๑๐๐ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (๒๖ มีนาคม ๒๔๕๙ – ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐)

แรกสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับเป็นการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ แต่ก่อนหน้านั้นได้มีข้าราชการผู้ใฝ่ใจในการศึกษาได้เสนอแผนการยกสถานะจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์เสนอให้จัดการเรียนการสอนระดับการอุดมศึกษา ด้วยการตั้งมหาวิทยาลัย ให้มีการสอน ๘ แผนกสำคัญ คือ วิชาแพทย์ วิชาอาจารย์ วิชาเนติบัณฑิตย์ (กฎหมาย) วิชาราชบัณฑิตย์ (วิชาหนังสืออย่างสูงและการเรียนการศึกษา) วิชานวโกศล (การอินจิเนียร์) วิชาพาณิชยการ (การค้าขาย) วิชากสิการ (การเพาะปลูก) และความรู้บ้านเมือง (การทูตและโปลิติกและการปกครอง) พร้อมทั้งให้แบ่งนักเรียนเป็น ๒ ประเภท คือ นักเรียนในสำนักและนักเรียนนอกสำนัก ซึ่งนักเรียนในสำนักจะอยู่ในสำนักต่างๆ ที่มีอยู่โดยมีอาจารย์ผู้ปกครองประจำสำนัก ส่วนนักเรียนนอกสำนักเป็นนักเรียนเช้ามาเย็นกลับ

ขุนนางอีกท่านหนึ่งที่เสนอแนวคิดให้สร้างมหาวิทยาลัย คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้แถลงแนวคิดของตนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ในบทความเรื่องของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงพิมพ์ในหนังสือล้อมรั้ว ดังมีความตอนหนึ่งว่า

“มหาวิทยาลัยเป็นอาภรณ์สำหรับมหานครที่รุ่งเรืองแล้ว มหานครใดมีมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อเสียงสมจะอวดได้ ก็ย่อมเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคุณของมหานครนั้น แม้ประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของมหานครอันประกอบด้วยเกียรติคุณเช่นนั้น ก็ย่อมได้ชื่อเสียงปรากฏความรุ่งเรืองแผ่ไพศาลไปในทิศทั้งปวงด้วย กรุงเทพมหานครของเรานี้ ได้ก้าวขึ้นสู่ความรุ่งเรืองแล้ว จึงได้เริ่มมีมหาวิทยาลัยสำหรับจะเป็นอาภรณ์อย่างมหานครอื่นๆ แต่การเพิ่งได้เริ่มเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ เมื่อประกาศตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในต้นรัชกาลนี้ เป็นเวลาเพียง ๔ ปีเท่านั้น ความเป็นไปของโรงเรียนซึ่งเป็นรากเหง้าเค้าเงื่อนของมหาวิทยาลัยในข้างหน้ายังไม่ทันปรากฏแก่ตามหาชน ข้าพเจ้าผู้ได้ทราบการงานของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จึงขอแถลงการณ์ทั้งอดีตปัตยุบันและอนาคตของมหาวิทยาลัยนี้ เพื่อให้มหาชนเราทราบไว้พอเป็นเค้า จะได้เป็นเครื่องส่งเสริมความปิติยินดีว่าพระมหานคร อันเป็นที่เชิดชูเกียรติคุณของประเทศที่รักแห่งเราก็จะได้มีมหาวิทยาลัยพอจะอวดเขาได้สักวันหนึ่ง เพราะในบัดนี้มหาวิทยาลัยนั้นได้สมภพแล้ว แต่หากยังเยาว์วัยอยู่เท่านั้น”

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้กราบทูลถึงเรื่องการตั้งมหาวิทยาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชดำริเห็นชอบก่อตั้งมหาวิทยาลัย ในปีนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๕๘ ในการนี้ได้มีคำกราบทูลของนายกสภากรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนมีคำกราบบังคมทูลอันแสดงใจความสำคัญและเป้าหมายของการขยายการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันสอดคล้องกับการขยายตัวของระบบราชการ และรูปแบบวิธีปฏิบัติในการว่าราชการที่เปลี่ยนไป ดังนี้

“บัดนี้วิธีราชการก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ราชการไม่ได้ว่าในท้องพระโรงเหมือนแต่ก่อน ต้องแบ่งออกการงานเปนกระทรวง กำหนดความรับผิดชอบเปนชั้นๆ ละเอียดยิ่งขึ้น เจ้ากระทรวงต่างก็แสวงหานักเรียนซึ่งมีภูมิรู้เข้าฝึกหัดราชการตามกระทรวง มหาดเล็กในชั้นหลังหาได้มีโอกาสเรียนข้อราชการทั่วไปเหมือนดังแต่ก่อนไม่ ทรงพระราชดำริห์โดยพระปฤชาญาณอันสุขุมที่จะทรงแก้ไขการฝึกหัดข้าราชการโดยควรแก่ความต้องการแห่งสมัย”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์แน่ชัดในการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในอนาคตเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันก่อศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๓ มกราคม ๒๔๕๘ ดังนี้

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังการให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม…ตัวเราเป็นรัชทายาท จึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์…เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่ได้เห็นแลความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางศิลาพระฤกษ์ ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๕๘

ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๕๙ พร้อมกับโอนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นอีกกรมหนึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการ มีตำแหน่งหัวหน้าเป็นชั้นอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นกับกรมนี้ โดยมี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นพระองค์แรก และมีพระยาอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก (ต่อมาตำแหน่งนี้เปลี่ยนไปเรียกเป็นอธิการบดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นมา)

การก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีส่วนสัมพันธ์กับความต้องการบุคลากรในสายงานต่างๆ ของภาครัฐทั้งด้านการปกครองจากการปฏิรูประบบราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ด้านการแพทย์ซึ่งมีการริเริ่มที่จะตั้งโรงพยาบาลสำหรับราษฎรตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๙ และเริ่มมีการเรียนการสอนแพทย์แผนปัจจุบันครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๒ ส่วนทางด้านเทคนิควิทยาการตะวันตกได้ปรากฏในชนชั้นนำไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และมีการนำผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติมารับราชการในกรมกองที่ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น การก่อสร้างถนน โทรเลข และโรงกษาปณ์ ซึ่งต้องใช้ช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ยังมีการส่งขุนนางและนักเรียนไปศึกษางานในต่างประเทศด้วย  ซึ่งภารกิจอันเกี่ยวเนื่องด้วยการใช้เทคนิควิทยาการจากชาติตะวันตกจะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและจำเป็นต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องอาศัยความรู้ด้านเทคโนโลยี เช่น การก่อสร้างถนนโดยกระทรวงนครบาลและกระทรวงโยธาธิการ หรือการคมนาคมโดยกรมรถไฟหลวง เป็นต้น

(อ่านเพิ่มเติมได้ใน “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยแรกสถาปนา” โดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม ๒๕๖๐)