16 มกราคม 2535 หลวงปู่ชา แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลฯ มรณภาพ

หลวงปู่ชา พระสงฆ์
หลวงปู่ชา หรือ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) (ภาพจากหนังสือ อุปลมณี)

หลวงปู่ชา เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2461 ที่บ้านจิกก่อ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในครอบครัวชาวนาอีสานทั่วไป

หลวงปู่ชามีโอกาสร่ำเรียนทางโลกเล็กน้อยก็เข้าสู่เส้นทางธรรม เริ่มจากการบรรพชาเป็นสามเณรระยะหนึ่ง ต่อมาอุปสมบทเป็นภิกษุ ที่วัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2482 มีฉายาว่า “สุภทฺโท”

Advertisement

สำหรับการศึกษาปฏิบัติของหลวงปู่ชานั้น ในตอนแรกท่านมุ่งการศึกษาทางปริยัติแก้ปัญหาทางธรรมจนได้นักธรรมเอก หลังจากนั้นท่านก็เริ่มหันมาสนใจสายปฏิบัติ และเริ่มเดินทางออกธุดงด์ผ่านที่ต่างๆ เพื่อหาอาจารย์ในสายปฏิบัติ เช่น ไปที่สำนักวัดเขาวงกต ลพบุรี เพื่อศึกษาคำสอนของพระอาจารย์เภา (แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว พระที่นี้ยังยึดวัตรปฏิบัติกับการรักษาพระวินัยไว้ไม่เปลี่ยนแปลง) ไปนครพนม สกลนคร เพื่อกราบ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ฯลฯ

การศึกษาสายปริยัติและปฏิบัติของหลวงปู่ชานี้เอง เมื่อเกิดความเจ็บป่วยทางกาย ท่านจึงใช้ “ธรรมโอสถ”

กล่าวคือครั้งหนึ่งหลวงปู่ชาอาพาธด้วยโรคฟันบวมทั้งข้างบนและข้างล่าง เรื่องความเจ็บปวดทุกข์นั้นไม่ต้องเอ่ยถึง หลวงปู่ชาท่านหายามารักษาตามมีตามได้เยี่ยงคนชนบท ขณะเดียวกันก็ตามมีตามได้เยี่ยงพระนักปฏิบัติ ใช้ตบะธรรมและขันติธรรมเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งพิจารณาว่า พะยาธิ มะโมมหิ พะยาธิง อะนะตีโต เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา หนีความเจ็บไข้ไปไม่พ้น รู้เท่าทันสภาวธรรมนั้นๆ

“มีความอดทนอดกลั้น แยกโรคทางกายกับโรคทางใจออกเป็นคนละส่วน เมื่อกายป่วยก็ป่วยไป ไม่ยอมให้ใจป่วยด้วย แต่ถ้ายอมให้ใจป่วยก็เลยกลายเป็นป่วยด้วยโรค 2 ชั้น ความทุกข์เป็น 2 ชั้น เช่นเดียวกัน”

ด้วยวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชา และธรรมเทศนาของท่านที่เผยแพร่ออกไป ทำให้ผู้ศรัทธาจำนวนมากฝากตัวลูกศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ หลายคนที่เข้ามาขอบรรพชา/อุปสมบทกับท่าน ทำให้วัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชามี “พระอินเตอร์” จากสหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สวีเดน, อิสราเอล, ญี่ปุ่น ฯลฯ

ซึ่งสร้างความสงสัยให้กับญาติโยมว่าหลวงปู่ชาสอนพระเหล่านี้อย่างไร ในเมื่อท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ขณะที่พระเหล่านั้นก็ไม่รู้ภาษาไทย

หลวงปู่ชากับพระภิกษุชาวต่างชาติที่มาอุปสมบทกับท่าน (ภาพจากหนังสือ อุปลมณี)

หลวงปู่ชา ท่านก็ตอบว่า“น้ำร้อนก็มี น้ำฮ้อนก็มี ฮอทวอเตอร์ก็มี มันเป็นแต่ชื่อหรอก ถ้าเอามือจุ่มลงไปก็ไม่ต้องใช้ภาษาหรอก คนชาติไหนก็รู้ได้เอง” 

ต่อมาในปี 2501 วัดหนองป่าพงที่หลวงปู่ชาก่อตั้งก็แตกกิ่งก้านสาขาเมื่อญาติโยมนำที่ดินมาถวายให้สร้างวัด

วัดหนองป่า ตั้งสาขาที่ 1 ขึ้น ชื่อว่า วัดป่าอรัญญวาสี ที่บ้านเก่าน้อย ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่ชามอบหมายให้ พระจารญ์เที่ยง-ศิษย์รุ่นอาวุโส ไปเจ้าอาวาส

ในหนังสือ อุปลมณีบันทึกไว้ว่าเมื่อ ปี 2535 วัดหนองป่าพงมีวัดสาขาทั้งหมด 14 แห่ง (เป็นวัดและสำนักสงฆ์ในประเทศ 133 แห่ง และวัดในต่างประเทศ 8 แห่ง ซึ่งเหตุผลในการขยายสาขา เพื่ออนุเคราะห์ญาติโยม ผู้ต้องการวัดป่าใกล้บ้านเป็นที่พึ่งทางใจ, เผยแพร่ธรรมะสู่ชนบทอย่างถาวร



ข้อมูลจาก

เสถียร จันทิมาธร.  วิถีแห่งการปฏิบัติ พระอาจารย์ชา สุภฺทโท.  กรุงเทพฯ: มติชน,  2555.

คณะศิษยานุศิษย์. อุปลมณี, ศูนย์เผยแพร่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) พฤศจิกายน 2544


เผยแพร่ในระบบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2563