เผยแพร่ |
---|
ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2531
ท่านเกิดในวันวสันตวิษุวัต ของปี ค.ศ. 1919 ตรงกับวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2461 สัมฤทธิ์ศก ปีมะเมีย ตรงปักขทินล้านนา ในวันเต่าสัน แรม 5 ค่ำ เดือน 6 จ.ศ. 1280 ปีเปิกสะง้า เป็นปีที่พิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพ เกิดที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรของนายบุญเรือง และนางกิมไล้ ได้สมรสกับนางเยาวลักษณ์ (ลีละชาติ) มีบุตรคือ ดร.ปิยพร ณ นคร หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว ในปี พ.ศ. 2507 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสมทรง (โหตระกิตย์) มีบุตรสาว 1 คน คือ นางเสมอใจ (ณ นคร) บุญวิรัตน์
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร สนใจงานด้านคณิตศาสตร์ สถิติ การคำนวณปฏิทิน การแต่งเพลง พันธุศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาไทยโบราณ มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับและอ้างถึงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ การชำระประวัติศาสตร์สุโขทัย ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไทย หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย การแบ่งกลุ่มไทยตามตัวหนังสือ พจนานุกรมไทยอาหม ตัวอักษรไทยในล้านนา ที่มาของอักษรไทยล้านนาและไทยลื้อ นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งภายในและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 100 บทความ
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในวงวิชาการว่า เป็นปรมาจารย์ในด้านไทยศึกษา ที่มีความรอบรู้ในลักษณะสหวิทยาการ ทั้งคณิตศาสตร์ สถิติ ประวัติศาสตร์ไทย ปฏิทินไทย ภาษาไทย จารึก ศิลปวรรณคดี และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับการขยายขอบเขตของไทยศึกษา ไปสู่ไทศึกษาหรือการศึกษาเรื่องของชนเผ่าไทอื่น ๆ นอกประเทศไทย ผลงานทางวิชาการของท่านมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไท การสืบค้นภาษาไทในเมืองจีน แนวการปริวรรตอักษรพื้นเมืองล้านนา ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก เล่าเรื่องในไตรภูมิพระร่วง ความสำคัญของวรรณคดีท้องถิ่น หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย ประวัติศาสตร์ล้านนาจารึก ความเห็นเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรื่องเกี่ยวกับ ศิลาจารึกสุโขทัย และศักราชในจารึกสมัยสุโขทัย เป็นต้น ผลงานเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และใช้อ้างอิงในวงวิชาการเสมอมา นักวิชาการหลายสาขาอ้างอิงแนวคิดหรือข้อเสนอของท่าน เพียงใช้อักษรย่อว่า ป.ณ.
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นอาจารย์สอนพิเศษ ในคณะโบราณคดี วิชาการอ่านจารึก ในชั้นปีที่ 4 ในปี พ.ศ. 2512 จากคำชักชวนของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล โดยท่านมีหลักการสอนที่แตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ ในขณะนั้น ที่มักจะถือหลักว่า จารึกนั้นสอนกันไม่ได้ ต้องศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งมักจะทำให้นักศึกษาท้อเสียก่อน ท่านจึงปรับเปลี่ยนให้ นักศึกษาอ่านอักษรของประเทศลาว ซึ่งคล้ายกับไทยก่อน แล้วจึงให้อ่านจารึกของพระเจ้าลิไทย จารึกของพ่อขุนรามคำแหง และหัดเขียนอักษรธรรม แล้วจึงให้อ่านจารึกอักษรขอม และจารึกโบราณอื่นๆ ซึ่งยากที่สุด เป็นการฝึกหัดจากง่ายไปหายาก
อาจารย์ประเสริฐ เป็นคนที่มีความมุมานะอย่างยิ่ง ซึ่งอีกครั้งหนึ่งที่ท่านได้เล่าให้ฟังถึงการที่ท่านเข้ามาศึกษาในด้านจารึก ดังนี้ “ข้าพเจ้าเริ่มศึกษาศิลาจารึก เพราะเห็นว่าเมืองไทยพบจารึกโบราณก็ต้องส่งไปให้ ศาสตราจารย์เซเดส์ อ่าน ตอนนั้นท่านแก่มากแล้ว ถ้าท่านตาย หมายความว่าจะไม่มีใครอ่านจารึกที่ค้นพบใหม่เลยละหรือ ข้าพเจ้าเห็นว่าคนไทยจะต้องอ่านจารึกให้ได้ ถ้าไม่มีคนไทยคนอื่นอ่านได้ ข้าพเจ้าจะต้องอ่านจารึกให้ได้เอง”
เกียรติคุณ
- ศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่
- ศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- สมาชิก ฟาย กาปา ฟาย ในฐานะเรียนดีที่สหรัฐ
- สมาชิก ซิกม่า ซาย ในฐานะนักวิจัยดีเด่นที่สหรัฐ
- Distinguished Alumnus Award จาก The Philipines University
- แผ่นเสียงทองคำ ประพันธ์เนื้อเพลง
- นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2531 ในกลุ่มสาขาปรัชญา (ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี) โดยสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
- กิตติเมธี ในสาขาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2531-2533
- รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่นจาก คณะกรรมการรณรงค์ภาษาไทย พ.ศ. 2532จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น ในงาน 100 ปี นักเรียนทุนรัฐบาลไทย พ.ศ. 2537
- ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ. 2535
- Asean Awards Literary พ.ศ. 2536
- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องท่านเป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2535
- คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติคัดเลือกเป็น บุคคลดีเด่นของชาติสาขาพัฒนาสังคม (ด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2540
- โล่ห์เกี่ยรติยศ ผู้สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ พันธุศาสตร์ สมาคมพันธุศาสตร์ แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2540
- ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการตั้งชื่อโรงละคร สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรว่า โรงละคร “ประเสริฐ ณ นคร” พ.ศ. 2544
ที่มาข้อมูล
- เว็บไซต์ หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถสืบค้นเพิ่มได้ที่ http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p086.html
- เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ประเสริฐ ณ นคร สามารถสืบค้นเพิ่มได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/ประเสริฐ_ณ_นคร
- เว็บไซต์สมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สามารถสืบค้นเพิ่มได้ที่http://www.archaeoalumni.org/hall-of-fame-detail /ประเสริฐ-ณ-นคร