“ปกสมุด” สร้างชาติ สร้างคน

ยุคทองของสมุดหัดเขียน เมื่อโรงพิมพ์เลปาจารย์ พิมพ์หน้าปกสี่สี (ภาพจาก สิ่งพิมพ์สยาม รวบรวมโดยเอนก นาวิกมูล)

แม้วันนี้เราจะ “พิมพ์” แทน “เขียน”  และบันทึกลงคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน, ไอแพด ฯลฯ แต่เราก็เริ่มต้นการหัดเขียนมาเหมือนๆ กัน คือด้วย “สมุด” กับ “ดินสอ” หรือบ้างที่ใช้ “ปากกา”  รุ่นเก๋ากว่านั้นหน่อยก็เป็น “กระดานชนวนกับดินสอหิน”

วิน เลขะธรรรม นครศรีธรรมราช รวบรวมข้อมูลจาก “ปกสมุด” มาเรียบเรียงให้เห็นภาพของสังคม ถ่ายทอดเป็นบทความชื่อ “ปกสมุดที่ให้มากกว่าความเป็นปก” ลงในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2549  ที่ขอหยิบยกเพียงบางส่วนดังนี้

ปกสมุดที่ในเยอรมนี ซึ่งเข้ามาในสมัยแรก

สมุดที่ใช้ในปัจจุบันนี้เป็นสมุดฝรั่ง หน้าปกยังไม่มีลวดลายอะไรมากนัก เมื่อประเทศไทยมีพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น มีการจดบันทึกวิชาที่เรียน และส่งการบ้าน กระดานชนวนก็กลายเป็นกระดาษสมุดเย็บเล่ม และกลายเป็นการผลิตสมุดขึ้นภายในประเทศแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดย บริษัท เอ.อาร์.ซาเลไบ, ห้างสมุด, ห้างดี.เอ็ช.เอ.สยามวาลา ฯลฯ

ปกสมุดเริ่มมาค่อยมีพัฒนาการตั้งแต่นั้นมา

เริ่มจาก คงรูปแบบปกหน้าแบบฝรั่ง แต่ปกหลังให้ความรู้ที่เป็นไทยๆ เช่น มาตราชั่ง ตวง วัด, สุภาษิตคำสอนตามแบบโบราณ  ต่อมาก็เริ่มมีการรณรงค์เรื่องสุขอนามัยบนปกสมุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารที่สะอาด, การระบาดของโรคต่างๆ

(ซ้าย) ปกสมุดยุครณรงค์เพื่อสุขอนามัย (ขวา)ปกสมุดยุคสัญลักษณ์ต่างๆ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชมาเป็นระบอบประชิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ปกสมุดก็เกิดสัญลักษณ์ต่างๆ ขึ้นแทนเรื่องของสิทธิเสรีภาพ, นโยบาย 6 ประการของคระราษฎร

ยุคทองของสมุดหัดเขียน เริ่มขึ้นในปีการศึกษา 2482  เมื่อโรงพิมพ์เลปาจารย์ ของตระกูลเลปาจารย์ด้วยคุณภาพกระดาษที่ดีและหน้าปกสี่สี และมีคำบรรยายภาพละเอียดพอสมควนไว้ที่ปกด้านหลัง

จากการนำร่องของโรงพิมพ์เลปาจารย์ ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ เริ่มทำปกสีสี่ออกมาสู่ตลาด เช่น โรงพิมพ์สาธรธรรมกิจ, โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ฯลฯ

จนเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา กระดาษขาดตลาด ต้องนำกระดาษเก่าๆ กระดาษหนังสือพิมพ์มารีไซเคิล หมึกพิมพ์ก็ขาดแคลน ปกสมุดจึงมีแต่ภาพลายเส้นง่ายๆ เช่น ภาพเสมาธรรมจักร

หลังสงครามยุติภาวะกระดาษค่อยกระเตื้องขึ้นตั้งแต่หลัง 2500 เป็นต้นมา แต่ภาพปกสมุดก็ไม่ค่อยมีอะไรผิดแปลกไปมากนัก คือมักเป็นภาพวรรณคดี, ปีนักษัตร, ภาพสัตว์และผลไม้  ที่ช่วยใความรู้แก่นักเรียบนที่เป็นผู้ใช้สมุดได้บ้าง แต่ไม่ค่อยประทับใจเหมือนสมัยก่อนๆ ที่ผู้ผลิตมุ่งหวังให้ปกสมุดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และมุ่งหวังจะกล่อมเกลาจิตใจผู้ใช้

ส่วนปกสมุดสมัยต่อๆ มาจนถึงปัจจุบันมีแต่ภาพการ์ตูน, ภาพดาราภาพยนตร์  ฯลฯ ที่ชักชวนให้เห่อสินค้าจากต่างประเทศ