19 พฤศจิกายน วันคล้ายวันประสูติ “ราชินีแห่งจันษี” วีรสตรีของอินเดีย ผู้ต่อต้านอังกฤษ

อนุสาวรีย์ของราชินีแห่งจันษีที่พาลูกสะพายหลังหนีการตามล่าของกองทัพอังกฤษ ในเมือง Solapur (ภาพโดย Dharmadhyaksha, via Wikimedia Commons)

วันที่ 19 พฤศจิกายน เป็นวันคล้ายวันประสูติของ พระนางลักษมี ไบ (Lakshmi Bai) ส่วนปีเกิดของพระองค์ยังเป็นที่ถกเถียงว่าตรงกับปีใดแน่ระหว่างปี 1827 ไปถึงปี 1835 และพระองค์ก็คือราชินีแห่งจันษี (Jhansi) ผู้ถูกเปรียบว่าเป็นดั่งโจนออฟอาร์กแห่งอินเดีย

พระองค์เติบโตมาในราชสำนักที่ส่วนใหญ่มีแต่ผู้ชาย ทำให้ทรงเรียนรู้ทักษะอย่างการฟันดาบและขี่ม้ามาตั้งแต่เด็ก ก่อนเข้าอภิเษกสมรสกับ กันกาธาร์ เรา (Ghangadhar Rao) มหาราชาแห่งจันษี และทั้งคู่ได้รับราชบุตรบุญธรรมไว้ ก่อนที่องค์มหาราชาจะสิ้นพระชนม์โดยยังไม่มีรัชทายาทโดยสายเลือดไว้สืบราชสกุล

อย่างไรก็ดี ข้าหลวงใหญ่แห่งอังกฤษประจำอินเดีย ลอร์ดดาลฮูซี (Lord Dalhousie) ในฐานะผู้คุมกฎแห่งอนุทวีปอินเดียประกาศไม่รับรองการรับราชบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นรัชทายาทของทั้งคู่ ก่อนผนวกเอาดินแดนแห่งจันษีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ

แต่ราชินีแห่งจันษีไม่ยอมเสียอาณาจักรให้กับอังกฤษง่ายๆ หลังการก่อกบฏในปี 1857 ที่เมืองมีรุต (Meerut) พระองค์ประกาศตัวเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งจันษีใช้อำนาจในการปกครองแทนองค์มหาราชา (ที่อังกฤษไม่ยอมรับ) ซึ่งยังคงเป็นผู้เยาว์ ก่อนจัดการเตรียมกำลังรบของตน และพระองค์ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้นำกองกำลังกบฏในภูมิภาคตอนกลางของอินเดีย โดยมีกำลังกบฏในพื้นที่ใกล้เคียงคอยให้การสนับสนุน

ด้านกองกำลังของบริษัทอินเดียตะวันออกก็ค่อยๆ จัดการกับกองกำลังกบฏในพื้นที่ต่างๆ และรุกคืบเข้าหาจันษี จนกระทั่งเดือนมีนาคมปี 1858 กองทัพแห่งจักรวรรดิอังกฤษก็ล้อมเมืองจันษีไว้ได้

แต่แม้พระองค์จะเจอกับกำลังที่เหนือกว่า ราชินีแห่งจันษีก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ พระองค์กับองครักษ์กองเล็กๆ ได้ลอบหนีออกจากเมือง หลังทหารอังกฤษบุกทลายแนวป้องกันเมืองเข้ามาได้ เพื่อไปเข้าร่วมกับกองกำลังกบฏกลุ่มอื่นๆ

แต่หลังจากนั้น กองกำลังกบฏก็ต้องเสียทีให้กับกองทัพบริษัทอินเดียตะวันออกที่มีเทคโนโลยีและการจัดการที่เหนือกว่าเป็นลำดับ

ในการออกรบครั้งสุดท้ายราชินีแห่งจันษีได้แต่งกายอย่างนักรบชายออกต่อกรกับกองทัพของนายพลฮิวจ์ โรส (Hugh Rose) ของอังกฤษ ก่อนถูกสังหารกลางสมรภูมิ พระองค์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรสตรีของชาวอินเดียผู้หาญกล้าต่อกรกับกองทัพจักรวรรดินิยม และมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่ออุทิศให้กับพระองค์อยู่หลายแห่ง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Lakshmi Bai”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica Inc.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2561