสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ด้วย

ภาพจำลองซิกกูแรตแห่งเมืองอูร์ (ภาพจาก wikipedia)

จากเมืองอูร์ขึ้นไปตามแม่น้ำยูเฟรตีสอีกประมาณ 100 กว่ากิโลเมตรก็จะถึงเมืองนาจาฟ และถัดจากนาจาฟขึ้นไปอีก 60 กิโลเมตรก็จะถึงเมืองคาร์บาลา ทั้งสองเมืองนี้เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามิกนิกายชิอะห์ เพราะมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของศาสนาอิสลาม และของนิกายชิอะห์ คือท่านฮุสเซน

นาจาฟมีสุเหร่างามที่สร้างโดยกาหลิบฮารูน อัล-ราชิด เมื่อ พ.ศ. 1334 เพื่อเป็นทั้งสุสานและสุเหร่าของอาลี บุตรเขยของพระมะหะหมัด พวกนิกายชิอะห์ถือเอาว่าอาลีเป็นอิหม่ามองค์ที่ 1 แล้วนับต่อไปอีก 12 องค์ องค์สุดท้ายท่านชื่อมะหะหมัดเช่นกัน ท่านหายไปในถ้ำที่เมืองสมาร์รา และเชื่อกันว่าวันหนึ่งท่านจะได้กลับมาอีก เพื่อฟื้นฟูพระศาสนาให้เบิกบานเช่นเดิม

ตัวสุเหร่ามีหอบัง 2 หออยู่ 2 ข้างของโดมกลาง ซึ่งล้วนประดับด้วยทองลายดุนนูน งานประดับประดากระเบื้องเคลือบสีนั้นงดงามเหลือหลาย งานศิลปะแบบมุสลิมนั้นเป็นศิลปะแบบประดับแต่งเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา คลี่ดอก ออกใบงดงาม ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างที่เราทราบกันดีว่า ชนชาวมุสลิมท่านถือเคร่งเรื่องการวาดรูป ไม่ว่ารูปคนและสัตว์ทั้งปวงท่านไม่ทำกัน เพราะจะเป็นการอวดอำนาจแข่งกับพระเป็นเจ้า ฉะนั้นลวดลายศิลปะของมุสลิมจึงเป็นศิลปะบริสุทธิ์ที่ประกอบด้วยก้านใบเครือเถาของพฤกษานานาพันธุ์มีการให้ความสำคัญกับการจัดวางรูปแบบบนพื้นที่ โดยอาศัยฐานความรู้ทางเรขาคณิต และการคำนวณอย่างเคร่งครัด อีกทั้งอาศัยสีสันต่างๆ อันสวยงามเจิดจ้า ประดับประดาให้เกิดความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง

งานลวดลายต่างๆ นั้น แท้จริงเป็นงานประกอบกันของกระเบื้องเคลือบสีชิ้นเล็กๆ จำนวนมาก ก้านใบ กลีบดอก ถูกหุงเป็นกระเบื้องแต่ละสีชิ้นเล็กๆ แล้วเอามาประกอบกันเป็นแผ่นกระเบื้องขนาดฝ่ามือ แล้วจึงเอากระเบื้องขนาดฝ่ามือนี้กรุประกอบขึ้นเป็นฝาผนังทั้งฝา โดยลายจะต้องต่อกันได้สนิทดี สมัยนี้บางทีการบูรณะงานลายกระเบื้องแบบนี้ก็อาจใช้กระเบื้องเขียนลายหุงสำเร็จกรุไปเลยทีเดียว เพราะประหยัดเงินทองและเวลา แต่พูดกันถึงความงดงามแล้วก็เทียบกันไม่ได้เลย ส่วนที่เมืองคาร์บาลานั้น มีสุเหร่าและสุสานทองของท่านฮุสเซน บุตรของอาลี หลานของพระมะหะหมัด

วีรกรรมของท่านฮุสเซนนี้ ผู้นับถือนิกายชิอะห์ถือว่าสำคัญมากๆ ท่านนี้มีคนเพียง 200 คนต่อสู้กับการปิดล้อมของ “ศัตรู” 4,000 คนที่มาจากดามัสคัส ในวันที่ 10 แห่งเดือนมุหะหร่ำฮิจเราะห์ที่ 61 (10 ตุลาคม พ.ศ. 1223) ท่านพ่ายแพ้แก่ศัตรู ศีรษะของท่านถูกตัดส่งไปดามัสกัส ต่อมาจึงถูกส่งคืนมายังน้องสาวและบุตรชายของท่าน เพื่อฝังรวมกับร่างของท่านที่เมืองคาร์บาลานี้เอง

เทศกาลแขกเจ้าเซ็นซึ่ง “ตีอกและชกหัว” (สมัยก่อนนั้นใช้ของมีคมบาดตามศีรษะด้วย) ในเดือนมุหะหร่ำ คือการแสดงการรำลึกถึงวีรกรรมของท่านในคราวนี้ และแม้ปัจจุบันทั้งเมืองคาร์บาลาและนาจาฟก็เป็นสถานที่สำคัญในการจาริกแสวงบุญของชาวชิอะห์ด้วย

อ่าน : “อิรัก” แอ่งอารยธรรมโลก (ตอนที่ 2) : บาบิโลน-แบกแดด-โมซูล มหานครอาหรับราตรี

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 เมษายน 2562