16 ก.พ. 1959 ฟิเดล คาสโตร ผู้นำปฏิวัติเป็นนายกฯคิวบา เส้นทางเป็นผู้นำที่มีทั้งคนรักและชัง

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาดฟิเดล คาสโตร ผู้นำคิวบา

16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1959 ฟิเดล คาสโตร ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติทางคอมมิวนิสต์ในลาตินอเมริการับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคิวบา

ช่วงเวลาแห่งสงครามเย็น เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ส่งอิทธิพลต่อโลก เนื่องมาจากความขัดแย้งทางความคิดและนโยบายของชาติมหาอำนาจที่เป็นฝ่ายชนะเหนือฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง อันได้แก่สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ขนานนามว่าเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย กับสหภาพโซเวียตปราการเหล็กแห่งคอมมิวนิสต์

สงครามทางจิตวิทยาของมหาอำนาจทั้งสองได้ก่อให้เกิดบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือชายที่มีชื่อว่า ฟิเดล คาสโตร ผู้นำทางการเมืองของคิวบาและนำพาประเทศเข้าสู่การปกครองแบบคอมมิวนิสต์

การขึ้นสู่อำนาจของ ฟิเดล คาสโตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีคิวบาส่งผลหลายด้านต่อคิวบา ทั้งความสำเร็จในการลดอัตราประชากรที่ไม่รู้หนังสือ ช่วยให้ได้รับการศึกษา และการพัฒนาปรับปรุงดูแลสุขภาพของผู้คน แม้ว่าคาสโตรจะเป็น “ผู้นำที่ดี” สำหรับคนส่วนหนึ่งในคิวบา แต่สำหรับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกากลับมองว่าคาสโตรเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ อันนำไปสู่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา

เส้นทางการขึ้นสู่อำนาจในฐานะผู้นำของประเทศซึ่งมีบทบาทในเหตุการณ์สงครามเย็น เริ่มต้นจากสิ่งที่คาสโตรทำในช่วงเรียนกฎหมายอยู่ในมหาวิทยาลัยฮาวานาในปี 1947 เขาร่วมกับผู้ลี้ภัยชาวโดมินิกันและชาวคิวบา เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการรุกรานสาธารณรัฐโดมินิกันและล้มล้างอำนาจของพลเอกราฟาเอล ทรูจิลโร และคาสโตรก็มีส่วนร่วมในเหตุการณ์การจลาจลที่เมืองโบโกตาโคลัมเบีย ในเดือนเมษายน ปีถัดมา

ภายหลังจากที่คาสโตรจบการศึกษาในปี 1950 เขาได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาด้านกฎหมายไต่เต้าขึ้นมาเป็นสมาชิกของพรรค Orthodoxos และเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎรจากเขตฮาวานา ที่มีกำหนดการในเดือนมิถุนายน ปี 1952 แต่ในเดือนมีมาคมปีเดียวกัน รัฐบาลของประธานาธิบดีคารโลร ปริโอ โซคาร์รัส ถูกยึดอำนาจโดยอดีตประธานาธิบดีฟุลเฮนซิโอ บาติสตา พร้อมกับยกเลิกการเลือกตั้ง

คาสโตรรวบรวมและจัดตั้งกองกำลังก่อกบฏพร้อมกับนำกำลังเข้าโจมตีค่ายทหารในเมืองซาติอาโก เดอ คิวบา เขาถูกจับกุมและถูกตัดสินให้จำคุก 15 ปี เขาและราอูน น้องชายได้รับการการนิรโทษกรรมทางการเมืองเมื่อปี 1955 แต่เมื่อคาสโตรได้รับการปล่อยตัว เขาได้จัดตั้งกลุ่มปฏิวัติอีกครั้ง โดยมีชื่อเรียกว่า ขบวนการ 26 กรกฎาคม (ชื่อมาจากวันที่คาสโตรก่อกบฏครั้งแรก)

การสู้รบกับกองกำลังกบฏของคาสโตรยิ่งนานวันยิ่งทำให้กำลังทางการทหารของบาติสตา ถดถอยลง วี่แววความพ่ายแพ้เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งจอมเผด็จการบาติสตาหลบหนีออกนอกประเทศในวันที่ 1 มกราคม ปี 1959 นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของกองกำลังขนาดย่อมของคาสโตร เหนือกองทัพจำนวน 30,000 คน

ชัยชนะในเหตุการณ์โค้มล้มจอมเผด็จการ ทำให้คาสโตรกลายเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของรัฐบาลเฉพาะกาลแห่งใหม่ของคิวบา โดยมีมานูเอล เออร์รูเทีย เป็นประธานาธิบดี

ในเดือนกุมภาพัทธ์ ค.ศ. 1959 คาสโตรดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารัฐบาล และอีก 6 เดือนต่อมา คาสโตร กุมอำนาจทางการเมืองภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์

ผู้นำคิวบาเริ่มทำการปฏิรูปหลายอย่างภายในประเทศตามนโยบายที่เขาวางไว้ การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศเป็นของส่วนรวม การแบ่งสันปันส่วนที่ดิน ธุรกิจที่มีอเมริกาเป็นเจ้าของกิจการและที่ดินการเกษตรถูกเวนคืน ตอกย้ำกระแสต่อต้านอเมริกาของคิวบา

คาสโตร ยังทำข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพโซเวียตในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1960 ยิ่งทำให้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเริ่มวิตกกังวลและไม่ไว้ใจประเทศคิวบามากยิ่งขึ้น ในปีเดียวกันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างคิวบากับสหรัฐได้ตัดขาดความสัมพันธ์กัน ในปีต่อมา ช่วงเดือนเมษายน รัฐบาลสหรัฐฯได้ส่งกองกำลังขึ้นชายฝั่งเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของการอพยพของชาวคิวบาหลายพันคน การกระทำดังกล่าวส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียกำลังพลจากการถูกโจมตีโดยกองกำลังของคาสโตร

ความสัมพันธ์ของคิวบาที่มีต่อสหภาพโซเวียตและความบาดหมางกับสหรัฐอเมริกาได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญในสงครามเย็น นั่นคือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาที่ทำให้ทั้งโลกเริ่มวิตกว่ากำลังเข้าใกล้สงครามอีกครั้ง แต่ยังดีที่เรื่องราวสิ้นสุดลงด้วยการทำสัญญาถอนขีปนาวุธของชาติมหาอำนาจทั้งสอง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ยินยอมจะไม่ต่อต้านการปกครองของคาสโตร ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

การขึ้นสู่อำนาจของคาสโตรในวัย 33 ปี กินเวลายาวนานถึง 5 ทศวรรษ นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุที่อยู่ในตำแหน่งทางการปกครองได้นานอาจเป็นเพราะการปฏิวัติที่เขามีส่วนร่วมนั้นไม่ได้เกิดความสูญเสียร้ายแรงเหมือนประเทศอื่น แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังสั่งคุมขังบุคคลทางการเมืองไว้จำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เขาได้เป็นต้นแบบให้กับบุคคลสำคัญหลายรายในแถบลาตินอเมริกาในแง่การยึดมั่นในอุดมการณ์ของเขา (ต่อต้านอเมริกา) คาสโตร ทำให้ชาวคิวบาเริ่มพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าการพัฒนาบางด้านในประเทศคิวบาจะไม่ได้ทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว บางด้านถูกมองว่าล้มเหลว แต่คาสโตร ก็ยังเป็นบุคคลที่สำคัญในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สำหรับบางคนแล้ว คาสโตรเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ซึ่งมีทั้งคนรักและชัง



อ้างอิง :

“Fidel Castro POLITICAL LEADER OF CUBA”. ฺBritannica. Web. <https://www.britannica.com/biography/Fidel-Castro>

“ผลงานชีวิตของฟิเดล คาสโตร”. BBC. 27 พ.ย. 2016. ออนไลน์.  <https://www.bbc.com/thai/international-38122623>