รัฐประหารในพม่า “เนวิน” เปลี่ยนพม่าจาก “ส่งออกข้าวที่หนึ่งของโลก” เหลือแค่พอกิน

(ซ้าย) กำลังทหารพม่าในนครย่างกุ้งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1962 หลังทำการรัฐประหารได้ 2 วัน (AFP), (ขวา) นายพลเนวิน ผู้นำกองทัพและรัฐบาลพม่า ไม่ปรากฏวันที่ที่ทำการบันทึก (AFP)

พม่าหลังได้รับเอกราช (มกราคม 1948) เต็มไปด้วยปัญหาความวุ่นวาย เมื่อ อองซาน ผู้นำในการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศเสียชีวิตจากการลอบสังหาร อูนุได้ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสม์ (AFPFL) แทน ในขณะที่พรรคตกอยู่ในสภาพที่แตกแยกทั้งเรื่องอุดมการณ์ และนโยบาย ทั้งยังต้องเผชิญปัญหาใหญ่อย่างความขัดแย้งทางเชื้อชาติกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่าง ๆ

แม้อูนุจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เขาเข้ามาบริหารประเทศ แต่ปัญหาขาดเอกภาพภายในพรรค และการไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากชนชั้นสูง ตรงกันข้ามกับนักการเมืองที่มาจากครอบครัวระดับกลางทำให้การขับเคลื่อนประเทศเป็นไปอย่างยากลำบาก

ขณะที่กองทัพพม่าเมื่อผ่านการปฏิรูปขนานใหญ่หลังสงครามกลางเมือง ขจัดทหารกะเหรื่ยงที่ตกทอดมากจากสมัยอาณานิคมออกไป ทำให้กองทัพเข้มแข็งเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น เมื่อถึงปี 1958 รัฐบาลของอูนุไม่อาจรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลไว้ได้ จึงต้องร้องขอกองทัพภายใต้การนำของนายพลเนวินให้เข้ามาเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ 2 ปี ก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1960 ซึ่งอูนุชนะการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลฟื้นฟูระบบรัฐสภาขึ้นมาอีกครั้ง

แฟ้มภาพไม่ระบุวันที่ที่ทำการบันทึกของนายพลเนวินผู้นำกองทัพและรัฐบาลพม่า (AFP)

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 2 มีนาคม 1962 (พ.ศ. 2505) นายพลเนวินได้นำกำลังทหารพม่าเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลอูนุที่มาจากการเลือกตั้ง ล้มล้างรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งสภาปฏิวัติซึ่งประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่เป็นทหารเกือบทั้งหมด ภายใต้นโยบายปฏิรูปแบบสังคมนิยม และการโดดเดี่ยวตนเองจากสังคมโลก จนได้รับฉายาว่า “ฤาษีแห่งเอเชีย” เนวินทำให้พม่ากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในยุคทศวรรษที่ 1980

แม้ในด้านการปกครองคณะทหารจะประสบความสำเร็จในการยึดกุมอำนาจได้นานกว่า 3 ทศวรรษ แต่เศรษฐกิจของพม่าต้องถดถอยอย่างรุนแรง จากประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกกลายเป็นเพียงประเทศที่ผลิตข้าวได้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น การค้าและอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ ก็หยุดนิ่งทั้งหมด สินค้าอุปโภคบริโภคกลายเป็นของหายาก เกิดตลาดมืดไปทั่วจนไม่อาจควบคุมได้

ปัญหาการทุจริตยังทำให้ข้าราชการร่ำรวยขึ้น ขณะที่ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้รับการเหลียวแล

 


อ้างอิง :

Encyclopedia Britannica, พม่า ประวัติศาสตร์และการเมือง โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ประวัติศาสตร์พม่า โดย หม่องทินอ่อง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2559