11 มิถุนายน 2564: 143 ปี ชาตกาล ครูบาศรีวิชัย เจ้าตนบุญแห่งล้านนาไทย

ภาพครูบาศรีวิชัย คณะลูกศิษย์ และประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาที่แผ้วถางป่าดง

หากพูดถึงพระภิกษุสงฆ์ในดินแดนล้านนาที่ถูกกล่าวขานและได้รับศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนมากที่สุดรูปหนึ่งเห็นจะเป็น ครูบาศรีวิชัย หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกษุ พระมหาเถระซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างถนนขึ้นพระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2477 จนได้รับการขนานนามว่า “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” หมายถึง นักบุญแห่งล้านนา เป็นผู้ที่สร้างความเจริญรุ่งเรือง และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน

ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ “เฟือน” หรือ “อินท์เฟือน” บ้างเรียกท่านว่า “อ้ายฟ้าร้อง” เนื่องเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติผอดปกติ มีฝนตก ฟ้าร้อง ฝนฟ้าคะนอง หรือแผ่นดินไหว ในขณะที่ท่านกำลังเกิด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ชื่อว่า “อ้ายฟ้าฮ้อง” หรือ “อินเฟือน”

ครูบาศรีวิชัย เกิดปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 พลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือ ตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายควายกับนางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คือ นายไหว นางอ้วน นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย) นายแว่น และนายทา

ในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยยังเป็นฆราวาส ท่านเป็นผู้มีความเมตตาสูง คือท่านชอบแอบนำปลาที่พ่อแม่หามาได้ไปปล่อย ในวัยเด็กท่านมีอุปนิสัยแตกต่างจากเด็กรุ่นเดียวกันที่ชอบเล่นสนุกสนานตามประสา ท่านชอบเล่นปั้นพระ ปั้นพระธาตุ-เจดีย์ และฝักใฝ่ทางธรรมตั้งแต่เด็ก เมื่อเข้าสู่เพศบรรพชิต ท่านเป็นพระที่มักน้อย สันโดษ ไม่แสวงหายศถาบรรดาศักดิ์ เป็นพระที่เน้นวิปัสสนากรรมฐานอยู่ในป่าที่สงัด ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว และไม่ฉันอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์

ในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับรัฐสยามและองค์กรสงฆ์ส่วนกลาง อาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวประวัติของครูบาศรีวิชัย อย่างไรก็ตาม ผู้คนในปัจจุบันแทบจะไม่รับรู้เรื่องราวความขัดแย้งนี้ เนื่องจากความขัดแย้งของครูบาศรีวิชัยเป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจกันระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ และความขัดแย้งนั้นก็จบลงด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระสังฆราชในยุคนั้น หรือมองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องความไม่พอใจส่วนตัวของพระสงฆ์ในท้องถิ่นกับครูบาศรีวิชัยและได้หยิบยืมอำนาจที่ได้รับจากรัฐเพื่อใช้จัดการกับครูบาศรีวิชัย หรือกระทั่งลดทอนความสำคัญลงให้กลายเป็นเพียงเรื่อง “มารผจญ” เพื่อทดสอบบารมีของครูบาศรีวิชัย จนเป็นที่มาของวลีสำคัญที่ว่า “มารบ่มี ป๋ารมีบ่เกิด” ในการต่อสู้ของครูบาศรีวิชัยกับรัฐส่วนกลางเป็นการรักษาธรรมเนียมพุทธศาสนาแบบจารีตล้านนาอย่างเคร่งครัด จนทำให้ครูบาศรีวิชัยกลายเป็นสัญลักษณ์ของพุทธจารีตล้านนาและเป็นผู้อนุรักษ์ความเป็นล้านนา

ครูบาศรีวิชัยกับศิษย์ ที่วัดสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

งานก่อสร้างและการบูรณะพุทธสถานถือเป็นภาพลักษณ์หลักของครูบาศรีวิชัย กล่าวคือ ท่านได้เดินทางไปบูรณะก่อสร้างสถานที่แต่ละแห่งให้มีความยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญ เช่น การสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 5 เดือนเศษ ซึ่งมีผู้คนทั่วภาคเหนือเดินทางมาช่วยสร้าง โดยไม่ใช้งบประมาณจากรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งยังสัมพันธ์กับเรื่องการแสดงบารมี ความศักดิ์สิทธิ์ และอภินิหารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างหรือบูรณะสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ครูบาศรีวิชัยยังเป็นนักพัฒนาผู้มุ่งเน้นเรื่องการก่อสร้างบูรณะ อย่างการผายเบี้ยเสี่ยงทายเพื่อกำหนดวันและเวลาในการก่อสร้าง อาจกล่าวได้ว่าเรื่องราวของบารมี ความศักดิ์สิทธ์ และอภินิหารได้เสริมให้ภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยกลายเป็นผู้วิเศษหรือเป็น “ตนบุญ”

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าครูบาศรีวิชัยเป็นตนบุญผู้มีบารมีสูง ไม่ว่าจะผูกโยงกับอภินิหารต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ยังคงเป็นตนบุญผู้มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์  มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติทางศาสนา และที่สำคัญที่สุดคือเป็นตนบุญผู้ให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงพุทธศาสนา โดยเฉพาะการก่อสร้างบูรณะพุทธสถานสำคัญต่างๆ จำนวนมากในภาคเหนือ


อ้างอิง

พุทธะ “ครูบาศรีวิชัย”

ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว. (2562, มกราคม). “ครูบาคติใหม่ แต่งองค์ทรงเครื่อง พุทธศรัทธาหลังกึ่งพุทธกาล”. ศิลปวัฒนธรรม. หน้า 44-47


แก้ไขเพิ่มเติมในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 มิถุนายน พ.ศ.2563