ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อกล่าวถึง “พระป่า” ภาพที่นึกถึงก็เป็น พระที่ออกไปธุดงค์ แสวงหาสถานที่สงบๆ เพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนา โดยพระป่าที่ได้รับการยกย่องในสายพระป่าที่ได้รับการยอกย่องเป็น “พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า” ก็ต้องยกให้ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่มีศิษย์เป็นพระธุดงคกรรมฐาน ที่ชาวบ้านศรัทธาจำนวนมาก โดยเฉพาะทางจังหวัดอุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร อุบลราชธานี นครราชสีมา ขอนแก่น ฯลฯ
แล้วก่อนหน้า พระอาจาย์มั่น ภูริทัตโต พระป่า-ธรรมยุต สมัยแรกเป็นอย่างไร คำถามนี้ ธัชชัย ยอดพิชัย ตอบไว้ในบทความชื่อ “ต้นวงศ์ ‘พระป่า-ธรรมยุต’ สมัยรัชกาลที่ 3 : จิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร” (ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2554) ซึ่งขอคัดย่อบางส่วนมานำเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
เมื่อกล่าวถึงพระภิกษุในพระพุทธศาสนานั้นจะแบ่งออกได้เป็น 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายคันถธุระ” และ “ฝ่ายวิปัสสนาธุระ”
พระภิกษุ “ฝ่ายคันถธุระ” จะศึกษาพระปริยัติธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดความรอบรู้ในหลักธรรม เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ และสั่งสอนผู้อื่นต่อไป ส่วนใหญ่พระภิกษุฝ่ายคันถธุระ มักจะอยู่ที่วัดในเมืองหรือหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกในการแสวงหาความรู้เพื่อตนเองจากแหล่งความรู้ต่างๆ และได้ใช้ความรู้นั้นๆ สั่งสอนผู้อื่นได้ง่าย ได้บ่อยครั้งและได้เป็นจำนวนมาก จึงเรียกพระภิกษุฝ่ายนี้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “ฝ่ายคามวาสี” หรือ “พระบ้าน”
ส่วนพระภิกษุ “ฝ่ายวิปัสสนาธุระ” นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จริงจังโดยเน้นที่การฝึกจิตในด้านสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าวจำเป็นต้องหาที่สงบสงัด ห่างไกลต่อการรบกวนจากภายนอกในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นพระภิกษุฝ่ายนี้จึงออกไปสู่ป่าเขา แสวงหาสถานที่ เพื่อที่จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาอย่างได้ผล จึงเรียกพระภิกษุฝ่ายนี้ว่า “ฝ่ายอรัญวาสี” หรือ “พระป่า” หรือ “พระธุดงค์”
“พระป่า” ในไทย ถ้าในรอบกว่าศตวรรษที่ผ่านมา แบ่งเป็นสายใหญ่ๆ ได้ 2 สาย คือ
สายแรกเป็นพระป่าฝ่ายธรรมยุต หรือเรียกว่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ส่วนสายที่ 2 เป็นพระป่าฝ่ายมหานิกาย ที่เป็นหลักใหญ่ คือ สายหลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี และหลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ วัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี
…………
เบื้องต้นนี้ขอเสนอข้อมูลพอสังเขปที่กล่าวถึง “พระป่า-ธรรมยุต” (ในภาคอีสาน) ข้อมูลแรกมาจาก “ต้นตระกูลกรรมฐาน” แสดงโดยพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เนื่องในวันบูรพาจารย์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2539 (ข้อมูลจากhttp://www24.brinkster.com)
“บูรพาจารย์ หมายถึง อาจารย์ผู้เกิดก่อนเรา ท่านเกิดก่อนเรา ท่านบวชก่อนเรา ท่านสอนเรามาก่อน จึงได้ชื่อว่า พระบูรพาจารย์
อันดับของพระบูรพาจารย์ในภาคอีสาน อันดับแรก ท่านอริยกวี (อ่อน) (พระอริยกวี (อ่อน)) เป็นพระอุปัชฌาย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)ได้ไปอุปสมบทในสำนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งสมัยนั้นพระองค์ยังทรงอุปสมบทอยู่ ยังไม่ทรงลาผนวชออกมาครองเมือง แล้วท่านผู้นั้นก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมเรียนรู้พระธรรมวินัย แล้วก็นำธรรมวินัยซึ่งถอดแบบจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไปประดิษฐานคณะพระกรรมฐานธรรมยุตสงฆ์ที่วัดสีทอง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อสิ้นบุญบารมีของท่านอริยกวี (อ่อน) ก็ตกทอดมาถึงท่านพันธุละ ซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่าน
ถัดจากนั้น ก็มาถึงยุคของพระเดชพระคุณ เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ท่านบริหารกิจการพระศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและทั้งฝ่ายปฏิบัติ ภาษากฎหมายเขาว่า คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ คันถธุระ มีหน้าที่จัดการบริหาร ปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ตราเป็นกฎหมายสงฆ์ขึ้นมาเรียกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และก็จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม คือ สอนนักธรรม สอนบาลี สอนทั้งการปฏิบัติธุดงคกรรมฐาน สอนจนกระทั่งสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นนักปฏิบัติที่ยอดเยี่ยม ขนาดขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ พอขยับตัว ขาหัก ยังนั่งเทศน์เฉย เอาซิ
ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์นี้แหละ ท่านมีลูกศิษย์ 2 องค์ องค์หนึ่งคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถร) ตอนนี้มาแยกสายกัน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถร) เป็นผู้ทำธุระในฝ่ายคันถธุระแล้วลูกศิษย์อีกองค์หนึ่งคือ พระเดชพระคุณ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นี้ ทำหน้าที่เฉพาะฝ่ายปฏิบัติฝ่ายเดียว
พระธุดงค์ในภาคอีสานที่ออกเดินธุดงค์ไปตามหัวเมืองน้อยเมืองใหญ่ ตามป่าตามชนบทเป็นองค์แรกเท่าที่รู้มา คือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลังจากที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วประมาณ 6 พรรษา ก็มาได้ลูกศิษย์องค์สำคัญ คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต นี่เป็นกำลังสำคัญ
ถ้าจะเปรียบเทียบผู้สอนหนังสือ หลวงปู่เสาร์สอนได้เฉพาะแต่ระดับประถมและมัธยม แต่หลวงปู่มั่นสอนถึงระดับมหาวิทยาลัยจนถึงปริญญาเอก ทีแรกหลวงปู่มั่นมาเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์แต่บุญบารมีของหลวงปู่มั่นนั้น บุญวาสนาของท่านมีปฏิภาณรวดเร็ว การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าได้ดี แล้วลงผลสุดท้าย ขั้นสมถะพระอาจารย์เสาร์สอนพระอาจารย์มั่น ขั้นวิปัสสนาพระอาจารย์มั่นย้อนกลับมาสอนพระอาจารย์เสาร์ อาจารย์กลับเป็นลูกศิษย์ ลูกศิษย์กลับเป็นอาจารย์ แต่ท่านก็ยังมีความเคารพต่อกันอย่างสุดซึ้ง ซึ่งหาความเคารพของพระภิกษุสามเณรปัจจุบันนี้มีต่อครูบาอาจารย์นั้น จะเปรียบเทียบอย่างท่านไม่ได้เลย แม้ว่าท่านจะเก่งกว่าอาจารย์ในทางภูมิจิต ภูมิธรรม ท่านก็ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่นอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่าน เคารพปรนนิบัติอยู่จนกระทั่งมรณภาพตายจากกันไป อันนี้คือจุดเริ่มของพระธุดงคกรรมฐานในสายภาคอีสาน
อยู่มาภายหลัง พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ไปเรียนหนังสืออยู่ที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี พอดีในพรรษานั้น พระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่วัดบูรพาฯ ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ไม่ทราบว่าเป็นพ.ศ. เท่าใด ทีนี้พระอาจารย์ดูลย์ กับ พระอาจารย์สิงห์ เวลาว่างจากเรียนพระปริยัติธรรม ว่างจากการสอนหนังสือ (เมื่อก่อนนี้ โรงเรียนชั้นประถมนี้อยู่ในวัด) พอตกค่ำก็ไปเฝ้าพระอาจารย์มั่น ไปเรียนกรรมฐาน ไปฟังเทศน์ฟังธรรมพระอาจารย์มั่น ในทางปฏิบัติสมาธิ สมถภาวนา แล้วมาปฏิบัติตาม เกิดผลจิตสงบเป็นสมาธิ มีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข ทั้งสององค์ท่านก็เลยตัดสินใจเลิกเรียนปริยัติธรรมติดตามพระอาจารย์มั่นไปเป็นลูกศิษย์ เดินธุดงค์ไปทั่วภาคอีสาน”
ข้อมูลอีกส่วนที่ขอคัดมานำเสนอมีความสำคัญต่อการอธิบาย ต้นวงศ์ “พระป่า-ธรรมยุต” สมัยแรกอยู่มาก คือสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงครองสมณเพศเป็น “วชิรญาณภิกขุ” ในสมัยรัชกาลที่ 3 หนังสือ “ประวัติคณะธรรมยุต” จัดพิมพ์เนื่องในวาระงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2547 โดย คณะกรรมการบริหารคณะธรรมยุต ได้ค้นคว้ากล่าวถึงการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟื้นฟูการศึกษาฝ่ายวิปัสสนาธุระไว้ว่า
“ทรงฟื้นฟูการศึกษาฝ่ายวิปัสสนาธุระ
การคณะสงฆ์ไทยแต่โบราณมา จัดการปกครองออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคามาวาสี มีหน้าที่เอาธุระศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์ เรียกว่า ฝ่ายคันถธุระ มีพระสังฆราชา หรือพระสังฆราชเป็นประมุขปกครองดูแล และมีพระสังฆนายกรองลงมาเป็นผู้ช่วย ฝ่ายอรัญวาสี มีหน้าที่เอาธุระศึกษาอบรมทางสมณะและวิปัสสนา เรียกว่า ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีพระสังฆราชา หรือพระสังฆราช เป็นประมุขปกครองดูแล และมีพระสังฆนายกรองลงมาเป็นผู้ช่วยเช่นเดียวกัน แต่ละฝ่ายต่างปกครองดูแลคณะของตนโดยไม่ขึ้นแก่กัน
แบบแผนการคณะสงฆ์ของไทยได้ดำเนินมาในลักษณะนี้จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง คือมีพระสังฆราชา หรือพระสังฆราช ซึ่งต่อมาเรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช แต่พระองค์เดียว เป็นประมุขของสังฆมณฑล แต่ให้มีพระสังฆนายกฝ่ายคามวาสี และพระสังฆนายกฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งต่อมาเรียกว่า ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย เป็นผู้ช่วยสมเด็จพระสังฆราช ปกครองดูแลในฝ่ายนั้นๆ แบบแผนการคณะสงฆ์ลักษณะนี้ได้ดำเนินสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง
ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนแปลงการคณะสงฆ์จากเดิมที่จัดเป็นฝ่ายคามวาสีและฝ่ายอรัญวาสี เป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ โดยให้แต่ละฝ่ายปกครองดูแลทั้งพระสงฆ์สามเณรคามวาสีและอรัญวาสี ดังปรากฏในสร้อยนามสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ และเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ว่า ‘มหาอุดรคณฤสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี’ และ ‘มหาทักษิณคณฤสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี’ ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์สามเณรฝ่ายอรัญวาสีมีน้อยลงจนไม่พอที่จะจัดการปกครองเป็นฝ่ายหนึ่งต่างหากเช่นแต่ก่อน แต่ยังคงให้มีเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสีไว้โดยไม่มีวัดในปกครอง เพราะมีหน้าที่ต้องตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ขึ้นแล้ว ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสีก็เป็นอันยกเลิกไป เพราะไม่มีวัดฝ่ายอรัญวาสีขึ้นอยู่ในปกครอง
จากลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ของไทยแต่โบราณมาจะเห็นได้ว่า วิปัสสนาธุระ ถือว่าเป็นหน้าที่ที่พระสงฆ์สามเณรจะต้องศึกษาอบรมกันอย่างจริงจัง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงอย่างเต็มที่ ถึงกับทรงตั้งสังฆราชาและพระสังฆนายกปกครองดูแลกันเองอย่างเป็นเอกเทศ แต่การศึกษาอบรมฝ่ายวิปัสสนาธุระค่อยจืดจางลงตามลำดับ พระสงฆ์สามเณรฝ่ายอรัญวาสีก็ลดน้อยลงตามกาล วัดฝ่ายอรัญวาสีก็ลดน้อยลงจนไม่พอที่จะจัดการปกครองเป็นฝ่ายหนึ่งหรือคณะหนึ่งต่างหากจากฝ่ายคามวาสี
ที่สุดฝ่ายอรัญวาสีหรือคณะอรัญวาสีก็เป็นอันยกเลิกไป พระสงฆ์สามเณรฝ่ายอรัญวาสีที่ยังคงพอมีอยู่จึงรวมอยู่ในปกครองของฝ่ายคามวาสีสืบมาจนปัจจุบัน เป็นอันว่าธุระหรือหน้าที่ประการหนึ่งของพระสงฆ์สามเณร คือวิปัสสนาธุระได้ถูกลืมเลือนไปหรือได้รักบารเอาใจใส่น้อยลงตามลำดับจนเกือบจะไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
ในตอนปลายรัชกาลที่ 2 ได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูการศึกษาฝ่ายวิปัสสนาธุระให้เข้มแข็งขึ้นครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนาพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระทั้งในกรุงและหัวเมืองเข้ามาตั้งเป็นพระอาจารย์บอกกรรมฐาน แล้วส่งไปประจำอยู่ตามวัดต่างๆ ทั้งในกรุงและหัวเมือง เพื่อสั่งสอนพระกรรมฐานแก่พระสงฆ์สามเณรและอุบาสกอุบาสิกา แต่พระอาจารย์กรรมฐานที่ทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนาทั้งจากในกรุงและจากปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือครั้งนั้นก็มีเพียง 76 รูป ฉะนั้น การฟื้นฟูการศึกษาฝ่ายวิปัสสนาธุระเมื่อครั้งนั้น จึงคงเป็นไปไม่ได้ทั่วถึงและเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 2 แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการดำเนินการอย่างใดต่อไปอีก
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า การศึกษาของภิกษุสามเณรฝ่ายคันถธุระ เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก เพราะได้รับการส่งเสริมและเอาใจใส่ดูแลด้วยดีตลอดมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนการศึกษาฝ่ายวิปัสสนาธุระกลับซบเซาลงไปตามลำดับ เพราะขาดการส่งเสริมและเอาใจใส่อย่างจริงจัง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเมื่อเสด็จประทับ ณ วัดสมอรายนั้น นอกจากจะทรงกวดขันให้ภิกษุสามเณรที่ถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียนฝ่ายคันถธุระหรือพระปริยัติธรรมอย่างจริงจังแล้ว ยังทรงแนะนำให้ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ทั้งทางสมถะและทางวิปัสสนา ให้ภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์หลวงทั้งหลายได้ศึกษาและปฏิบัติ ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาแสดงแนวทางการศึกษาอบรมทั้งทางสมถะและวิปัสสนาไว้หลายเรื่อง เช่น วิปัสสนาวิธี วิปัสสนากรรมฐาน อารักขกรรมฐานสี่ พรหมจริยกถา เป็นต้น
แม้พระองค์เองก็ทรงนำในทางปฏิบัติดังเป็นที่ทราบกันว่า เมื่อถึงหน้าแล้งจะทรงนำพระศิษย์หลวงออกจาริกไปตามป่าเขาในหัวเมืองต่างๆ ในมณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา มณฑลนครสวรรค์ ตลอดไปจนถึงมณฑลพิษณุโลก เพื่อบูชาปูชนียสถานสำคัญและแสวงหาที่วิเวกเจริญสมณะและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นประจำแทบทุกปี เป็นการวางแบบอย่างให้ภิกษุสามเณรในคณะธรรมยุตถือเป็นแนวทางการศึกษาและปฏิบัติพระศาสนาสืบมา ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่า พระสงฆ์ธรรมยุตในชั้นต้นมักเป็นผู้เอาธุระทั้งสองอย่างเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ
ในฤดูฝน อยู่จำพรรษาตามอาราม ศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์ เป็นการเอาธุระฝ่ายคันถธุระ
เมื่อถึงฤดูแล้ง มักจาริกไปตามป่าเข้าเพื่อแสวงหาที่วิเวกเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการเอาธุระฝ่ายวิปัสสนาธุระ
พระเถรานุเถระธรรมยุตในยุคแรกจึงมักเป็นที่ปรากฏต่อสายตาสาธุชนว่าเป็นพระกรรมฐาน แม้พระเถระผู้ใหญ่จำนวนมากก็ปรากฏชื่อเสียงเกียรติคุณในทางวิปัสสนาธุระ เช่น
– พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร ป.9) วัดบรมนิวาส
– สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ ป.9) วัดโสมนัสวิหาร
– สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ ป.9) วัดปทุมคงคา
– สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จนฺทสิริ ป.8) วัดราชาธิราช
– พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท ป.4) วัดบรมนิวาส
– พระครูสิริปัญญามุนี (อ่อน เทวนิโภ) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดปราจีนบุรี
– พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นต้น
เพราะเหตุนี้ จึงได้ถือเป็นประเพณีนิยมในคณะธรรมยุตว่า พระเถรานุเถระเป็นผู้ปกครองหมู่คณะ ควรเป็นผู้เอาใจใส่ในวิปัสสนาธุระ คือปฏิบัติกรรมฐานด้วย แม้จะสำนักอยู่ในอารามที่เป็นคามวาสี ทั้งนี้เพื่อจักได้เป็นแบบอย่างแก่ภิกษุสามเณรในปกครองสืบไป
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชอยู่ จึงได้ชื่อว่าทรงเป็นผู้ฟื้นฟูการปฏิบัติกรรมฐานให้เป็นที่นิยมในหมู่ภิกษุสามเณรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และยังผลให้เป็นที่นิยมแพร่หลายตลอดไปถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไปในเวลาต่อมาด้วย”
หนังสือ “ประวัติคณะธรรมยุต” ทำให้เห็นภาพ ต้นวงศ์ “พระป่า-ธรรมยุต” สมัยรัชกาลที่ 3 ที่เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงเป็นผู้ฟื้นฟูฝ่ายวิปัสสนาธุระ ดังปรากฏว่า พระสงฆ์ธรรมยุตในชั้นต้นมักเป็นผู้เอาธุระทั้งสองอย่างเป็นส่วนใหญ่ คือเป็นทั้ง “พระบ้าน” และ “พระป่า” อนึ่งก็คือภาพสะท้อนสภาพความเป็นธรรมชาติที่ยังมีอยู่มากในอดีตที่ป่ากับชุมชนยังมิได้แยกอย่างชัดเจนดังเช่นสังคมยุคสมัยปัจจุบันที่ชุมชนสังคมเมืองขยายรุกไปยังป่า
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2565