ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเปิด “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” โรงพยาบาลที่สร้างขึ้นเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453
จุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งจากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส จึงเกิดการต่อสู้ของทหารของทั้งสองฝ่ายอยู่เป็นระยะๆ ทำให้มีทหารที่บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระราชประสงค์จะอนุเคราะห์ช่วยเหลือทหารผู้ได้รับบาดเจ็บในครั้งนั้น ด้วยการตั้งสภาการกุศลขี้นบรรเทาทุกข์แก่เหล่าทหารดังกล่าว
รัชกาลที่ 5 ทรงทราบความและทรงเห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดงแห่งสยาม” (ปัจจุบันคือ สภากาชาดไทย) ขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 2436 ทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นทุนแรกก่อตั้ง 80,000 บาท
ปี 2449 รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้มีการฟื้นฟูสภาอุณาโลมแดงที่ซบเซาหลังผ่านเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ให้ทันสมัยอีกครั้ง เนื่องจากจะมีการประชุมแก้ไข “สนธิสัญญากรุงเจนีวา” ที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทางการไทยได้รับเชิญไปร่วมการประชุมด้วย หากการพัฒนาสภาอุณาโลมแดงยังไม่แล้วเสร็จ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
รัชกาลที่ 6 องค์ประธานพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย ด้วยการสร้าง “โรงพยาบาลอุณาโลมแดง” (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย) เหตุผลที่ทรงเลือกเช่นนั้น ปรากฏในพระราชดำรัสของพระองค์ในวันเปิดโรงพยาบาล (30 พฤษภาคม 2457) ความตอนหนึ่งว่า
“ในการบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น ย่อมต้องระลึกดูว่า จะทำการอย่างใด จึงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย เราและพี่น้องจะฉลองพระเดชพระคุณได้ในทางใด…เมื่อระลึกดูดังนี้ก็เห็นได้ว่า…สิ่งไรทำขึ้นให้นำมาซึ่งความสุขความสำราญแก่ประชาชน สิ่งนั้นย่อมพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก….จึงตกลงกันว่า ถ้าสร้างโรงพยาบาลขึ้นเป็น ‘ราชานุสาวรีย์’ คงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นแน่แท้”
ส่วนเงินทุนในการสร้างโรงพยาบาลอุณาโลมแดง เกิดจากพระราชทรัพย์พระราชทานหลายส่วนด้วยกัน ได้แก่
- รัชกาลที่ 6 พระราชทานเงินส่วนพระองค์ 5,800 บาท
- รัชกาลที่ 6 พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ 141 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้าง
- พระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 พระราชทานพระราชทรัพย์ 122,910 บาท
- รัชกาลที่ 6 พระราชทานเงินของสภาอุณาโลมแดงทั้งหมดเข้าสมทบ 391,259.98 บาท
การก่อสร้างโรงพยาบาลอุณาโลมแดง เริ่มขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2454 บนที่ดินส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 6 ซึ่งก็คือบริเวณริมถนนพระราม 4 ในปัจจุบัน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จโปรดให้ขนานนามว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” ตามพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ 5 และเสด็จฯ ไปทรงเปิดโรงพยาบาลในวันที่ 30 พฤษภาคม 2457
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ “ทูลกระหม่อมดาวร่วง” ที่มาชื่อ “โรงพยาบาลศิริราช”
- ใครคือแพทย์ผู้ผ่าท้องทำคลอดเป็นคนแรกในประเทศไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
100 ปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พ.ศ. 2557.
ผศ.นพ. ถนอม บรรณประเสริฐ. “กำเนิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ใน, https://chulalongkornhospital.go.th สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 30 พฤษภาคม 2567