9 มีนาคม 2459 : วันเกิด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “บิดาของเมืองไทยสมัยใหม่”

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ภาพวาดโดยเทพศิริ สุขสภา จากหนังสือ "ดอกหญ้า เหนือแผ่นดิน" โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักเศรษฐศาสตร์สำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย ท่านเป็นทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเคยเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย ในช่วงชีวิตของท่านเคยผ่านเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในประเทศโดยเฉพาะครั้งเหตุการณ์ทางการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตย ในเดือนตุลาคม 2516 

ดร.ป๋วย เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2459 ที่ตลาดน้อย เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ บิดาชื่อนายซา เป็นชาวจีนอพยพ มารดาชื่อนางเซาะเซ้ง สำเร็จการศึกษาแผนกภาษาฝรั่งเศส จากโรงเรียนอัสสัมชัญพระนคร ในปี พ.ศ. 2476 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ระหว่างนั้นก็ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และในปี 2480 ได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ดร.ป๋วย เริ่มอาชีพใหม่โดยเป็นล่ามให้แก่อาจารย์ฝรั่งเศสในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่ออายุได้ 23 ปี ได้สอบแข่งขันจนได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อทางเศรษฐศาสตร์และการคลังที่ ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ ของมหาวิทยาลัยลอนดอนประเทศอังกฤษจนจบปริญญาเอก

ในช่วงที่ศึกษาที่อังกฤษนี้ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ซึ่ง ดร.ป๋วย และคนไทยในอังกฤษได้เข้าร่วมปฏิบัติงานเป็นเสรีไทย ดร.ป๋วยเองได้ลักลอบเข้าประเทศเพื่อปฏิบัติงานในประเทศไทยด้วย

ในปี พ.ศ. 2492 เข้ารับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ต่อมาในปี 2496 ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของสภาพเศรษฐกิจแห่งชาติ  และดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ 7 เดือน ก่อนถูกปลดจากเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง ต่อมาในปี 2499 ได้เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลังประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษระหว่างนี้ได้มีส่วนช่วยให้ไทยขายดีบุกและยางพาราแก่อังกฤษและประเทศในยุโรปได้มากขึ้น เมื่อไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสภาดีบุกระหว่างประเทศ ดร.ป๋วย ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไทย ได้รับเลือกเป็นประธานสภาดีบุกระหว่างประเทศ

เมื่อปี 2501 ดร.ป๋วย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และในปี 2502 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง ในปลายปีเดียวกันได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนาน ถึง 12 ปี ขณะที่เป็นผู้ว่าการแบงค์ชาติได้สร้างความมั่นคงแก่ระบบธนาคารพาณิชย์ โดยสามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราทำให้เงินบาทได้รับความเชื่อถือทั้งในและนอกประเทศและทำให้มีการค้าขายลงทุนเพิ่มขึ้น มีการขายสาขาออกไปสู่ภูมิภาค

ในปี 2507 ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ปฏิรูปงานสำคัญ 2 ด้าน คือ การปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี และการผลิตอาจารย์ เป็นผลให้จำนวนอาจารย์ประจำคณะซึ่งมีเพียง 4 คน กระทั่งในปี 2518 มีอาจารย์เพิ่มขึ้นเป็น 90 คน และได้เริ่มหลักสูตรปริญญาโทสอนเป็นภาษาอังกฤษ และริเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร สิ่งที่ ดร.ป๋วย ย้ำอยู่เสมอคือ “ความเป็นธรรมในสังคม และยึดหลักธรรมคืออำนาจมิใช่ ‘อำนาจธรรม’ เห็นได้จากข้อเขียนและจดหมาย นายเข้ม เย็นยิ่ง และบันทึกประชาธรรมโดยสันติวิธี”

กระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดร.ป๋วยเผชิญกับเหตุการณ์ทางการเมือง เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกบุกนักศึกษาถูกฆ่าและตัวดร.ป๋วยเองถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องออกจากเมืองไทยไปอยู่ประเทศอังกฤษ สเตฟาน คอลินยองส์ (Stefan Collingnon) นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมัน ได้กล่าวยกย่อง ดร.ป๋วยว่าเป็น “บิดาของเมืองไทยสมัยใหม่” (Founding Father of Modern Thailand) ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ในปี พ.ศ. 2508 ดร.ป๋วยได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะและได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. 2558

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือ “จดหมายเหตุแด่…คนดี คนเก่ง และคนกล้า อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์”. รวบรวมโดย ไพบูลย์ แพงเงิน. รีดเดอร์ พับลิชชิ่ง. 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2561