ผู้เขียน | ศราวิน ปานชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
เลือกตั้งซ่อม ในเขตพระนคร เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2488 เกิดขึ้นหลังจากขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์) ส.ส.พระนคร เขต 1 ถึงแก่อนิจกรรม บริบทขณะนั้นเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสิ้นสุด และกำลังจะเกิดการเลือกตั้งในปี 2489 หลังว่างเว้นมาถึง 8 ปี เพราะภาวะสงคราม บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมในเขตพระนครจึงเป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งยังเป็นเหมือน “สนามซ้อม” วัดความนิยมของผู้สมัครในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึง
เลือกตั้งซ่อม ครั้งนี้ ผู้สมัครตัวเต็งที่คาดการณ์กันว่าน่าจะได้รับชัยชนะ คือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ นักการเมืองฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ที่กำลังมีบทบาทและได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง ซึ่งต้องชิงฐานเสียงกับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกหลายคน
ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นไปอย่างดุเดือด ในสภาวะที่กลุ่มการเมืองต่าง ๆ แข่งขันกันอย่างเต็มที่ ทำให้ทุกฝ่ายต่างงัดสารพัดวิธีที่จะทำให้ตัวเองชนะเลือกตั้ง และทำให้อีกฝ่ายเสียคะแนนนิยมมากที่สุด
การเลือกตั้งซ่อม ครั้งนั้น ปรากฏว่ามีคนเอาสีไปขีดเขียนเชียร์ให้เลือก ดร.ทองเปลว ตามที่สาธารณะ จนผนัง กำแพง เสาไฟฟ้า เลอะเทอะไปทั่ว ซึ่งประโยคที่เขียนมีทั้ง โปรดเลือก ดร.ทองเปลวเป็นผู้แทนของท่าน, เลือก ดร.ทองเปลวดีแน่ ๆ, ใครก็เลือก ดร.ทองเปลว ทั้งนั้น, ดร.ทองเปลวยินดีรับใช้ท่าน ฯลฯ
คู่แข่งของ ดร.ทองเปลว ยังปลอมตัวเป็นทีมงานผู้หาเสียงหรือผู้สนับสนุนไปตะโกนป่าวประกาศให้ประชาชนเลือก ดร.ทองเปลว เช่น ในวันเลือกตั้ง มีคนไปเคาะหรือเอาไม้ทุบประตูบ้านชาวบ้าน และตะโกนว่า “ลุกขึ้นเถอะครับ ลุกขึ้น โปรดไปลงบัตร ดร.ทองเปลว ด้วยครับ” สร้างความรำคาญให้ประชาชนอย่างหนัก
การกระทำต่าง ๆ ทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ดร.ทองเปลว พ่ายแพ้การเลือกตั้งในวันที่ 16 มิถุนายน โดยผู้ได้รับคะแนนเสียงมากสุด คือ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ แม้ภายหลัง ดร.ทองเปลว จะได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ปราจีนบุรี ใน พ.ศ. 2489 แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็สร้างความเสื่อมเสียให้เขาไม่น้อย
อ่านเพิ่มเติม :
- 4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน (+1) กับวิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง โดยรัฐตำรวจของคณะรัฐประหาร
- กำเนิด “พฤฒสภา” สภาที่ 2 ของไทยก่อนเป็นวุฒิสภา เลือกตั้ง-นับกันยันสว่าง แต่อายุแสนสั้น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นายประชาธิปัตย์. 2511. กลวิธีหาเสียงเลือกตั้ง. พระนคร : มิตรนราการพิมพ์
ณัฐพล ใจจริง. 2563. ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491 – 2500. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน
พระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร สำหรับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ว่าง พุทธศักราช 2488. เข้าถึงเมื่อ 28 เมษายน 2566 จาก https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/26629
ศุภมิตร ปิติพัฒน์. เรื่องเล่าเท่าที่พบ ‘ขุนสมาหารหิตะคดี’. เข้าถึงเมื่อ 28 เมษายน 2566 จาก https://www.the101.world/the-untold-story-of-a-man-who-wrote-law-dictionary/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2566