3 สิงหาคม 2478 กลุ่ม “กบฏนายสิบ” ถูกจับกุมฐานวางแผนยึดอำนาจจากคณะราษฎร

ภาพทหารราบบนประติมากรรมนูนต่ำที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (เป็นภาพสะท้อนเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ) ภาพโดย Adam Carr, via Wikimedia Commons

3 สิงหาคม 2478 กลุ่ม “กบฏนายสิบ” ถูกจับกุมฐานวางแผนยึดอำนาจจากคณะราษฎร

เหตุการณ์ “กบฏนายสิบ” เกิดขึ้นด้วยความริเริ่มของกลุ่มนายทหารชั้นประทวน เพื่อยึดอำนาจจากคณะราษฎร ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชเพียง 2 ปี

“นายหนหวย” นักหนังสือพิมพ์ซึ่งมีชีวิตร่วมสมัยกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ของไทยตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 กล่าวถึงความรู้สึกรวมๆ ของบรรดานายสิบทั้งหลายว่า

“ผูกพันกับราชวงศ์และระบบเจ้าขุนมูลนายมาช้านาน มีความผูกพันทางจิตใจกับระบบเก่าและผู้บังคับบัญชาเก่าที่เคยอุปการะเลี้ยงดูกันมานาน เมื่อมาเปลี่ยนระบบด้วยวิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่าของผู้คุมอำนาจชุดใหม่ชั่วเวลา 2 ปีเศษ ความเข้าใจและความเคารพเห็นอกเห็นใจจึงมีน้อย และผู้บังคับบัญชาที่มาใหม่มาจากนอกวงทหารราบเป็นส่วนมาก คือมาจากฝ่ายเสนาธิการและหน่วยอื่น ไม่มีความผูกพันทางใจ”

แผนของกลุ่มนายสิบคือการควบคุมตัวผู้นำคนสำคัญของรัฐบาล ซึ่งนายหนหวยอ้างว่าตามแผนของกลุ่มนายสิบต้องการให้ “จับตาย” นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม, นายพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีตำรวจมือขวาหลวงพิบูลฯ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการ และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของนายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา)

หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)

กลุ่มนายสิบวางแผนที่จะลงมือในวันที่ 5 สิงหาคม 2478 แต่สุดท้ายแผนดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้นเนื่องจาก หลวงพิบูลสงครามมีคำสั่งให้จับตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2478 ก่อนหน้าที่กลุ่มนายสิบจะลงมือยึดอำนาจ

บทสรุปของเหตุการณ์ตามบันทึกของนายหนหวยคือ รัฐบาลใช้ความรุนแรงและดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในคดีกบฏในราชอาณาจักรปี พ.ศ. 2482 ถึงขนาดยิงเป้านายทหารชั้นผู้ใหญ่กับพวก 18 คน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีกบฏนายสิบที่เกิดขึ้นก่อนหน้า 3 ปี (พิจารณาโดยศาลพิเศษไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา จะขอพระราชทานอภัยโทษต้องฎีกาภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่มีการอ่านคำพิพากษา ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงพระราชวินิจฉัยใน 48 ชั่วโมงนับแต่ทรงรับฎีกา ให้ถือว่าไม่พระราชทานอภัยโทษ)

นอกจากนี้ความพยายามของศาลพิเศษที่ต้องการให้กลุ่มนายสิบซัดทอดถึงผู้อยู่เบื้องหลังก็ไม่เป็นผลสำเร็จ (รายงานของนายหนหวยอ้างว่า จำเลยทุกคนถูกถามหลายครั้งว่า “พระยาทรงสุรเดชเป็นหัวหน้าใช่ไหม”)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2560