28 ธ.ค. 2515 ขบวนการ “กันยาทมิฬ” ยึดสถานทูตอิสราเอลในไทย “เสธ.ทวี” กู้สถานการณ์ได้ละมุนละม่อม

ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์

ย้อนไปกว่าครึ่งศตวรรษ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เกิดเหตุการณ์ “กันยาทมิฬ” (Black September) ซึ่งเป็น ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ บุกยึดสถานทูต “อิสราเอล” ในไทย “ชาวยิว” ถูกจับเป็นตัวประกัน เรียกร้องรัฐบาลอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวอาหรับ ฝ่ายรัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขสถานการณ์อย่างละมุนละม่อม จนทำให้เหตุการณ์จบลงด้วยสันติภาพที่ทั่วโลกต่างยกย่อง หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญ คือ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

Black September บุก สถานทูต “อิสราเอล” 

ย้อนกลับไปในวันที่ 28 ธันวาคม ปี 2515 รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ เนื่องจากมีการจัดพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นับเป็นวันมหามงคลของชาวไทยทุกคน เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมพระราชพิธีอย่างคับคั่ง หนึ่งในนั้นคือ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ หรือ “เสธ.ทวี” ผู้ที่จะกลายเป็น “วีรบุรุษ” ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีในราวเที่ยงวัน ปรากฏข่าวลือหนาหูว่า เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย ระหว่างที่พลอากาศเอก ทวี กำลังเดินทางกลับบ้าน ท่านในฐานะเสนาธิการทหาร ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้นายทหารฝ่ายยุทธการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ สอบถามข้อมูลและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจ รวมถึงสั่งการให้ พลโท เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ยศในขณะนั้น) เตรียมอาวุธสำหรับการปราบปราม หากเหตุการณ์บานปลาย

ตำรวจปิดล้อมพื้นที่ ตัดไฟและใช้สปอต์ไลท์ส่องเข้าไปในสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ภาพจากหนังสือ “ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์” พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

เวลาประมาณ 16.00 น. พลอากาศเอก ทวี เดินทางมาถึงกองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า ได้รับทราบข้อมูลว่า ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ หรือ “Black September” กลุ่มอาลี ทาฮา บุกยึดสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ย่านถนนเพลินจิต เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ได้จับกุมตัวประกัน ชาวยิว 6 คน ได้แก่

  • นายซีมอน อาวีมอร์ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกัมพูชา
  • นายนิทสัน ฮาดัสส์ อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล
  • นางรูธ ฮาดัสส์ ภรรยานายนิทสัน
  • นางซาราห์ เบอรี หัวหน้ากองการกงศุลสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล
  • นายแดน เบอรี สามีของนางซาราห์
  • นายพินฮัสส์ เลวี พ่อบ้านใหญ่ประจำสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล

ขณะที่นายเรฮาวัม อามีร์ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ไปเข้าร่วมพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แม้จะได้เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกัมพูชาเป็นตัวประกัน แต่ ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ ไม่ทราบว่าเป็นใคร ซึ่งนับว่าเป็นเคราะห์ดีอยู่มาก เพราะหากทราบว่า 1 ใน 6 ตัวประกันเป็นถึงเอกอัครราชทูต ซึ่งถือเป็นบุคคลระดับสูงของรัฐบาล “อิสราเอล” พวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ อาจทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นอย่างอื่น

ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ เรียกร้องให้ อิสราเอล ปล่อยตัวนักโทษชาวอาหรับ 35 คน และชาวญี่ปุ่น 1 คน ที่รัฐบาลอิสราเอลจับกุมตัวไว้ และให้นำศพผู้นำคนสำคัญคืนแก่ญาติที่เมืองเยรูซาเลม คือศพของนายอาลี ทาฮา และนายอับดุล อาร์ซิก แอลอาทาส ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่สนามบินในเมืองเทเลวีฟ ประเทศอิสราเอล และขีดเส้นตายต่อรัฐบาลอิสราเอลให้ทำตามเงื่อนไขดังกล่าว

ฝ่ายไทยวางแผน แก้สถานการณ์ยึดสถานทูต “อิสราเอล”

ขณะนั้นรัฐบาลไทยมีผู้นำคือ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และ จอมพล ประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้จัดตั้งกองบัญชาการชั่วคราวบริเวณหลังโรงเรียนมาแตร์เดอี

รัฐบาลไทยทราบเรื่องหลังจากเกิดเหตุการณ์ไปแล้วประมาณ 30 นาที จึงเรียกประชุมฉุกเฉินเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ได้หารือวางแผนไว้อย่างหนึ่งคือการเตรียมบุกในคืนวันที่ 28 ธันวาคม ต่อเนื่องวันที่ 29 ธันวาคม หากขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ไม่ยอมจำนน พลเอก ณรงค์ กิตติขจร ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า ทราบเบาะแสความเคลื่อนไหวมานานแล้ว แต่พวกเขาเข้ามาอย่างกระจัดกระจาย ขณะที่เอกอัครราชทูตอิสราเอลก็ได้ปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์

สถานทูต อิสราเอล เหตุการณ์ ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ บุก โจมตี
สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกรุงเทพฯ บริเวณถนนเพลินจิต ใกล้กับโรงเรียนมาแตร์เดอี ภาพจากหนังสือ “ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์” พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

เวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ไทยไม่สามารถดำเนินการใดได้อย่างสะดวก เพราะพื้นที่ของสถานเอกอัครราชทูตถือเป็นพื้นที่ของประเทศนั้น หากกระทำการใดจะเป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยได้ ต่อมามีบุคคลหลายกลุ่มทยอยเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประชาชนทั่วไป กลุ่มนักเรียนนักศึกษา และชาวมุสลิมที่มาสวดวิงวอนให้พวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ยุติปฏิบัติการ ดังนี้แล้วพลอากาศเอกทวีจึงเกิดความกังวลว่า

“…ถ้าหากว่ามีมือที่สามเข้ามายุ่งเกี่ยวลั่นกระสุนเพียงนัดเดียวก็หมายความว่าจะต้องนองเลือดกัน สำหรับขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์นั้นหนีไปไม่พ้นแน่ ต้องตายหมด แต่ชาวอิสราเอลที่ถูกจับเป็นตัวประกันทั้ง 6 คนจะต้องตายด้วย แล้วทหาร ตำรวจ ประชาชน ที่ไปเรียงรายอยู่รอบสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลนั้น ก็อาจจะถูกลูกหลงกันบ้างไม่มากก็น้อย…”

พลอากาศเอก ทวี จึงมอบหมายให้ พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ติดต่อไปยังนายมุสตาฟา ฟันนี เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย ให้มาช่วยเหลือ เนื่องจากพลอากาศเอก ทวี มีความคิดเห็นว่า นายทวี นภากรณ์ ล่ามคนไทย แม้สามารถสื่อสารภาษาอาหรับได้อย่างดีเยี่ยม แต่ไม่อาจมีจิตวิทยาในการพูดได้มากเท่ากับชาวอียิปต์

พลอากาศเอก ทวี เล่าเหตุการณ์ในเวลานั้นว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยรู้สึกไม่พอใจที่ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ก่อเหตุในประเทศไทย เป็นการ “…เหยียบจมูกหรือหลู่เกียรติกัน…” ซ้ำยังเป็นวันมหามงคลของคนไทยอีกด้วย จึงมีความรู้สึกที่จะใช้ปฏิบัติการตอบโต้ถึงขั้น “แตกหัก” แต่พลอากาศเอก ทวีมี ความคิดต่างออกไป ท่านเห็นว่า การพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์นั้นไม่เหมาะสม ต้องได้พูดคุยซึ่งหน้า ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกของแต่ละฝ่าย อันจะเป็นทางออกอย่างสันติไม่ให้ถึงขั้นนองเลือด

เสธ.ทวี เป็นผู้นำ

เมื่อเอกอัครราชทูตอียิปต์เดินทางมาถึงกองบัญชาการชั่วคราว พลอากาศเอก ทวี จึงขออนุญาตจอมพล ถนอม และจอมพล ประภาส ให้ตนเป็นตัวแทนเข้าไปเจรจากับขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตอียิปต์ พลจัตวา ชาติชาย และล่าม จอมพลทั้งสองอนุญาตตามคำขอ และยังมอบอำนาจให้พลอากาศเอก ทวี เป็นผู้สั่งการปฏิบัติการต่าง ๆ แต่เพียงผู้เดียว

ช่วงค่ำ พลอากาศเอก ทวี พร้อมคณะได้เข้าไปในสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้พบกับ นาย A (ชื่อสมมุติโดยผู้เขียน) หัวหน้าของขบวนการดังกล่าว พลอากาศเอก ทวี อธิบายว่า นาย A พูดอย่างสุภาพ แต่ลักษณะการพูดออกมานั้นใจความคล้าย ๆ ข่มขู่เหมือนกัน ท่านก็ยิ้ม ๆ ทำใจดีสู้เสือ จากนั้นจึงสอบถามว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ทำไปเพื่อสิ่งใด นาย A ก็ตอบว่าเขาได้ส่งข้อเรียกร้องไปแล้ว และต้องให้รัฐบาล “อิสราเอล” ทำตามข้อแลกเปลี่ยนนั้น

ตำรวจ ซุ่ม หน้า สถานทูต อิสราเอล
ตำรวจซุ่มเฝ้าระวังสถานการณ์ ภาพจากหนังสือ “ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์” พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

พลอากาศเอก ทวี ที่ศึกษาขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์มาเป็นอย่างดี และเคยมีประสบการณ์เมื่อครั้งโศกนาฏกรรมที่มิวนิค ท่านจึงอธิบายว่า ท่านเป็นตัวแทนของประเทศไทย ไม่ใช่รัฐบาลอิสราเอล และว่า นับตั้งแต่ที่ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์มีปฏิบัติการเรื่อยมานั้น รัฐบาลอิสราเอลไม่เคยให้ตามความต้องการของขบวนการเลย และหากปฏิบัติการในคราวนี้ถึงขั้นความรุนแรงจนประชาชนคนไทยบาดเจ็บล้มตาย ก็ถือเป็นเรื่องเลวร้าย เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ เลยแม้แต่น้อย

พลอากาศเอก ทวี พยายามพูดรักษาน้ำใจ ไม่กล่าวตำหนิติเตียน เข้าใจและรับทราบถึงความต้องการของ ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ ท่านยกเหตุการณ์เมื่อครั้งมิวนิคว่า ครั้งนั้นที่เกิดความรุนแรง เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่เยอรมนีเข้าใจผิดและเปิดฉากยิงก่อน จึงทำให้เกิดเหตุสลดขึ้น เหตุการณ์นั้นทำให้ชื่อเสียงของขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์เสียหาย และถูกโจมตีจากทั่วโลก พลอากาศเอก ทวี จึงขอให้นาย A ยุติปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อให้คนทั้งโลกเข้าใจถึงความต้องการของชาวปาเลสไตน์ และกล่าวว่ายังมีอีกหลายหนทางที่จะช่วยเพื่อน ๆ ที่ถูกรัฐบาลอิสราเอลจับกุมตัว เช่น ความช่วยเหลือของสหประชาชาติ

นาย A จึงได้กล่าวถึงความอัดอั้นตันใจจากการที่ถูกชาติตะวันตกบีบบังคับให้สละดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนให้กับอิสราเอล ซึ่งทำให้ตัวเขาเองที่อายุเกือบ 40 แล้วไม่ได้แต่งงาน เพราะปฏิญาณตนไว้ว่าจะไม่แต่งงานจนกว่าจะได้ดินแดนบ้านเกิดคืนมา พวกเขาหลายคนต้องเร่ร่อนนอนเต็นท์ ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เขานิยามชีวิตของตนเองว่า “…ชีวิตของพวกเขานั้น ไม่มีความหมายอะไร ถ้าหากไม่ได้เสรีภาพ เอกภาพ และดินแดนต่าง ๆ ที่เขาเสียไปนั้นคืนมา…”

พลอากาศเอก ทวี ตอบว่า ท่านเห็นใจชาวปาเลสไตน์ แต่การปฏิบัติการครั้งนี้ตรงกับวันมหามงคลของคนไทย ที่ไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์ใดมากระทบกระเทือนต่อจิตใจของชาวไทย ซึ่งชาวไทยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ นาย A จึงกล่าวแสดงความเสียใจ เพราะไม่ทราบว่าวันนี้เป็นวันสำคัญ เนื่องจากเตรียมปฏิบัติการไว้นานแล้ว และได้รับคำสั่งให้ลงมือวันนี้ เขาจึงขอเวลาปรึกษากับพรรคพวกสักครู่หนึ่ง ก่อนจะออกมาจากสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล พลอากาศเอกทวีพูดหยอกล้อว่า หากขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์เกิดเปลี่ยนใจประการใดก็ขออย่ายิงท่าน นาย A จึงตอบว่า “…เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะเราเป็นเพื่อนกันแล้ว…”

พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ นายมุสตาฟา ฟันนี เอกอัครราชทูตอียิปต์ พลตรีชาติชาย ชุนหะวัณ ใน เหตุการณ์ ยึด สถานทูต อิสราเอล
พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์, นายมุสตาฟา ฟันนี เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย และพลตรีชาติชาย ชุนหะวัณ ภาพจากหนังสือ “ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์” พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

เจรจาสันติภาพ แต่เกือบเกิดเหตุระทึก!

เมื่อกลับออกมา พลอากาศเอก ทวี ได้ไปรายงานให้นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทยในกองบัญชาการชั่วคราวได้รับทราบ ซึ่งแจ้งว่ามีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี เนื่องจาก ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ กลุ่มนี้ ไม่มีทีท่าแสดงความก้าวร้าวรุนแรง พลอากาศเอก ทวี จึงขอให้ทุกฝ่ายใจเย็น ๆ อย่าตื่นตระหนก เพราะท่านจะพยายามเจรจาอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลไทยก็ได้พยายามติดต่อกับรัฐบาล “อิสราเอล” โดยตรง แต่ฟากนั้นก็ไม่มีคำตอบใด ๆ และยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งภายหลังก็ปรากฏว่าไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยเห็นว่านักโทษชาวอาหรับเหล่านั้นมีโทษฉกรรจ์ จึงมอบการตัดสินใจและการดำเนินการใด ๆ ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย

ไม่นานจากนั้น พลอากาศเอก ทวี พร้อมคณะ ได้กลับเข้าไปเจรจาอีกครั้ง โดยได้นำ “เนื้อสวรรค์” และ “น้ำโพลาริส” (ชื่อน้ำดื่มยี่ห้อแรก ๆ ของไทย) มอบให้พวกเขาด้วย นาย A ถามว่า “ไม่ใช่หมูนะ” “ไม่ใช่หมู เป็นเนื้อสวรรค์” พลอากาศเอก ทวี ตอบ นาย A ดูมีท่าทีและคำพูดอ่อนลงมาก กล่าวว่าเขาเห็นใจพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าหน้าที่ และคนไทย ที่ได้ทำให้เดือดร้อนเช่นนี้ เมื่อได้ปรึกษากับพรรคพวก จึงลงความเห็นว่าควรจะล้มเลิกปฏิบัติการครั้งนี้เสีย

ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดหาเครื่องบินพาพวกเขาออกจากประเทศไทย โดยจะต้องนำตัวประกัน “ชาวยิว” ทั้ง 6 คน พร้อมด้วยพลอากาศเอก ทวี และพลจัตวา ชาติชาย ไปด้วยเพื่อเป็นตัวประกัน รวมถึงแผนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการเดินทางออกนอกประเทศไทย ซึ่งพวกเขากำหนดเองทั้งหมด และต้องการให้ฝ่ายไทยปฏิบัติตาม พลอากาศเอก ทวี ตอบว่า จะพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าว ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปเยี่ยมตัวประกัน ชาวยิว ที่ถูกขังบนชั้นสอง นาย A กล่าวว่า พวกเขา “…ไม่ได้ทรมาน (ตัวประกัน-ผู้เขียน) อะไรหรอก นอกจากเอาเชือกเส้นเล็ก ๆ ผูกขาผูกมือติดกันไว้…”

ตัวประกันชาวยิวคนหนึ่ง พอเห็นหน้าพลอากาศเอก ทวี ก็พูดว่า “Oh, Marshal Dawee. I am happy to see you. We are happy, General Chartchai.” พลอากาศเอก ทวี ถามว่า “Well, How the thing is going?” เขาตอบว่า “It is fine. They treated us very nicely.” แต่พลอากาศเอก ทวี คิดว่า เขาเพียงแค่พูดไป เพราะจะ nicely ได้อย่างไร ทั้งที่ถูกผูกแขนผูกขานั่งอยู่อย่างนั้น

นายพินฮัสส์ พ่อบ้านใหญ่เผยในตอนหลังว่า “…ครั้งแรกที่ตกเป็นเชลยของพวกโจรอาหรับ… พวกเขาใช้มาตรการอย่างรุนแรงกับเชลย โดยใช้ปืนขู่บังคับจับเชลยทั้ง 6 คนมัดติดกันเป็นคู่ ๆ …” ขณะที่นายซีมอน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกัมพูชา ที่ถูกมัดนานกว่า 18 ชั่วโมงจนมีแผลถลอก กล่าวว่าถึงเขาจะไม่ทุบตีพวกเรา แต่การมัดเชือกที่ข้อมือเราเป็นไปอย่างรุนแรงมาก”

เมื่อเยี่ยมตัวประกันเสร็จ พลอากาศเอก ทวี เดินไปทางเฉลียงหลังอาคาร ก็เห็นมีตำรวจและทหารล้อมสนามอย่างเนืองแน่น จึงออกคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ไปให้หมด ปรากฏว่ามีตำรวจหลายนายไต่ลงมาจากต้นไม้แล้วก็วิ่งออกนอกกำแพงไป เหตุนี้ทำให้พวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์เห็นว่าพลอากาศเอก ทวี เป็นคนสำคัญมีอำนาจสั่งการ จึงเชื่อใจและเชื่อฟังคำแนะนำ พลอากาศเอก ทวี จึงให้เปิดหน้าต่างทั้งหมด ท่านอ้างว่าจะได้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารไทยคนใดมาแอบซ่อนอยู่หรือไม่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พลอากาศเอก ทวี คิดว่า หากพวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์เปลี่ยนใจ หรือเกิดเหตุร้ายใดขึ้นก็จะได้มีช่องทางเข้าโดยสะดวก

ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ ต้องการเดินทางไปยังเมืองเบรุต ประเทศเลบานอน แต่พลจัตวา ชาติชายไม่เห็นด้วย เพราะเลบานอนเป็นประเทศเล็ก ควรจะไปเมืองไคโร ประเทศอียิปต์มากกว่า เพราะเป็นประเทศใหญ่ และมีอิทธิพลในกลุ่มประเทศอาหรับด้วยกัน พวกเขาจึงยินยอมตามนั้น ก่อนจะกลับออกไป พลอากาศเอก ทวี สอบถามว่าต้องการอาหารอีกหรือไม่ จะนำมาให้ พวกเขาตอบว่า “…ขณะที่อยู่กรุงเทพนี้ได้รับประทานข้าวหมกไก่แล้วรู้สึกอร่อยมาก…” พลอากาศเอก ทวี จึงตอบตกลงว่าจะนำมาให้ แล้วจึงออกจากสถานเอกอัครราชทูต มารายงานสถานการณ์ที่กองบัญชาการชั่วคราว

ข้าวหมกไก่

เวลา 03.00 น. (คืนวันที่ 28 ตรงกับวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2515) พลอากาศเอก ทวี กลับเข้าไปในสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลเป็นครั้งที่ 3 พร้อมด้วย “ข้าวหมกไก่” และ “น้ำโพลาริส” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานว่า ยังมีมีกาแฟ บรั่นดี วิสกี้ บุหรี่ และซิกการ์นำเข้าไปให้ เพราะพวกเขาต้องการดื่ม “…เหล้าองุ่นอย่างดี…” สอดคล้องกับหนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าวทำนองเดียวกัน แต่พลอากาศเอก ทวีบันทึกว่า “…เห็นมีขวดเหล้าของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ซึ่งเป็นเหล้าไวน์และแชมเปญอยู่จำนวนมาก เขาบอกว่าเขาไม่ดื่มเหล้า…” 

พลอากาศเอก ทวี บอกกับขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ว่า “…อาหารได้นำมาให้แล้ว ขอให้รับประทานเสียก่อน พร้อมกับเปิดห่อข้าวแล้วส่งให้คนละห่อพร้อมกับช้อนด้วย พอเปิดห่อข้าวเขาก็ทำท่าน้ำลายไหลแต่ยังไม่ยอมลงมือรับประทาน…” พลอากาศเอก ทวี คิดว่า พวกเขากลัวว่าในอาหารมียาพิษ จึงหยิบช้อนตักข้าวหมกไก่แต่ละห่อกิน ปรากฏว่าพวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์หัวเราะแล้วพูดว่า “…เดี๋ยวก่อน คุยกันให้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยรับประทานภายหลัง”

พวกเขาคนหนึ่งที่เฝ้าตัวประกัน ชาวยิว อยู่ชั้นสอง ตะโกนลงมาเป็นภาษาอาหรับ เอกอัครราชทูตอียิปต์แปลให้ฟังว่า “…กลิ่นข้าวหมกไก่หอมเหลือเกิน อยากจะรับประทานบ้าง…” พร้อมกับโผล่หน้าลงมาจากช่องหน้าบันได ทันใดนั้นลูกระเบิดขว้างที่อยู่ในกระเป๋าก็หลุดกลิ้งลงมาตามขั้นบันได ฝ่ายพลอากาศเอก ทวี และคนอื่น ๆ ที่อยู่ข้างล่างก็รีบมุดหลบใต้โต๊ะ เคราะห์ดีที่สลักไม่ถูกดึงออก มิเช่นนั้นคงจะเป็นเคราะห์ร้ายแน่นอน

พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ กำลังเดินเข้าไปเจรจารอบที่ 3 ท่ามกลางนักข่าวจำนวนมาก ภาพจากหนังสือ “ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์” พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

เพราะหากเกิดระเบิดเสียงดังตูมตาม หรือเสียงอะไรที่เป็นไปในลักษณะ “ยิง” กันภายในสถานเอกอัครราชทูตแล้ว เจ้าหน้าที่ไทยที่อยู่ด้านนอกคงตีความไปได้เพียงอย่างเดียวว่า ต้องมีเหตุปะทะกันเกิดขึ้น จากนั้นก็อาจดำเนินปฏิบัติการ “แตกหัก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

พลจัตวา ชาติชาย ให้สัมภาษณ์ในตอนหลังถึงความรู้สึกตอนนี้ว่า “ดีที่ไม่ระเบิด ไม่งั้นก็ตายกันทั้งหมด”

จากนั้น พลอากาศเอก ทวี ได้แจ้งว่า รัฐบาลไทยได้จัดเครื่องบินให้ไปส่งที่เมืองไคโร โดยแวะเติมน้ำมันที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน แล้วทั้งสองฝ่ายจึงตกลงเงื่อนไขและขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งพลอากาศเอก ทวี ยอมทำตามที่ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ร้องขอ กล่าวคือ

พวกเขาต้องการให้นำรถบัสพาพวกเขา 4 คน ตัวประกันชาวยิว 6 คน พลอากาศเอก ทวี พลจัตวา ชาติชาย และเอกอัครราชทูตอียิปต์ มาส่งยังสนามบิน มีรถคุ้มกันหน้าหลัง เมื่อมาถึงสนามบินให้จอดให้ใกล้กับทางขึ้นเครื่องบินมากที่สุด ต้องให้พวกเขาขึ้นไปตรวจค้นเครื่องบินก่อน ห้ามเจ้าหน้าที่ไทยพกอาวุธและห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุเช่นมิวนิค เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว พวกเขายินดีมอบอาวุธทั้งหมดให้ยกเว้นแต่ปืนพก

พลอากาศเอก ทวี กลับออกมาจากสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนสั้น ๆ ว่า ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ยอมยุติปฏิบัติการ นักข่าวจึงไชโยกันเกรียวกราว พลอากาศเอก ทวี มารายงานสถานการณ์ต่อจอมพลทั้งสอง ปรากฏว่าจอมพลถนอมไม่ค่อยเห็นด้วยนักที่จะให้พลอากาศเอก ทวีเดินทางติดตามไปอีก เพราะเป็นบุคคลสำคัญของรัฐบาล แต่พลอากาศเอก ทวี ชี้แจงว่า เมื่อตกลงไว้แล้วก็ต้องทำให้คนอื่นไปแทนไม่ได้ ส่วนพลจัตวา ชาติชาย ก็กล่าวเช่นเดียวกัน

จอมพล ประภาส กล่าวว่า “…ดำเนินการมาถึงขั้นนี้แล้วถ้ามัน (พลอากาศเอกทวี-ผู้เขียน) ตายก็ตายไปแล้ว อนาคตข้างหน้ายังมืดมนไม่รู้จะเป็นอย่างไร เขาเจรจากันรู้เรื่องกันดีแล้ว ก็ให้เขาไปเถอะ” จอมพล ถนอม จึงอนุญาต

ชบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ เดินทางสู่ไคโร

หลังเกิดเหตุการณ์นี้ทำให้จอมพล ถนอม ได้ใช้ประกาศใช้ “มาตรา 17” เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ตั้งรัฐบาลนี้มา (หลังรัฐประหารเงียบ พ.ศ. 2515) ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี 1/2515 ซึ่งเป็นคำสั่งให้อำนวยการช่วยเหลือปฏิบัติการนำ ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ ทั้ง 4 คนออกจากประเทศไทยไปอย่างโดยเร็ว รอบคอบ เรียบร้อย ปราศจากความรุนแรง

05.00 น. พลอากาศเอก ทวี พร้อมคณะได้พาพวกขบวนการและตัวประกันทั้งหมดขึ้นรถบัสที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปยังสนามบินดอนเมือง พวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ตื่นตัวและเคร่งขรึมมากนับตั้งแต่ออกจากสถานเอกอัครราชทูตจนถึงสนามบิน พวกเขาเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติการใด ๆ ก็ตาม หากมีเหตุไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

เมื่อขบวนรถเดินทางออกจากสถานเอกอัครราชทูตไปแล้ว เจ้าหน้าที่และนักข่าวได้เข้าสำรวจพื้นที่ได้พบข้อความเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “You will not take rest in our land”, “This is the new man of Palestine.” เป็นต้น

เมื่อถึงสนามบิน พวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ขึ้นไปตรวจค้นบนเครื่องบิน เมื่อพวกเขาเห็นว่าเรียบร้อยดี จึงขึ้นเครื่องบินครบทั้ง 4 คน และได้ปล่อยตัวประกัน ชาวยิว แต่พลอากาศเอก ทวี พร้อมคณะ และเจ้าหน้าที่บนเครื่องบินเองได้กลายเป็นตัวประกันไปโดยปริยาย พวกเขาได้มอบธงปาเลสไตน์ ปืนกลมือ กระสุน และระเบิดให้กับเจ้าหน้าที่ไทย ยกเว้นปืนพกที่เก็บไว้กับตัว ตามเงื่อนไขที่พวกเขากำหนด แต่แท้จริงแล้วพวกเขาแอบเก็บระเบิดมือไว้ในกระเป๋า ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยก็ทราบดี

เจ้าหน้าที่ไทยวางแผนให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยปลอมตัวเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบางส่วน แล้วได้เอาปืนพกซุกไว้ที่ตัว ทำทีให้พวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์เห็น เมื่อพวกเขาเห็นจึงทักท้วงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนของฝ่ายไทย จากนั้นจึงได้มอบปืนเหล่านั้นคืนให้เจ้าหน้าที่ไทยเก็บ

แผนการนี้เป็นแผนเชิงจิตวิทยาที่ทำให้พวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ตายใจว่า บนเครื่องบินไม่มีใครมีอาวุธนอกจากพวกเขา เพราะเห็นกันซึ่ง ๆ หน้าว่าเก็บอาวุธปืนไปหมดแล้ว แต่ในความจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ไทยได้ซุกซ่อนปืน แก๊สพิษ หน้ากากกันแก๊สพิษ และอาวุธอื่น ๆ ไว้ตามจุดต่าง ๆ ไว้แล้ว ส่วนพลอากาศเอก ทวี ก็แอบนำปืนปากกาจำนวน 2 ด้ามติดตัวไว้ด้วยเช่นกัน

เครื่องบิน “สุรนารี” ที่นำชาวอาหรับ ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ไปส่งยังไคโร ประเทศอียิปต์ ภาพจากหนังสือ “ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์” พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

คณะเจ้าหน้าที่ไทยประกอบไปด้วย

  • พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์
  • พลจัตวาช าติชาย ชุณหะวัณ
  • พลเอก ชูวิทย์ เก่งถนอมม้า
  • พลตำรวจเอก ผลึก สุวรรณเวช
  • พลโท อนันต์ ยูสานนท์
  • พลตรี สมชาย พาณิชกุล
  • พลตรี ปรีชา เอี่ยมอิทธิพล
  • ร้อยตำรวจตรี สมโภชน์ กาญจนาภรณ์
  • นายทวี นภากรณ์
  • เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ 1 คน
  • นายมุสตาฟา ฟันนี เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย

ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินประกอบไปด้วย

  • ร้อยเอก เผดิม เอมะพันธ์ กัปตัน
  • ร้อยเอก หม่อมหลวงกิตติสร คเนจร
  • สุเมธ จันทวิมล
  • สุรพล ปัญญวีร์
  • ประพนธ์ สุชีวะ หัวหน้าพนักงานต้อนรับ
  • นันทนา อัตถิ พนักงานต้อนรับหญิง
  • วัฒนา ศิริเวช พนักงานต้อนรับหญิง
  • ผานิต เมตตาการพาณิชย์ พนักงานต้อนรับหญิง
  • วัลยา ติระพัฒนกุล พนักงานต้อนรับหญิง

เครื่องบิน “ท้าวสุรนารี” ของสายการบินไทย ทะยานออกจากสนามบินดอนเมืองราว 16.00 น. พวกขบวนการปาเลสไตน์กู้ชาติทั้ง 4 คนนั่งอยู่ 4 มุม เสมือนคอยควบคุมเจ้าหน้าที่ไทยไปในตัว เมื่อบินเหนือน่านฟ้าประเทศพม่า กลับได้รับแจ้งให้บินวนเหนือเมืองย่างกุ้ง เพราะพม่ายังไม่ได้รับการประสานงานจากรัฐบาลไทย ไม่นานพลอากาศเอก ทวีได้แจ้งต่อหอบังคับการบินพม่าให้ไปแจ้งต่อพลเอก เนวิน หรือพลเอก ซันยุ โดยตรงว่า ท่านจำเป็นต้องขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าพม่า เนื่องใน “ธุระสำคัญพิเศษ” ไม่นานก็มีเสียงจากบุคคลระดับสูงของรัฐบาลพม่า ที่พลอากาศเอก ทวี คาดว่าอาจเป็นพลเอกทั้งสอง ไม่คนใดก็คนหนึ่ง แจ้งว่าอนุญาตให้บินผ่านไปได้

ภายหลังจากเติมน้ำมันที่สนามบินในการาจี ประเทศปากีสถานแล้วเสร็จ บรรยากาศนับแต่นั้นเป็นไปอย่างผ่อนคลาย มีการเล่นไพ่ และพูดคุยสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ จนทำให้ทราบข้อมูลว่า พวกเขามีการศึกษาดี เป็นแพทย์คนหนึ่ง เป็นครูคนหนึ่ง อีกสองคนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าคนหนึ่ง สาขาวิศวกรรมโยธาคนหนึ่ง นอกจากนี้ พลอากาศเอก ทวียังได้ซื้อน้ำหอมแจกพวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์คนละขวด (ยังมีสต็อกของปลอดภาษีอยู่บนเครื่องบิน) พวกเขาก็ดีใจกันใหญ่ พอรู้ว่ามีสินค้าขายก็ควักเงินทั้งสกุลเงินดอลลาร์และไทยเป็นปึก ๆ มาซื้อของอีกจำนวนมาก

เมื่อถึงสนามบินที่เมืองไคโร พลอากาศเอก ทวีจึงจับมือ และโอบกอดร่ำลากับพวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ ท่านบอกว่า “…ขอให้งานของขบวนการของท่านจงสำเร็จสมความปรารถนาและถ้าจะเป็นไปได้ ข้าพเจ้าขอเสียทีเถอะ อย่าได้ไปฆ่าใครอีกเลย”

ขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ ปาเลสไตน์
ภาพคนร้ายทั้ง 4 คน ร่างโดยพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ร่างขณะที่พวกเขากำลังนอนหลับ ระหว่างเดินทางไปยังไคโร ภาพจากหนังสือ “ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์” พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

วีรบุรุษสันติภาพ

พลอากาศเอก ทวี และคณะ (ยกเว้ยเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทยที่ต้องอยู่ต่อ เพื่อทำรายงานต่อรัฐบาลอียิปต์) เดินทางกลับถึงสนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เวลา 06.00 น.

หนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ ของอังกฤษรายงานว่า พลอากาศเอก ทวีเป็น “วีรบุรุษ” ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่สามารถเกลี้ยกล่อมให้พวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ตระหนักว่า อิสราเอล จะไม่ยอมทำตามคำขาดของพวกเขาเด็ดขาด ทั้งนี้ ชะตากรรมของพวกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ทั้ง 4 คน ไม่ปรากฏว่าพวกเขาต้องเผชิญกับสิ่งใดต่อไป คาดการณ์ว่าพวกเขาถูกดูแลโดยรัฐบาลอียิปต์ และอาจถูกส่งตัวไปยังฐานปฏิบัติการของพวกเขา ซึ่งอาจถูกดำเนินการสอบสวนในฐานขัดคำสั่ง เนื่องจากคำสั่งปฏิบัติการครั้งนี้มีว่า หากรัฐบาลอิสราเอลปฏิเสธข้อเรียกร้อง ให้ทั้ง 4 คนระเบิดสถานทูตและสังหารตัวประกันทันที

ในภายหลังตำรวจไทยสืบทราบว่า พวกเขาทั้ง 4 คนเดินทางเข้ามาประเทศไทยก่อนวันเกิดเหตุราว 14 วัน เดินทางเข้ามาอย่างนักท่องเที่ยวทั่วไป พวกเขาไปพักผ่อนเล่นสกีน้ำที่พัทยา และเที่ยวเตร่ตามสถานบันเทิง รวมถึงออกไปสำรวจสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ในแผนการ พวกเขาไม่ได้นำอาวุธติดตัวเข้ามา คาดการณ์ว่าผู้ที่อยู่ในประเทศไทยได้จัดหาอาวุธให้ในภายหลัง

พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เดินทางกลับถึงประเทศไทย มีจอมพลถนอม กิตติขจรมาต้อนรับ ท่านเขียนคำอธิบายไว้ในหนังสือว่า “งานสำเร็จมาลัยเต็มคอ ถ้าไม่สำเร็จคงมีแต่พวงมาลา” ภาพจากหนังสือ “ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์” พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

จากเหตุการณ์นี้จะเห็นแนวปฏิบัติของพลอากาศเอก ทวี 2 ประการสำคัญที่ทำให้เรื่องราวคลี่คลายได้อย่างเรียบร้อย คือ 1) ให้มีผู้สั่งการเพียงคนเดียว ซึ่งคือตัวท่านเอง เพราะท่านได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่มิวนิคมาแล้วว่าต้องอาศัยคำสั่งการที่เด็ดขาดจากคนคนเดียว เพื่อจะได้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่สับสน เพราะหากเกิดเหตุร้ายเพียงนิดเดียวก็จะทำให้ทุกอย่างเสียหาย 2) การพูดคุยและเจรจา ท่านเห็นว่าการสองสิ่งนี้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ แม้จะต้องใช้เวลาและความอดทนอดกลั้นสูงอย่างมาก

พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ไทยและต่างประเทศทุกคน ต่างก็ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ได้อย่างดีเยี่ยม เป็นการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่ลงเอยด้วยสันติภาพอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทวี จุลละทรัพย์. (2539). ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์. พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2539 ณ วัดเทพศิรินทราวาส. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2562