เผยแพร่ |
---|
ย้อนกลับไปเมื่อในปีพ.ศ. 2506 วงการวรรณกรรมไทยได้สูญเสียหม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินห์ นักเขียนอันดับต้นๆ ของประเทศ จากอาการหัวใจวาย ที่บ้านพักสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในวัย 57 ปี
มรดกของหม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินห์ เป็นผลงานการประพันธ์อันทรงคุณค่า มีชื่อเสียง ทั้งยังเป็นต้นแบบในการเขียนสำหรับคนรุ่นหลังได้ศึกษาและเข้าใจในบริบททางสังคมที่สะท้อนผ่านงานเขียนภายใต้นามปากกา “ดอกไม้สด”
หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินห์ หรือเจ้าของนามปากกา “ดอกไม้สด” เกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 เป็นธิดาลำดับที่ 31 ของเจ้าพระยาเทเวศร วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) กับหม่อมมาลัย ที่วังบ้านหม้อ และเป็นพี่สาวร่วมบิดากับหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักเขียนเจ้าของนามปากกา “บุญเหลือ” เข้าศึกษาที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เมื่ออายุได้ 13 ปี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ทางภาษาฝรั่งเศส
เข้าสู่วงการน้ำหมึกตอนอายุ 20 ปี โดยเริ่มจากเขียนบทละครลงในหนังสือพิมพ์รายเดือนไทยเขษมเรื่อง ดีฝ่อ ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 2470 ซึ่งต่อมาก็ได้เขียนนวนิยายเรื่อง ศัตรูของเจ้าหล่อน ลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2472 นับว่าเป็นนิยายเรื่องแรกของ “ดอกไม้สด” ก่อนที่จะมีผลงานอื่นๆ ตามมา จนเมื่อ “ดอกไม้สด” หันมาเขียนนิยายเป็นเล่มแทนการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์รายเดือน ได้แก่เรื่องสามชาย ชัยชนะของหลวงนฤบาล หนึ่งในร้อย ผู้ดี อุบัติเหตุ นี่แหละโลก และนันทวัน
ผลงานจากปลายปากกา “ดอกไม้สด” มีบทละคร 1 เรื่องได้แก่ เรื่องดีฝ่อ (พ.ศ. 2470)
นวนิยาย 12 เรื่อง ได้แก่เรื่อง ศัตรูของเจ้าหล่อน(พ.ศ. 2472) นิจ(พ.ศ. 2472) นันทวัน(พ.ศ.2472) ความผิดครั้งแรก(พ.ศ. 2473) กรรมเก่า(พ.ศ. 2475) สามชาย(พ.ศ. 2476) หนึ่งในร้อย(พ.ศ. 2477) อุบัติเหตุ(พ.ศ. 2477) ชัยชนะของหลวงนฤบาล(พ.ศ. 2478) ผู้ดี(พ.ศ. 2480) นี่แหละโลก(พ.ศ. 2483) และวรรณกรรมชิ้นสุดท้าย (พ.ศ. 2492 : นิยายที่ยังแต่งไม่จบเนื่องจากเสียชีวิตก่อน)
เรื่องสั้น 20 เรื่อง ซึ่งได้รวบรวมเป็น 2 เล่ม ได้แก่บุษบาบรรณ และพู่กลิ่น
แน่นอนว่าผลงานการประพันธ์ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2470 ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ บนเส้นทางสายนักเขียน นิยายของ “ดอกไม้สด” มีลักษณะแนวเรื่องพาฝัน เช่นเรื่อง ศัตรูของเจ้าหล่อน กรรมเก่า กระทั่งหลังทศวรรษที่ 2470 ประสบการณ์ที่มาจากการเขียนเพิ่มมากขึ้น ได้นำมาพัฒนาแนวทางการเขียนไปในลักษณะงานที่มีความสมจริงตามแบบวรรณกรรมแนวสัจนิยม กับงานเขียนของตนเองนั้นทำให้ผลงานการเขียนของดอกไม้สด กลายเป็นที่รู้จักกันทั้งในแวดวงวรรณกรรม และผู้อ่านทั่วไป
ดอกไม้สด หรือ ม.ล. บุปผา จึงเป็นนักเขียนหญิงในยุคบุกเบิกนวนิยายไทย อันเป็นต้นแบบที่การเขียนนวนิยายสัจนิยมกึ่งพาฝัน ที่สะท้อนภาพสังคม วิถีชีวิตที่แม้ว่านิยายส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาไปในชนชั้นสูง แต่ในทางกลับกันกลับเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของแต่ละชนชั้นที่ย่อมเกี่ยวข้องกันในสังคม อุดมคติความคิดของผู้เขียนที่แสดงถึงบทบาทของสตรีที่มีต่อสังคม การสร้างบุรุษในอุดมคติที่ไม่ได้ชวนให้พาฝันในความสมบูรณ์แบบแต่เป็นบุรุษที่มีสังคมเช่น การมีภรรยาคนเดียว เป็นต้น และยังมีคำสอนทางพุทธศาสนาที่สอดแทรกลงไปในเรื่อง
“รสนิยมยมของคนรุ่นปัจจุบันจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่นวนิยายของดอกไม้สด ก็ยังอาจให้ความพอใจแก่ผู้อ่านในด้านความบันเทิง ความคิด ความงดงาม และความละเมียดละไมแห่งความรู้สึกเสมอ”
แม้นมาส ชวลิต จากบทความ “กาลเวลาจะยืนยันว่าคุณค่าของบทประพันธ์จะยืนยงหรือไม่เพียงไร” : นักเขียน ฉบับพิเศษ วันที่ 5 พฤษภาคม 2548 100 ปี 4 นักเขียนไทย)
อ้างอิง:
วิมลมาศ ปฤชากุล. (5 พฤษภาคม 2548). “ความหมายทางสังคม ของวรรณกรรม ‘ดอกไม้สด’” นักเขียน ฉบับพิเศษ : 85-95
แม้นมาส ชวลิต.(5 พฤษภาคม 2548). “กาลเวลาจะยืนยันว่าคุณค่าของบทประพันธ์จะยืนยงหรือไม่เพียงไร” นักเขียน ฉบับพิเศษ : 101-102
https://th.wikipedia.org/wiki/หม่อมหลวงบุปผา_นิมมานเหมินห์