“อิรัก” แอ่งอารยธรรมโลก (ตอนที่ 2) : บาบิโลน-แบกแดด-โมซูล มหานครอาหรับราตรี

A view of Baghdad from the print collection in Travels in Asia and Africa, etc. (ed. J. P. Berjew, British Library) from wikipedia

คลิกอ่าน : “อิรัก” แอ่งอารยธรรมโลก (ตอนที่ 1) : ตระเวนทะเลทรายแห่งดินแดนเสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์


เมืองบาบิโลน พระเจ้าฮัมมูราบี

ถัดจากเมืองคาร์บาลาไปทางทิศตะวันออก คนละฟากฝั่งแม่น้ำยูเฟรตีส คือที่ตั้งของเมืองบาบิโลน เมืองที่เราจะคุ้นเคยกับหลายสิ่งหลายอย่างอันเป็นชื่อเสียงของเมืองเมืองนี้ จากที่เล่าไปแล้วว่า อาณาจักรโบราณของพวกนีโอสุเมเรียนจบลงในปี 2,003 ก่อนคริสตกาล เมืองต่างๆ เริ่มแยกตัวออกเป็นอิสระ เช่น เมืองอูรุก เมืองเอชนันนา เมืองอัสสูร์ และเมืองมารี การช่วงชิงอำนาจกันตลอดสองร้อยปี จบลงด้วยชัยชนะของเมืองบาบิโลน ซึ่งจะได้ตั้งตัวเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรใหม่ และมีอายุยืนยาวต่อมาถึง 423 ปี (2,017 ถึง 1,594 ปีก่อนคริสตกาล)

กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงที่สุดก็เห็นจะเป็นพระเจ้าฮัมมูราบี (1,792-1,750 ปีก่อนคริสตกาล) แล้วก็กษัตริย์เนบูชัดเนสสาร์ที่สอง (605-562 ปีก่อนคริสตกาล) ผู้อยู่ในสมัยนีโอบาบิโลเนียน หรือบาบิโลเนียนช่วงปลาย พระเจ้าฮัมมูราบีทรงกรำศึกขยายอาณาบริเวณอาณาจักรของพระองค์ออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ท่านต้องจัดระบบกฎหมายใหม่เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารเมือง เมืองที่ต่างชาติ ต่างภาษา วัฒนธรรม ในขอบขัณฑสีมาของท่านให้เป็นหนึ่งเดียว ควบคู่ไปกับการจัดระบบชลประทานอย่างมากมาย

ระบบกฎหมายที่ท่านจัดขึ้นนั้น เกิดจากการประมวลข้อบัญญัติเก่าของเมืองต่างๆ ที่บันทึกลงบนแผ่นดินเหนียวด้วยอักขระคูนิฟอร์ม นำมาขยายความและปรับปรุงเสียใหม่ กลายเป็นระบบประมวลกฎหมายแรกของโลกที่รู้จักกันในนามของกฎหมายของฮัมมูราบี (Hammurabi Code) ส่วนหนึ่งของกฎหมายนี้มักมีการอ้างถึงอยู่บ่อยๆ ก็คือ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ซึ่งหมายถึงผู้กระทำย่อมต้องรับผลแห่งกรรมนั้น (เข้าใจว่าบ้านเราคงจะไม่ยึดหลักการนี้เท่าไรนัก เราจึงเห็นการได้ดีของเจ้าพ่อ และทรราชอยู่ตลอดเวลา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน)

(ซ้าย) กฎหมายของพระเจ้าฮัมมูราบี ครึ่งบนเป็นรูปพระเจ้าฮัมมูราบี และสุริยเทพชามาช (นั่งขวา) ส่วนครึ่งล่างเป็นจารึกคูนีฟอร์ม (ภาพจากหนังสือ Treasured of the Iraq Museum) (ขวา) จำหลักหินชิ้นนี้ทำขึ้นโดยกษัตริย์นาบู-อปลา-อิดดินา (บาบิโลเนียน) เพื่อเฉลิมฉลองการตั้งเทวรูปสุริยเทพชามาช (ภาพจากหนังสือ Timelines of the Ancient World)

จารึกของพระเจ้าฮัมมูราบีเป็นแท่งหินดิโอไรท์สีดำ สูง 2 เมตร 40 เซนติเมตร ภัณฑารักษ์ของอิรักกล่าวในหนังสือของท่านอย่างขื่นๆ ว่า “แท่งที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บาบิโลนนั้นเป็นของจำลอง หล่อจากยิปซัม ส่วนของจริงนั้นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ร กรุงปารีส”

การขุดค้นพบแท่งศิลาจารึกนี้ ทำโดยทีมนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสที่เมืองซูสา (ในประเทศอิหร่านปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2444-2445 ศิลาจารึกแตกเป็น 3 ท่อน จึงได้ซ่อมแซมประกอบเข้าด้วยกัน แล้วจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์รตั้งแต่นั้นมา เมืองโบราณบาบิโลนที่ได้บูรณะซ่อมแซมขึ้นนี้ เป็นเมืองรุ่นพระเจ้าเนบูชัดเนสสาร์ หรืออีกเกือบหนึ่งพันสองร้อยปีถัดมา เมืองของท่านมีกำแพงใหญ่ล้อมรอบ มีประตูหลวงที่เรียกว่าประตูอิชตาร์ มีท้องพระโรงขนาดมหึมา มีสวนป่าลอยฟ้า และมีซิกกูแรตขนาดใหญ่

ประตูอิชตาร์ซึ่งสูงประมาณตึก 5 ชั้นนั้นเป็นของจำลอง เพราะประตูจริงถูกพวกเยอรมันยกเอาไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เพอร์การมอน กรุงเบอร์ลิน โดยจัดแสดงร่วมกันกับส่วนหน้าของแท่นบูชาเทพซูสขนาดมหึมา (ซึ่งยกมาจากเมืองเบอร์กามอนในตุรกี) และซุ้มประตู (ขนาดมหึมาอีกเช่นกัน) ของตลาดแห่งเมืองมิเลตุส (ในตุรกี)

ประตูอิชตาร์เคยประดับด้วยลายอิฐแกะนูนต่ำเป็นรูปวัว (เทพอาดัดผู้ควบคุมพายุและฝน) เทพมาร์ดุค (สัตว์ผสมระหว่างงู ปลา นกอินทรี และสิงโต) ซึ่งเป็นเทพสูงสุดผู้บริบาลเมือง และรูปสิงโต (เทพีอิชตาร์ผู้มีอำนาจเหนือสงครามและความรัก ซึ่งต่อมาจะหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วย คุณลักษณะของเทพองค์นี้จะได้ส่งทอดลงไปยังเทพีอโฟรดิติของกรีก หรือวีนัสของพวกโรมัน) ประตูอิชตาร์มีความหมายคล้ายหรือเป็นต้นแบบของประตูชัยแห่งกรุงโรม (ประตูคอนสแตนติน) ซึ่งส่งทอดไปยังประตูชัยปารีส เป็นประตูที่มีความหมายเกี่ยวกับชัยชนะ และการศึกสงคราม

ส่วนสวนป่าลอยฟ้าแห่งกรุงบาบิโลนนั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจนางอมีติส สนมนางหนึ่งของพระเจ้าเนบูชัดเนสสาร์ ผู้ซึ่ง “เติบโตในแคว้นมีเดีย ท่ามกลางบรรยากาศของขุนเขาและแมกไม้” ตัวอาคารก่อด้วยซุ้มโค้งหินสูง 23 เมตร และชักน้ำจากแม่น้ำยูเฟรตีสมาหล่อเลี้ยงพืชใหญ่น้อยต่างๆ ด้วยเหตุนี้พวกกรีกจึงได้บันทึกไว้ว่า เป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกสมัยนั้น (2,600 ปีที่แล้ว)

ปัจจุบันสวนลอยเกือบไม่เหลือซากใดๆ เลย นอกจากกองอิฐและหินซึ่งกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ สิ่งที่ตระหง่านตากว่าคือ อาคารของรัฐบาลที่มักเรียกกันว่า “วัง” ของซัดดัม ซึ่งปลูกอยู่ถัดไปสองสามร้อยเมตร ท้องพระโรงอันยิ่งใหญ่ของกษัตริย์เนบูชัดเนสสาร์พระองค์นี้ได้รับการบูรณะเอาไว้อย่างดี แม้จะไม่เห็นร่องรอยการประดับประดาด้วยอิฐเคลือบสีต่างๆ แล้ว แต่ก็ยังจินตนาการถึงความโอ่โถงได้เป็นอย่างดี

ซิกกูแรตของเมืองบาบิโลนบูชาเทพมาร์ดุคเคยสูงตระหง่านถึง 90 เมตร ความยิ่งใหญ่ของหอคอยนี้ถูกจดจำลงมาเป็นตำนานต่างๆ ที่เราคุ้นมากหน่อยก็เห็นจะเป็นส่วนที่อยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลส่วนพันธสัญญาเดิม ที่ว่ามนุษย์บังอาจสร้างหอสูงเพื่อจะไปให้ถึงสวรรค์ของพระเจ้า พระเจ้าจึงดลบันดาลให้คนเหล่านั้นพูดกันคนละภาษา จึงไม่อาจร่วมมือร่วมใจกันสร้างหอคอยนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นได้ หมู่คนจึงเกิดเป็นภาษาต่างๆ และแยกย้ายกระจัดกระจายกันไป หอๆ นี้จึงเรียกว่าหอบาเบล เพราะคำว่า babel ในภาษาอังกฤษพื้นฐาน แปลว่าการพูดที่ไม่รู้ภาษา และคำคำนี้ก็มาจากตำนานของหอคอยแห่งกรุงบาบิโลนนี่เอง

พระเจ้าเนบูชัดเนสสาร์พระองค์นี้นี่แหละ ที่ทรงยาตราทัพไปที่เมืองเยรูซาเลมในปี 597 ก่อนคริสตกาล จับกษัตริย์เยโฮอิอาชิน พร้อมกับคนอีก 10,000 คนมาควบคุมตัวไว้ที่บาบิโลน และเมื่อชาวยิวลุกฮือต่อต้านอีกเมื่อ 10 ปีให้หลัง ทัพครั้งที่สองนี้โหดอำมหิตกว่าคราวแรกมากนัก กำแพงเมืองเยรูซาเลมถูกทำลายจนพินาศ รวมทั้งมหาวิหารใหญ่ที่สร้างโดยกษัตริย์โซโลมอนเพื่อเก็บพระคัมภีร์บัญญัติ 10 ประการที่ชาวยิวเคารพนักหนาว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้าที่ทรงประทานให้โดยตรงกับโมเสส ซึ่งความจริงกว่าจะตั้งมหาวิหารเพื่อบรรจุพระคัมภีร์ชุดนี้ได้ก็ยากเย็นแสนเข็ญทีเดียว

ศึกคราวนี้พระเจ้าเนบูชัดเนสสาร์ทำลายเมือง ทำลายวิหารแล้วยังกวาดต้อนผู้คนติดกลับไปยังเมืองบาบิโลนด้วยจำนวนถึง 40,000 คนทีเดียว แล้วเอามากระจายกันอยู่ทั้งในเมืองบาบิโลน เมืองกิช และเมืองนิปปูร์ เรียกว่ากะจะไม่ให้โตได้อีกในระยะเวลาอันสั้น

พันหนึ่งทิวา มหานครแบกแดด

ห่างจากบาบิโลนขึ้นไปทางเหนืออีก 120 กิโลเมตร แต่อยู่บนฝั่งของคนละแม่น้ำก็คือ มหานครแบกแดดซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำไทกรีส มหานครซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 1305 โดยกษัตริย์มุสลิมอาหรับ หรือที่เรียกกันว่ากาหลิบ จาฟาร์ อัล-มันซูร์ (Ja”far al-Mansur)

ความเลื่องลือของนครแบกแดดมักจะถูกกล่าวถึงในแง่ของความมั่งคั่งโอ่อ่าของราชสำนักของเจ้าครองนคร มีการกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของพระราชวัง ซึ่งมีสำนักนางใน (ฮาเร็ม) ขนาดใหญ่ มีขันที ขุนนางมากมาย ทรัพย์ศฤงคารเต็มไปด้วยอัญมณี เพชรนิลจินดา ทอง เงิน พรม และผ้าผ่อนแพรพรรณ อย่างเช่นมีการกล่าวถึงพิธีแต่งงานของกาหลิบ อัล-มามูน กับนางบูราน ธิดาของเอกอัครมนตรี อัล-ฮัสสัน อิบุน ซาฮ์ล เมื่อ พ.ศ. 1395 ว่า คู่บ่าวสาวนั่งอยู่บนเสื่อทองคำประดับด้วยมุกและอัญมณีซัฟไฟร์ ได้รับการโปรยปรายด้วยมุกคัดขนาดเท่ากันหมดจำนวนนับพันเม็ดซึ่งวางมาในถาดทองขนาดใหญ่ ท้องพระโรงพิธีสว่างไสวไปด้วยแสงเทียนที่ทำจากไขปลาวาฬขนาดน้ำหนัก 5 ปอนด์จำนวน 200 ตัน

แขกผู้ใหญ่ ทั้งเจ้านาย มนตรี และผู้มีเกียรติ จับสลากของที่ระลึกซึ่งบรรจุในลูกกลมที่ทำจากชะมดหอม เป็นสลากที่ระบุชนิดของของที่ระลึกเป็นทาส ที่ดิน และของมีค่าอื่นๆ หรือเมื่อคราวที่กาหลิบ อัล-มุคตาดีร์ ต้อนรับพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 7 ใน พ.ศ. 1460 เพื่อเจรจาค่าไถ่ และการแลกเปลี่ยนเชลยต่อกันนั้น กาหลิบได้จัดพิธีต้อนรับกษัตริย์หนุ่มจากบิแซนทีนพระองค์นี้ด้วยกองเกียรติยศเป็นทหารม้า และทหารราบจำนวน 160,000 นาย ขันทีขาวและดำ 700 ขุนนางอีก 700 มีขบวนสิงโต 700 ตัว ตามวังและท้องพระโรงประดับด้วยพรม 22,000 ชิ้น แขวนม่าน 38,000 ชิ้น ซึ่งเป็นชนิดปักดิ้นทองถึง 12,500 ชิ้น

เมื่อคณะทูตจากต่างแดนมาถึงนั้น ด้วยความโอ่อ่าของสถานที่ คณะทูตเข้าใจว่าที่ทำการของมนตรี และมุขมนตรี เป็นท้องพระโรงของพระเจ้ากาหลิบ แต่ที่ประทับใจสุดๆ อีกอันหนึ่งก็คือ ท้องพระโรงต้นไม้ทอง (Hall of the Tree) เพราะมีต้นไม้ทองประดับเงินน้ำหนักถึง 5 แสนแดรม (1 dram หนักเท่ากับ 0.0625 ออนซ์) ตามกิ่งไม้ประดับประดาด้วยนกเงินทองจำนวนมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละตัวมีกลไกซ่อนอยู่ภายในทำให้ส่งเสียงร้องเพลงได้ด้วย ส่วนในสวนของวังก็มีต้นไม้อีกหลากหลายนานาพันธุ์ รวมทั้งต้นอินทผลัมแคระซึ่งกำลังออกผลอยู่

ความโอ่อ่ามั่งคั่งของราชสำนักนั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่เห็นและจับต้องได้ จึงเป็นเรื่องเล่าขานแต่งเติมด้วยจินตนาการต่างๆ นานา ดังจะปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าและนิยายต่างๆ ทั้งในสมัยนั้น และสมัยต่อๆ มา ดังเช่นในนิทานอาหรับราตรีที่ได้รับความนิยม เล่าและอ่านกันในหมู่ของทุกหมู่เหล่า และในทุกหนแห่งของโลก

นิทานอาหรับราตรีนั้น บางทีก็เรียกว่านิทานหนึ่งพันกับหนึ่งราตรี (Arabian Nights หรือ The Thousand and One Nights หรือ The Nights) นั้น เป็นนิทานหลายเรื่องที่ถูกร้อยเรียงกันเป็นตอนๆ และจะได้ถูกเสริมต่อๆ กันเข้ามาอีกตามยุคสมัย และตามความนิยมของท้องถิ่น

ภาพวาดจินตนาการนิทานหนึ่งพันกับหนึ่งราตรี (The Thousand and One Nights) โดย Sani ol molk ชาวอิหร่าน ประมาณ ค.ศ. 1849–1856 (ภาพจาก wikipedia)

แกนหลักจริงๆ มาจากตำนานพันเรื่อง (A Thousand Legends) ของเปอร์เซีย โดยเก็บตกมาจากอินเดีย เปอร์เซีย อียิปต์ และแบกแดด เรื่องราวมักอิงอยู่กับชื่อสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันในหมู่ของชนชาวอาหรับ เช่น ซามาคานด์ (อุซเบกิสถาน) จีน อินเดีย เปอร์เซีย แบกแดด บัสราฮ์ สมาร์รา โมซุล (อิรัก) อัคคาบา (จอร์แดน) ดามัสกัส (ซีเรีย) ไคโร (อียิปต์) เยเมน คอนสแตนติโนเปิล (ตุรกี) และโมร็อกโก ชื่อเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเมืองการค้าในสมัยนั้นทั้งสิ้น

ตัวแกนหลักของนิทานถูกแปลเป็นภาษาอาหรับเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1393 กว่าจะได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นเล่มในภาษาตะวันตกก็ล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2247 พิมพ์ต่อเนื่องกัน 12 เล่มสมุด จนถึง พ.ศ. 2260 จึงครบทุกตอน ผู้แปลเป็นชาวฝรั่งเศสชื่ออองตวน กัลยอง (Antoine Galland) โดยให้ชื่อว่า Mille et une Nuits (หนึ่งพันกับหนึ่งราตรี) เป็นนิทานที่ได้รับความนิยมในทันที จึงมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ (จากภาษาฝรั่งเศส) เมื่อ พ.ศ. 2249 ที่เราเรียกกันว่าเป็นภาคกรับสตรีท (Grub Street version) จากนั้นก็จะมีอีกหลายคนแปล ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานที่สุดก็คือสำนวนของเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน เมื่อ พ.ศ. 2428-2429 โดยแปลตรงจากภาษาอาหรับ (ด้วยความที่ท่านเป็นปราชญ์ใหญ่ในเรื่องอาหรับวิทยา ตัวท่านเองเป็นตำนานที่มีชีวิตอยู่ เพราะท่านเป็น 1 ใน 5 คนที่เป็นชาวยุโรปและมิได้ถืออิสลาม ซึ่งสามารถแอบซ่อนจาริกไปยังกาบาฮ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม แล้วกลับออกมาได้ เพราะโดยขนบแล้วบริเวณรอบกาบาฮ์ที่เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์และต้องห้าม-ฮารีม หรือต่อมากลายเสียงเป็นฮาเร็มในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่าต้องห้าม-สำหรับผู้ที่ไม่ได้เคารพ และเชื่อถือศาสนาอิสลาม)

ความตรงต่อภาษา ทั้งอารบิคและอังกฤษ (ศตวรรษที่ 19) ของท่าน ทำให้นิทานเรื่องนี้มีความแม่นยำสูง แต่อาจขาดชีวิตชีวาในสายตาของบางคน

ในบ้านเรานั้นนิทานอาหรับราตรีมิได้แปลสำนวนใหม่ๆ อีก และว่างเว้นจากการตีพิมพ์ซ้ำมานานแสนนาน ในฉบับภาษาอังกฤษที่อาจหาได้ก็คือ สำนวนแปลของเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน นี้เอง สำนวนที่ผมชอบคือของเอ็น. เจ. ดาวู้ด (N.J. Dawood) ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะหาในบ้านเราได้ไหม ทั้งฉบับของเบอร์ตัน และดาวู้ดมีหลายเรื่องที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องอาลี บาบา กับโจรทั้งสี่สิบ (เบอร์ตันมี ดาวู้ดไม่มี) และเรื่องการผจญภัยทั้งเจ็ดครั้งของซินแบด กะลาสีเรือ (ดาวู้ดมี เบอร์ตันไม่มี)

เล่าออกนอกเรื่องไปเสียนาน ความจริงสิ่งที่ตั้งใจจะพูดถึงก็คือ นิทานอาหรับราตรีซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และถือเป็นความทรงจำในรูปของตำนานนั้น จะได้มีการกล่าวถึงความโอ่อ่าของมหานครแบกแดด (และบัสราฮ์) โดยเฉพาะในสมัยของกาหลิบฮารูน อัล-ราชิด ซึ่งครองแบกแดดอยู่ในช่วง พ.ศ. 1329-1352 ของราชวงศ์อับบาสิดส์

และควรจะต้องกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า ความยิ่งใหญ่ของแบกแดดไม่ได้มีเฉพาะความฟู่ฟ่าของราชสำนักเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วความรุ่งเรืองนั้นมีอยู่เกือบทุกด้านของชีวิตสังคมทีเดียว เช่น ด้านการเดินเรือนั้น แบกแดดมีท่าเรือใหญ่น้อยมากมาย เรือที่ลอยลำกันอยู่มีตั้งแต่เรือรบ เรือเพื่อความสำราญ สำเภาจีน แพผูก ถุงบรรจุลมที่ทำจากหนังแกะ

ในด้านการตลาด มีตลาดบาซาร์มากมาย ในเมืองค้าขายพวกกระเบื้องเคลือบ ไหม และชะมดหอมจากเมืองจีน เครื่องเทศ สินแร่ และสีย้อมจากอินเดีย และคาบสมุทรมาเลย์ ทับทิม ลาปิส ลาซูลี ผ้าทอ และทาสจากพวกเติร์กในเอเชียกลาง น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง หนังสัตว์ และทาสขาวมาจากสแกนดิเนเวีย และรัสเซีย งาช้าง ผงทองคำ และทาสผิวดำมาจากแอฟริกาฝั่งตะวันตก มีตลาดเฉพาะที่ขายเครื่องเคลือบที่มาจากเมืองจีน นอกจากบรรดาสินค้าที่มาจากต่างแดนแล้ว บรรดาจังหวัดต่างๆ ของจักรวรรดิ ก็ส่งสินค้าของตนมาทั้งโดยทางกองคาราวาน และทางเรือ ซึ่งได้แก่ข้าวสาร เมล็ดพืช และลินินจากอียิปต์ เครื่องแก้ว เครื่องโลหะ และผลไม้จากซีเรีย ผ้าปักยกดอกยกลาย ไข่มุก และอาวุธนานาชนิดจากอาระเบีย ไหม เครื่องสำอาง และผักจากเปอร์เซีย เป็นต้น

ในด้านอาชีพ นครแบกแดดมีผู้ประกอบอาชีพต่างๆ มากมาย เช่น พ่อค้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดของเมือง พ่อค้าเกาะกลุ่มกันเป็นสมาคมของงานฝีมือ และการค้าที่ใกล้เคียงกัน ในตลาด (suq) ก็มีร้านค้าของกลุ่มตน นอกจากนี้ยังมีแพทย์ ทนาย ครู นักเขียน และอื่นๆ อีกมาก

ที่สำคัญอย่างที่สุดเหนือด้านอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วก็คือด้านศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมทางปัญญา เราอาจจะกล่าวได้ว่าความรุ่งเรืองทางปัญญาของโลกมุสลิมอาหรับนั้น เกิดจากกระบวนการที่ความรู้ของโลกโบราณ เช่น อียิปต์ บาบิโลเนีย ฟินิเซีย และจูเดีย ได้หลั่งไหลเข้าไปตกผลึกกันอยู่ในประเทศกรีซ จากนั้นก็ไหลย้อนกลับมาสู่โลกตะวันออกเมื่อมีการแผ่ขยายของเฮเลนิสม์มาพร้อมกับกองทัพของอเล็กซานเดอร์ ความคิดกรีกแบบเฮเลนิสติก ได้รับการบ่มเพาะอยู่นาน โดยเฉพาะในหมู่อาหรับในสเปน และซิซิลี ต่อเมื่อการครอบงำของคริสต์ศาสนาเริ่มย่อหย่อนลง ความรู้เหล่านี้ก็ได้ไหลย้อนไปในยุโรปก่อให้เกิดกระบวนการฟื้นตัวทางศิลปวิทยาการอีกครั้งหนึ่ง

ซีเรียรับอารยธรรมก้าวหน้าของอาราเมียค ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกรีกอีกทีหนึ่ง อิรักรับอิทธิพลจากเปอร์เซีย มีการแปลตำรับตำราจากภาษาเปอร์เซีย สันสกฤต ซีเรียค และกรีก มาเป็นภาษาอารบิค ฉะนั้นในระยะเวลาเพียง 30 ปี (นับจากการก่อตั้งกรุงแบกแดด) โลกการขีดเขียนและอ่านของอาหรับนั้น ขยายตัวอย่างมากมาย งานแปลได้แก่งานปรัชญาของอริสโตเติล การวิเคราะห์งานของเปลโต้ งานเขียนของยูคลิด ตำราวิชาการแพทย์ ดาราศาสตร์จากอินเดีย (ตะวันตกเรียกตัวเลขว่าเป็นแบบอารบิค ในขณะที่พวกอาหรับเรียกว่าแบบฮินดี ซึ่งเป็นเลขฐานสิบ)

วิชาความรู้ในภาษาต่างๆ นี้ จะได้รับการแปลถ่ายทอดจากภาษากรีกผ่านภาษาที่สอง (เช่น ภาษายิว ภาษาซีเรียค ด้วยฝีมือของพวกพระในศาสนาคริสต์นิกายเนสเตอเรียน ซึ่งแพร่หลายกันในซีเรีย ประเทศซึ่งได้รับอิทธิพลกรีกเป็นอย่างมาก) แล้วจึงถ่ายมาอีกทอดหนึ่งเป็นภาษาอารบิค

กาหลิบ อัล-มามูน (ลูกของฮารูน อัล-ราชิด) ตั้งบ้านแห่งปัญญา (Bayt al-Hikmah หรือ house of wisdom) ซึ่งเป็นทั้งห้องสมุด สำนักศึกษาและศูนย์การแปล ขึ้นใน พ.ศ. 1373 และราชวงศ์อับบาสิดส์นี้ก็จะได้สนับสนุนการแปลตลอดมาถึงหนึ่งศตวรรษ ฉะนั้นความโอ่อ่าของนครแบกแดดนั้น จึงมิใช่ความโอ่อ่าเพียงแค่ทรัพย์ศฤงคารเท่านั้น หากแต่มีพื้นฐานของปัญญาอันหนักแน่นรองรับอยู่ด้วย

แบกแดดเดินทางผ่านกาลเวลาจากจุดเริ่มต้นซึ่งรุ่งเรืองและมั่งคั่งของราชสำนักมุสลิม ถูกรุกรานด้วยทัพของมองโกล 2 ครั้ง ครั้งแรกโดยทัพสองแสนคนของฮูลากุ (หลานเจงกิสข่าน) เมื่อ พ.ศ. 1801 และครั้งที่สองโดยทาเมอร์เลน ข่านขาเป๋เชื้อสายมองโกลซึ่งมาจากซามาร์คานด์ ใน พ.ศ. 1944 บ้านเมืองถูกปล้นสะดมและถูกทำลาย ผู้คนถูกฆ่าจน “สายน้ำเป็นสีเลือด” ที่เหลือก็ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย แบกแดดสูญเสียฐานะการเป็นศูนย์กลางของการค้า บัสราฮ์เองก็ตกเป็นเมืองเชลยของพวกโปรตุเกสเมื่อฝรั่งชาตินี้สามารถเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปมาสู่เอเชียได้ในคริสต์ศตวรรษที่ 16

จากนั้นอิรักก็กลายเป็นสมรภูมิรบช่วงชิงกันระหว่างราชวงศ์ซาฟาวิด ของอิหร่าน กับออตโตมานเติร์ก (ตุรกี) อิหร่านต้องการคาร์บาลาและนาจาฟ เพราะเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชิอะห์เช่นเดียวกับตน ในขณะที่ตุรกีเกรงการขยายตัวของชิอะห์ จึงต้องการควบคุมอิรักให้เป็นรัฐกันชนที่ถือสุหนี่ อิรักกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของอาณาจักรออตโตมานเติร์กโดยสมบูรณ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และกว่าจะตั้งตัวและปลดแอกเติร์กได้ก็เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง พร้อมกับการสูญสลายของอาณาจักรออตโตมาน

แม่น้ำลำคลองของมวลมนุษยชาติ

พ่อ-ลูกชาวแบกแดดนั่งมองดูแม่น้ำไทกรีสช่วงที่ผ่านเมืองแบกแดด ในขณะที่กรรมกรลูกจ้างร้านพรมกำลังซักพรม “เปอร์เซีย” กันอย่างขะมักเขม้น พรมที่สะอาดแล้วถึงนำไปวางพาดกับขอบตลิ่งที่ลาดเทด้วยปูนซีเมนต์ลงไปจนถึงชายน้ำข้างล่าง ที่ชายน้ำมีเรือประทุนติดเครื่องยนต์ขนาดเล็กนับสิบลำ จอดรอท่าผู้คนที่ต้องการข้ามไปฟากข้างโน้น

แบกแดดเป็นเมืองที่แม่น้ำผ่ากลางและเหมือนกรุงเทพฯ ที่เริ่มตั้งเมืองทางฝั่งตะวันตก แล้วจึงขยายข้ามฟากมาทางฝั่งตะวันออกด้วย

ทั้งพ่อและลูกสาวคู่นั้น รวมทั้งกรรมกรซักพรม ตลอดจนบรรดากรรมกรเรือจ้างขณะนั้น คงจะไม่ทราบเลยว่าอีก 3 ปีต่อมาแม่น้ำสายนี้จะเต็มไปด้วยเลือดอีกครั้ง ด้วยฝีมือของทัพ “ศัตรู” ที่เดินทางไกลมากว่าครึ่งโลก ผมรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้เห็นและสัมผัสกับแม่น้ำไทกรีส ผมวักน้ำขึ้นลูบหน้าขณะนั่งเรือข้ามฟาก เพื่อจะซึมซับถึงความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำสายนี้ แม่น้ำที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและเรื่องเล่าของบรรพชนที่สร้างอารยธรรมต่างๆ อันเป็นรอยต่อสำคัญของพัฒนาการของมวลมนุษยชาติ

ในแง่หนึ่งเป็นความรู้สึกที่เหมือนกันกับการได้สัมผัสแม่น้ำไนล์ (อียิปต์) แม่น้ำจอร์แดน (จอร์แดน) แม่น้ำสินธุ (ปากีสถาน) และแม่น้ำโขง

แม่น้ำไนล์ (ยาว 6,695 กิโลเมตร) สร้างอารยธรรมที่เก่าแก่พอๆ กับอารยธรรมเมโสโปเตเมีย แม่น้ำจอร์แดน (ยาว 320 กิโลเมตร) เกี่ยวพันกับความเป็นมาของชาวยิว (เพราะยาคอบเคยปล้ำสู้กับพระเจ้าที่ตรงแม่น้ำยับบอก กิ่งของแม่น้ำจอร์แดน จนพระเจ้าขนานนามให้ยาคอบใหม่เป็นอิสราเอล ซึ่งแปลว่า “เขาผู้ปล้ำสู้กับพระเจ้า”) ส่วนชาวคริสเตียนถือว่าพระเยซูได้รับ “การบัพติศมา” จากจอห์น “ผู้ให้บัพติศมา” ที่แม่น้ำสายนี้

แม่น้ำสินธุ (ยาว 2,900 กิโลเมตร) เป็นเส้นทางสัญจรและจาริกของพุทธศาสนิก ตลอดจนสร้างอารยธรรมที่เก่าแก่พอๆ กับอียิปต์ และเมโสโปเตเมีย (เช่น เมืองโมเหน โจดาโร และฮารัปปา) แม่น้ำโขง (ยาว 4,200 กิโลเมตร) เป็นแม่น้ำสายที่สำคัญที่สุดของเอเชีย นำวัฒนธรรมการเพาะปลูกข้าวให้แพร่หลายกระจายไปหล่อเลี้ยงอารยธรรมเก่าแก่ต่างๆ ของภูมิภาคนี้

ในอีกแง่หนึ่งผมรู้สึกต่อแม่น้ำโขงเหมือนญาติผู้ใหญ่ที่คุ้นเคย และใกล้ชิด ในขณะที่แม่น้ำสินธุตอนบนนั้นดูเชี่ยวกราก เพราะเพิ่งจะผ่านเทือกเขาหิมาลัย และฮินดูกูช ที่ทั้งสูงและชัน คำอธิษฐานของชาวจาริกแสวงบุญเพื่อขอความปรานี พบเห็นเป็นจารึกภาษาโบราณมีอยู่ตามก้อนหินผาริมน้ำเสมอๆ

แม่น้ำจอร์แดนนั้นเล็กมากเมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ของแม่น้ำสายนี้ ส่วนแม่น้ำไนล์โดยเฉพาะบริเวณแก่งที่ 1 แถวเมืองอัสวานดูสงบเยือกเย็น สีของน้ำดูเขียวใสเพราะมีสาหร่ายหางกระรอกเล็กๆ พลิ้วตัวอยู่ภายใต้ผิวน้ำ ปลานิลขนาดเล็กขยับตัวไปมาหาพืชน้ำกินเป็นอาหาร ความสงบเย็นนี้รับกับกอยี่โถสีสดใสที่มีอย่างดาษดื่นตามริมตลิ่ง เรือใบโบราณกางใบสามเหลี่ยมสีขาวหม่น แล่นกินลมไปอย่างช้าๆ เป็นภาพที่ตัดกันกับสันทรายสีน้ำตาลที่อยู่ถัดเลยกอยี่โถออกไป ตรงนี้ไงเป็นที่ที่ซอมเมอร์เซท มอห์ม อกาธา คริสตี้ และนักเขียนอีกหลายคนได้รับแรงบันดาลใจไปสร้างสรรค์เป็นนวนิยายต่างๆ ของเขาและเธอ

ส่วนไทกรีสและยูเฟรตีสตอนที่ผมได้เห็นนั้น ไม่ดูเขียวชอุ่ม และโรแมนติกเหมือนกับแม่น้ำต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วตอนต้นเลย

ผมเดินทางต่อขึ้นรถไปอีก 125 กิโลเมตร เพื่อจะไปดูหอบัง (minaret) ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของโลก ที่เมืองสมาร์รา เมืองสมาร์ราเคยเป็นเมืองหลวงทดแทนแบกแดดในระยะเวลาสั้นๆ ของราชวงศ์อับบาสิดส์ ช่วง พ.ศ. 1379-1435 ด้วยเหตุผลทางการเมือง ความจริงความเก่าแก่ของสมาร์ราถอยหลังกลับไปตั้ง 2,700 ปี เป็นเมืองที่สร้างโดยกษัตริย์เสนนาชาริบ แห่งอาณาจักรอัสสิเรียน อย่างไรก็ตามโบราณสถานขนาดใหญ่ซึ่งยังคงพบเห็นโดยทั่วไปบนพื้นที่ 75 ตารางกิโลเมตรนั้น มาจากสมัยกาหลิบองค์แรกๆ ที่ตั้งกรุงแบกแดด โดยเฉพาะกาหลิบ อัล-มุตาสิม (พ.ศ. 1377) ซึ่งมีทั้งพระราชวัง โรงทหาร โรงสัตว์เลี้ยง สถานีตำรวจ คุก ตลาดใหญ่ และสุเหร่าใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง ต่อเนื่องไปยังอุทยานล่าสัตว์ของกษัตริย์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ฝังศพของอิหม่าม 2 องค์ คือ อาลี อัล-ฮาดี (ตาย พ.ศ. 1411) และอัล-ฮัสสัน อัล-อัสการี (ตาย พ.ศ. 1417) บริเวณสุเหร่าอัล-มุตาสิม อีกทั้งตามตำนานอิหม่ามองค์ที่ 12 ซึ่งหายร่างไป (เพื่อจะกลับมาอีกในอนาคต) ก็เกิดขึ้นในบริเวณข้างเคียงกันนี้เอง

อย่างไรก็ตามสำหรับคนทั่วไปแล้ว สมาร์รามีชื่อเสียงเพราะหอบัง (minaret) ของสุเหร่าอาบู-ดูลาฟ ซึ่งสูงถึง 55 เมตร และมีบันไดเวียนจากฐานไปถึงยอดด้านนอกของหอบัง ซากของอาคารที่เป็นสุเหร่าจริงๆ (พ.ศ. 1392) เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาด 400 x 470 เมตร เหลือแต่เพียงแนวกำแพงที่ได้รับการบูรณะขึ้นในภายหลัง ครอบครัวชาวอิรักพากันเดินทางมาแสวงบุญแล้วเลยมาปิกนิกกันที่นี่ ใต้ร่มเงาของหอบังขนาดมหึมาแห่งนี้ ในขณะที่เด็กๆ และคนหนุ่มสาวพากันวิ่งเล่นไล่ตามกันบนบันไดเวียนจนถึงยอดด้วยความสนุกสนาน เสียงหัวเราะของเด็กๆ เข้ามาทดแทนเสียงของผู้นำขานสวดซึ่งเคยก้องกังวานเรียกให้ผู้คนกระทำการสักการะพระเจ้าเมื่อครั้งในอดีต

การเดินทางโดยรถยนต์ในอิรักนั้นจะว่าสะดวกก็ใช่ เพราะถนนหนทางได้รับการดูแลเอาไว้ดีพอควร รถบัสกลางเก่ากลางใหม่แม้จะประดับด้วยม่านสีแจ๋น และมีกลิ่นอับๆ นิดหน่อย แต่ก็เย็นสบายด้วยเครื่องปรับอากาศ บรรยากาศที่เวิ้งว้างว่างเปล่าทำให้เรารู้สึกแตกต่างออกไปจากการเดินทางในเมืองไทย ที่มีต้นไม้อยู่ตามรายทางโดยตลอด ทำให้ตัวเราถูกแบ่งออกจากความกว้างขวางของพื้นที่

แต่สำหรับที่นี่การเดินทางทำให้เรารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของพื้นที่ได้โดยแท้จริง ระหว่างทางบางทีเราก็พบเห็นซากของโบราณสถานที่ทำจากอิฐดิบ กร่อนผุพังด้วยความร้อน กระแสลมซึ่งมีฝุ่นทรายละเอียดและกาลเวลาที่เนิ่นนาน บางทีเห็นฝูงอูฐ 10-20 ตัววิ่งตามกันไปตามทางเถื่อน บางครั้งก็เห็นชาวเบดูอิน (เบดู แปลว่าการเดิน) ซึ่งต้อนฝูงแพะและแกะเดินกันไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางความระอุของแดด มักมีกระโจมของพวกเขาปักหลักอยู่ในระยะข้างเคียง พวกเขาเดินทางกันเช่นนี้มายาวนานเกือบจะกล่าวได้ว่าก่อนใครๆ ในโลก ที่ไหนมีหญ้าให้แพะและแกะและเล็ม พวกเขาก็จะตั้งเต็นท์กระโจมกัน กระโจมที่ทำจากหนังและขนแพะสีดำถูกเปิดให้ลมโกรกผ่านได้ในเวลากลางวัน ขนแพะสีดำนี้มีลาโนลินเคลือบอยู่โดยธรรมชาติ จึงสามารถป้องกันความชื้นและความหนาวเย็นในฤดูหนาวได้ คนเหล่านี้มีอาหารจากผูงปศุสัตว์ของเขา ทั้งเนื้อและนมตลอดจนผืนหนังใช้ทำเครื่องใช้ต่างๆ และเครื่องนุ่งห่ม นมใช้ทำเนยและนมเปรี้ยว และเนยเมื่อหมักก็จะได้เป็นเนยแข็ง ซึ่งจะเก็บไว้กินนานๆ ได้โดยการบ่มหรือแช่ในน้ำเกลือ นมเปรี้ยว เนยแข็ง ตลอดจนพรมขนแพะ ขนแกะ รวมทั้งงานฝีมือนานาชนิด เป็นผลิตภัณฑ์ที่เขาเอาไว้ขายเมื่อเดินทางเฉียดใกล้กับตลาดของชุมชน

อย่างที่เราทราบกันดีว่าแพะเป็นสัตว์ชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงนอกเหนือไปจากไก่ ซึ่งเรียกกันว่า “นกที่ออกไข่ทุกวัน” ฉะนั้นเวลาที่ผมพบเห็นชาวเบดูอินที่สัญจรผ่านไป ผมมักจะจินตนาการย้อนกลับไปสู่วิถีชีวิตที่เก่าแก่ของมนุษย์เสมอๆ จากสมาร์ราขึ้นเหนือไปอีก 100 กว่ากิโลเมตร เกือบครึ่งทางระหว่างเมืองนี้กับโมซูล เมืองที่สำคัญเป็นลำดับสามของประเทศ และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของหัวเมืองทางภาคเหนือ ผมก็จะได้พบกับเมืองฮัตรา ซึ่งมีอายุร่วมกับพุทธกาล

สถาปัตยกรรมของฮัตรา มีเสาและหน้าบันสามเหลี่ยมแบบกรีก ในขณะที่มีซุ้มโค้งแบบโรมันด้วย

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ผมเห็นภาพข่าวทีวีที่ฉายให้เห็นบรรดาข้าวของที่ถูกทำลายในพิพิธภัณฑ์อิรัก ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงแบกแดด หนึ่งในนั้นคือรูปจำหลักหินของบุคคล ที่เข้าใจว่าจะเป็นจำหลักรูปกษัตริย์ซานาตรุคที่ 1 (Sanatruq I) ซึ่งเขาเก็บรวบรวมมาจากเมืองฮัตรา เห็นอย่างนั้นแล้วก็ใจหาย

ฮัตราเป็นเมืองโบราณที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 2 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยกำแพง 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นกำแพงดิน ยาว ๘ กิโลเมตร ชั้นที่สองเป็นอิฐดิบซึ่งปั้นผสมกับฟางหนา 3 เมตร โดยมีฐานเป็นหินสูง 2 เมตร กำแพงชั้นนี้ยาวถึง ๖ กิโลเมตร มีหอระวังภัย 163 จุด มีประตู 4 ประตู ถัดออกไปจากกำแพงยังขุดเป็นคูล้อมรอบไว้อีกชั้นหนึ่ง ฮัตราจึงเป็นทั้งเมืองการค้าและเมืองทางการทหารที่เข้มแข็ง (ขนาดต่อกรกับทัพโรมันมาแล้วก็เคย) ซึ่งควบคุมเส้นทางของกองคาราวานสินค้าที่สำคัญของละแวกนั้น

ลักษณะของฮัตรานั้นคล้ายกับเมืองปาล์มมีราในซีเรีย และเมืองเปตราในจอร์แดน ทั้งในแง่ของการตั้งเมืองอย่างโดดเดี่ยวกลางทะเลทรายเพื่อควบคุมเส้นทางการค้าของกองคาราวาน และทั้งเป็นเมืองที่รับเอารูปแบบศิลปะ สถาปัตยกรรมของทั้งปาร์เทียน (เปอร์เซียโบราณ) และทั้งกรีก-โรมัน เสาที่สลักเสลาแบบกรีก เช่น ดอริค ไอโอนิค คอรินเธียน มีจั่วสามเหลี่ยมตั้งหัวเสาแบบกรีก หรือไม่ก็ซุ้มโค้งแบบโรมัน รูปประติมากรรมที่พบจำนวนมากก็แต่งตัวคล้ายพวกปาร์เทียน (หญิงนุ่งยาวคลุมลงถึงข้อเท้า คลุมผมด้วยผ้าบาง ส่วนชายใส่เสื้อคอกลมแขนยาวแนบตัว ชายเสื้อยาวเกือบถึงเข่าคลุมทับอยู่บนกางเกงแพนตาลูน “แบบแขก”) ใครที่เคยเห็นปฏิมากรรมของเมืองปาล์มมีรา ก็คงจะประหลาดใจที่เหมือนกันยังกับแกะ และอาจไม่ประหลาดใจเลยก็ได้ เพราะทั้ง 2 เมืองนี้และเมืองเปตรานั้นตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าเดียวกันนั่นเอง

เมืองฮัตราถูกทำลายลงอย่างราบคาบเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 784 โดยพวกซัสสานิค ซึ่งเข้าครอบครองเหนือพื้นที่ประเทศอิรัก จากการขุดค้นหลายครั้ง ทั้งโดยนักโบราณคดีชาวเยอรมัน และทางการอิรักเอง เราได้ข้าวของโบราณวัตถุจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเครื่องประดับเงิน ทอง ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา และประติมากรรมรูปบุคคล ขุนนาง กษัตริย์ และเทพเจ้า (เมิร์น, มาร์ติน และบีรมริน-Mirn, Martin, Birmrin ซึ่งหมายถึงบิดา มารดา และบุตรชาย)

เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจซัดดัม ฮุสเซน ได้พอๆ กับเข้าใจวิธีคิดของขุนทหารอเมริกัน ที่จะต้องพยายามยึดโมซูลเอาไว้ให้ได้ เพราะโมซูลอยู่ห่างไกลแบกแดดตั้ง 400 กิโลเมตร เป็นเมืองสำคัญเป็นลำดับที่สามของประเทศ แม้จะเป็นเมืองที่ผลิตฝ้ายส่งออกที่สำคัญที่สุด (ผ้าฝ้ายเนื้อละเอียดที่เราเรียกกันว่าผ้ามัสลิน ก็มาจากชื่อของเมืองนี้แหละ) แต่ที่สำคัญกว่าคือเป็นแหล่งน้ำมันคู่กับเมืองกีรกุก (เช่นเดียวกับแบกแดดและนาสิริยาฮ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันของภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ) เมืองนี้มีประชากรถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก และยังเป็นฐานที่มั่นของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ซึ่งมีหลังอิงกับชนชาวเคิร์ดในตุรกีประเทศเพื่อนบ้านด้วย ก็ชาวเคิร์ดเหล่านี้นี่แหละที่เป็นหอกข้างแคร่ซัดดัมเสมอมา พวกอเมริกันถึงพยายามใช้ประโยชน์จากหอกข้างแคร่เล่มนี้ให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเองให้มากที่สุด

เมืองโมซูลนี้มีสุเหร่าที่เชื่อกันว่าเป็นที่ฝังศพของนบี ยูนูส์ หรือโยนาห์ คนที่พระเจ้ามอบหมายให้ไปประกาศให้ชาวเมืองนิเนเวห์เลิกทำชั่ว แต่ท่านกลับหนีพระเจ้าไปลงทะเล เลยถูกชาวเรือโยนน้ำ แล้วปลาใหญ่มากลืนท่านเข้าไปในท้อง และสำรอกท่านที่ชายฝั่งทะเล เพื่อให้ท่านทำตามบัญชาของพระเจ้า ตำนานว่าท่านมาทำตามบัญชา แล้วเลยอาศัยอยู่นอกเมืองนิเนเวห์ทางทิศตะวันออก ก็นี่แหละที่ชาวเมืองว่าท่านมาตายที่โมซูลนี้

โมซูลเป็นเมืองเก่าแก่ย้อนกลับไปถึงสมัยของพวกอัสสิเรียน ก่อนจะมาเป็นเมืองการค้ากองคาราวาน ม้า-ลา-อูฐต่างในสมัยอับบาสิดส์ เพราะคุมเส้นทางการค้าระหว่างอินเดีย เปอร์เซีย กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของโมซูลปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากโมซูลเป็นเมืองที่พร้อมที่สุดในละแวกของเมืองโบราณที่สำคัญ คือ เมืองอัสสูร์ นิเนเวห์ และนิมรุด ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอัสสิเรียน เรียงกันตามลำดับเวลา บรรดาข้าวของที่เก็บมาจากเมืองโบราณทั้งสาม (และฮัตราด้วย) ส่วนหนึ่งจึงจัดแสดงที่เมืองนี้ ที่เหลือกระจายอยู่ทั้งที่แบกแดด ลูฟว์ร (ฝรั่งเศส) บริติชมิวเซียม (อังกฤษ) นิวยอร์ก และเพนซิลเวเนีย (สหรัฐอเมริกา)

โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมๆ ก็อย่างเช่น ทวารบาล ซึ่งเป็นสัตว์ผสมระหว่างวัว นกอินทรี และมนุษย์ (แข็งแรงดุจวัว บินได้ดุจนกอินทรี และมีปัญญาดุจมนุษย์) ขนาดมหึมา ทวารบาลสัตว์ผสมชนิดนี้ส่งอิทธิพลไปยังเปอร์เซียด้วย ฉะนั้นท่านที่เคยไปเมืองโบราณชื่อเปอร์เซโพลิส ทางตอนใต้ของประเทศอิหร่าน ก็คงจะจำได้ว่ามีทวารบาลชนิดนี้ขนาดมหึมาอยู่หลายตัวด้วยกัน ที่พิพิธภัณฑ์นี้ก็มีอยู่ ๒ ตัว ที่เมืองโบราณนิเนเวห์อีกสี่ตัว อยู่ที่บริติชมิวเซียมมี 1 หรือ 2 ตัว ไม่แน่ใจว่ามีที่ลูฟว์รด้วยหรือไม่

นอกไปจากนี้ก็มีพวกภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ทั้งเขียนลาย ปั้นนูน และเรียบๆ ขนาดต่างๆ กัน มีจำหลักที่งดงามเป็นทัพอัสสิเรียนซึ่งยกทัพไปตีเมืองต่างๆ ของศัตรู (จากลายจำหลักทำให้เราเรียนรู้ว่าทัพของอัสสิเรียนโบราณมีอาวุธนำสมัยมากมาย เช่น ธนู โล่ชนิดกลม คานงัดดีดก้อนหิน ป้อมปราการที่เคลื่อนที่ได้ และรถม้า เทียบกับปัจจุบันก็เห็นจะเป็นการเทียบสรรพาวุธของอเมริกากับของอิรักในศึกคราวนี้นี่แหละ)

โบราณวัตถุจากฮัตราที่งามๆ ก็มีมาก เช่น เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ รูปจำหลักพระอาทิตย์ และภาพ “ตรินิตี้” ครอบครัวของเทพที่ยิ่งใหญ่ทั้งสามของชาวอัสสิเรียนโบราณ

นอกไปจากพิพิธภัณฑ์ที่โมซูลแล้ว ที่เมืองนิมรุดเองก็ยังจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งอยู่ ณ สถานที่จริงอีกด้วย ตัวเขตพิพิธภัณฑ์ก็คือบริเวณวังของพระเจ้าอาสูร์นาสิปาลที่ 2 ซึ่งมีทั้งทวารบาลที่ปากทางเข้าสี่ตัว มีศิลาจารึกของพระองค์ซึ่งอยู่ในสภาพดีมากๆ ท้องพระโรงของพระองค์ไม่ใหญ่โตแบบที่บาบิโลน แต่บางส่วนของท้องพระโรงยังเห็นภาพจิตรกรรมเขียนสี ลายปูนปั้นประดับขอบล่างของกำแพง ลายจำหลักเทวดาหัวเหยี่ยวมีปีก 4 ปีก มือถือกระเป๋าตะกร้า อีกมือกำลังยื่นวัตถุซึ่งดูคล้ายกับดอกสน จารึกนอกจากจะเป็นแผ่นศิลาแล้ว บนอิฐทั้งบนกำแพงและทางเดินก็มีจารึกอักษรคูนิฟอร์มอยู่ด้วย ในบริเวณพระราชวังนี้ ที่มีการขุดค้นหลุมพระศพของพระราชินีแล้วพบเครื่องทรงหลายรายการ โดยเฉพาะที่เป็นดอกไม้ทองประดับพระเศียรและสร้อยทองคล้องพระศอ

ส่วนที่เมืองนิเนเวห์นั้น แม้จะไม่เหลืออะไรให้ดูมากนัก แต่แนวกำแพงล้อมเมืองที่ได้รับการบูรณะใหม่บนโครงสร้างเดิม ซึ่งมีความยาวถึง 12 กิโลเมตร มีประตูเมืองถึง 15 ประตู ซึ่งทำให้เราเห็นภาพความยิ่งใหญ่ของเมือง สมกับที่โยนาห์ในพระคัมภีร์ไบเบิล (ส่วนพันธสัญญาเดิม) ระบุว่า “…เป็นนครใหญ่โตมากทีเดียว ถ้าจะเดินข้ามเมืองก็กินเวลาสามวัน…”

ภาพจำหลักแสดงให้เห็นกำแพงเมืองนิเนเวห์ซึ่งสูงใหญ่ ประกอบด้วยหอสูงระวังภัยมากมาย (ภาพจากหนังสือ Timelines of the Ancient World)

นิเนเวห์ มหานครหลวงแห่งอาณาจักรอัสสิเรียน ถูกทัพของบาบิโลเนียนและของพวกมีเดียนปล้นสะดมเผาทำลายเมืองทิ้งไป หากนับมาถึงศึกคราวนี้ ที่นำโดยอเมริกาและอังกฤษ ก็ 2,615 ปีพอดี

อัสสิเรียนจมหายไปกับกาลเวลา ทั้งเปอร์เซียและกรีกทยอยกันเข้ามาครอบครอง กว่าจะก่อตัวขึ้นมาเป็นอาหรับ นับถืออิสลาม ก็อีก 1,246 ปี

หลังศึกคราวนี้ล่ะจะใช้เวลาอีกนานสักเท่าไร