คำสอนของ “หลวงปู่ชา” จากปากคำลูกศิษย์ต่างชาติ พระสุเมโธ-พระชยสาโร(พระฌอน)

หลวงปู่ชา กับ พระภิกษุชาวต่างชาติที่มาอุปสมบทกับท่าน (ภาพจากหนังสือ อุปลมณี)

“หลวงปู่ชา” หรือ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) (17 มิถุนายน 2461 – 16 มกราคม 2535) แห่งวัดหนองป่าพง อุบลราชธานี นับเป็นหนึ่งในครูบาอาจารย์ที่มีชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาขอบรรพชา/อุปสมบทกับท่าน ทำให้วัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชามี “พระอินเตอร์” จากสหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สวีเดน, อิสราเอล, ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งสร้างความสงสัยให้กับญาติโยมว่าหลวงปู่ชาสอนพระเหล่านี้อย่างไร ในเมื่อท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ขณะที่พระเหล่านั้นก็ไม่รู้ภาษาไทย

หลวงปู่ชาท่านก็ตอบว่าน้ำร้อนก็มี น้ำฮ้อนก็มี ฮอทวอเตอร์ก็มี มันเป็นแต่ชื่อหรอก ถ้าเอามือจุ่มลงไปก็ไม่ต้องใช้ภาษาหรอก คนชาติไหนก็รู้ได้เอง” 

การรับพระลูกศิษย์ชาวต่างชาติเริ่มขึ้นในปี 2510 หลวงปู่ชารับลูกศิษย์ “ฝรั่ง” คนแรกคือ พระสุเมโธ  ที่เดินทางมาขอศึกษาที่วัดหนองป่าพง โดยมีเงื่อนไขว่า

“…จะมาอยู่ด้วยก็ได้ ลำบากสักหน่อย แต่ผมจะไม่บำรุงท่าน ทำไม กลัวท่านโง่ เข้ามาอยู่เมืองไทยนี่ทำไม ก็ท่านมาศึกษาพุทธศาสนา มาศึกษาวัฒนธรรมของไทย อยู่เมืองไทย เขาอยู่อย่างไร เขากินอย่างไร เขาทำอย่างไร ท่านก็ควรจะต้องรู้จัก ถ้าผมไปบำรุงบำเรอท่านทุกอย่าง ท่านก็จะโง่เท่านั้นแหละ จะขอฉันแต่ขนมปังอยู่เรื่อย…” ( ศูนย์เผยแผ่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท))

ต่อมาในปี 2513 ก็เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาขอบวชเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา จนมีการจัดตั้งวัดป่านานาชาติขึ้นที่บ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และวัดอีกหลายแห่งในต่างประเทศ

ใน “อุปลมณี” ตอนหนึ่ง พระอาจารย์ชยสาโร หรือ “พระฌอน” พระราชพัชรมานิต (ฌอน ชิเวอร์ตัน ชยสาโร) กล่าวถึงความทรงจำเมื่อมาแรกมาศึกษาธรรมะ และคำสอนหลวงพ่อชาว่า

“เมื่อก่อนอาตมาเป็นนักแสวงหา ออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 17 ปี โบกรถข้ามทวีปไปเรื่อย จนถึงประเทศอินเดีย ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองกําลังแสวงหาอะไรหรือใคร รู้แต่ว่าถ้ายังไม่ เจอจะหยุดไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนมีประสบการณ์อย่างไรก็ได้แต่ปฏิเสธว่า ยัง ยังไม่ใช่ แสวงหาไปเรื่อย

จนกระทั่งกลับไปอังกฤษ ได้พบท่านอาจารย์สุเมโธ รู้สึกเลื่อมใสท่านเลย หยุดได้ถึง 3 เดือน จําพรรษากับท่าน ออกพรรษาแล้วจึงขออนุญาตมาประเทศไทยเพื่ออุปสมบท ที่แรกไปดูวัดป่าอื่นๆ ก่อน(นิสัยเก่า) แต่เหมือนกับมีอะไรดึงดูดมาวัดหนองป่าพงอยู่ตลอดเวลา

อาตมามาถึงวัดตอนบ่าย วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนอ้าย พระเพิ่งลงจากโบสถ์หลังจากสวด ปาฏิโมกข์เสร็จ พระฝรั่งรูปหนึ่งพาไปโกนหัว แล้วไปกราบหลวงพ่อ ขณะนั้นท่านกําลังนั่งฉันน้ำร้อน และคุยกับแขกที่ใต้ถุนกุฏิ อาตมาเห็นท่านครั้งแรกรู้สึกทันทีเลยว่า ใช่แล้ว…”

พระอาจารย์ชยสาโรเล่าต่อว่า หลวงพ่อไม่ต้องสอนอะไรมาก ท่านจะพูดเพียง 2-3 คํา ให้เราเก็บเอาไปคิดพิจารณา อย่างเช่นครั้งหนึ่ง อาตมากําลังกวาดลานวัดอยู่ ท่านผ่านมาพบเข้า ก็ถามว่า “ช้อน สบายไหม”

ชื่อเดิมของอาตมาคือ ฌอน (Shaun) หลวงพ่อก็เรียกว่าช้อน

อาตมากราบเรียนว่า “สบายครับ หลวงพ่อ”

“สบายดีไหม” ท่านถามต่อเหมือนย้ำ

“สบายดีครับ” อาตมากราบเรียนยืนยัน

“สบายดี ไม่ดี” หลวงพ่อกลับพูดเสียอย่างนั้นแล้วก็เดินจากไป

อาตมายืนงง ไม่เคยได้ยินใครพูดว่าสบายดีไม่ดีมาก่อน เดินจงกรมอยู่ตั้งนานจึงได้เข้าใจ ตอนนั้นบวชใหม่กิเลสยังเยอะก็สบายดี คงเป็นเพราะเราตามกิเลส ซึ่งเป็นการไม่ดี ถ้าปฏิบัติจริงๆ แล้วกิเลสย่อมเดือดร้อน ไม่สบายดีหรอก”


ข้อมูลจาก

คณะศิษยานุศิษย์. อุปลมณี, ศูนย์เผยแพร่มรดกธรรมพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท). พฤศจิกายน 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2563