สัณฐานจักรวาล มีแกนกลาง คือ เขาพระสุเมรุ

ภาพจำลองสัณฐานจักรวาล มุมมองจากระดับตา แสดงชื่อเขาวงแหวนแต่ละวง มีระดับวงโคจรของดวงอาทิตย์ กับดวงจันทร์ ได้จากเขาพระสุเมรุและบริวาร หยั่งลึกลงไปในมหาสมุทรเท่าความสูงเหนือจากระดับน้ำมหาสมุทร ภาพปลาอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ หมายถึง ปลาอานนท์ที่หนุนพื้นพิภพ (ภาพนี้ทำโดย อ.สันติ เล็กสุขุม)

การก่อสร้างพระเมรุมาศ ย่อมยึดคติไตรภูมิในการก่อสร้าง โดยเปรียบเทียบว่า พระเมรุมาศนั้นคือ เขาพระสุเมรุ ศิลปวัฒนธรรมของนำเสนอเรื่อง สัณฐานจักรวาล ว่าคนโบราณมองเขาพระสุเมรุเป็นเช่นไร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ได้อธิบายถึงสัณฐานจักรวาล ในหนังสือ งานช่าง คำช่างโบราณ จัดพิมพ์โดย สนพ.มติชน ดังนี้

“คติความเชื่อของชาวพุทธ ว่าด้วยสภาวะของจักรวาลหนึ่ง มีแกนกลาง คือ เขาพระสุเมรุ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์นี้แวดล้อมด้วยมหาสมุทรและเขาวงแหวนเจ็ดวง (สัตบริภัณฑ์)

ภาพจำลองสัณฐานจักวาล มุมมองจากเบื้องสูง แสดงเขาพระสุเมรุเป็นประธานอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเขาเจ็ดวง ถัดจากวงแหวนนอกสุด คือ ทวีปทั้งสี่ ทั้งหมดมีสีทันดรสมุทรเป็นอาณาบริเวณโดยมีกำแพงจักรวาลกั้นล้อมเป็นวงนอกสุด (ภาพทำโดย อ.สันติ เล็กสุขุม)

ช่างเขียนวาดภาพสันนิษฐานจักรวาลสืบต่อกันมา ด้วยมุมมองจากระดับตา ใช้เชิงช่างช่วยในการออกแบบ คือแท่นกลางแทนเขาพระสุเมรุซึ่งสูงใหญ่ที่สุด และมีเขาเล็กกว่าขนาบข้าง ต่ำลดหลั่นลงมาข้างละเจ็ดแท่ง หมายถึงเขาวงแหวนเจ็ดวง

วรรณกรรมระบุไว้ว่า พ้นปริมณฑลของเขาสัตบริภัรฑ์ มี 4 ทวีป เช่น ชมพูทวีป เป็นอาทิ อันเป็นดินแดนเกิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถัดออกไปจนสุดเขาจักรวาลคือกำแพงจักรวาล ช่างโบราณมักวาดป่าหิมพานต์ไว้ที่เชิงเขาพระสุเมรุ ดิ่งลงไปเป็นนรกขุมต่างๆ ย้อนขึ้นไปที่ยอดเขาพระสุเมรุคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และสวรรค์ชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไปเป็นลำดับ อาทิ สวรรค์ชั้นดุสิต ซึ่งเป็นที่สถิตของพุทธมารดา พุทธบิดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ รวมทั้งพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย ถัดขึ้นไปอีกคือ สวรรค์ชั้นรูปพรหม อรูปพรหมตามลำดับอันเป็นแดนแห่งความว่าง จนถึงที่สุดก็ขั้นถึงสภาวะแห่งนิพพาน”