ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระมหาสังข์ หรือ สังข์ คือ ๑ ใน ๒ เครื่องประกอบการสรงพระมุรธาภิเษกและการถวายน้ำอภิเษก อันได้แก่ กลศ และสังข์ มักพบคํานี้คู่กันคือ น้ำกลศน้ำสังข์
กลศ หมายถึง หม้อน้ำที่ไม่มีพวย เป็นสัญลักษณ์มงคล หมายถึงความอุดมสมบูรณ์อันเป็นคติมาจากอินเดียแต่โบราณในทุกศาสนา คติทางศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อเกี่ยวกับกลศหลายประการ ทั้งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการเกิด หรือเป็นหม้อน้ำอมฤตที่เกิดคราวกวนเกษียรสมุทร และบางส่วนหมายถึงพระอุมาเทวี และยังเป็นของสำคัญสำหรับพราหมณ์ที่ใช้ในพิธีเชิญเทพเจ้า หรือบรรจุน้ำให้เต็มเพื่อบูชาทวยเทพอีกด้วย
สังข์ สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏชื่อพระสังข์ที่ใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ประกอบด้วย พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระสังข์ทอง พระสังข์เงิน
สังข์สำคัญที่ใช้ในการพระราชพิธีเรียก “พระมหาสังข์” มีการสร้างและใช้ในพระราชพิธีต่างๆ ทั้งสิ้น ๑๖ องค์ โดยมีพระมหาสังข์ที่เกี่ยวเนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่
พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงใช้สำหรับบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ สรงน้ำพระมุรธาภิเษกในงานพระราชพิธีปราบดาภิเษกของพระองค์ และเป็นพระราชประเพณีถือปฏิบัติสืบมาว่า ห้ามมิให้สตรีจับต้อง
พระมหาสังข์เพชรใหญ่ (ทักษิณาวัฏ) สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างขึ้นไว้ประจําถาดสรงพระพักตร์ และใช้สําหรับสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อเนื่องหลายรัชกาล
พระมหาสังข์เพชรน้อย (ทักษิณาวัฏ) ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในรัชกาลใด พระมหาสังข์ดังกล่าวใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงน้ำพระแก้วมรกต ในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงตามฤดูกาล และทรงใช้พระมหาสังข์นี้บรรจุน้ำพระพุทธมนต์ จากที่สรงน้ำพระแก้วมรกต หลั่งลงที่พระเศียรของพระองค์เอง แล้วหลั่งพระราชทานพระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ที่มาเข้าเฝ้าในพระราชพิธี
นอกจากนี้ พระมหาสังข์องค์นี้ยังใช้ในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นพระมหาสังข์สำหรับถวายพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย
อนึ่ง พระมหาสังข์ทั้ง ๓ องค์ข้างต้น เป็นเปลือกหอยสังข์ที่มีลักษณะพิเศษ ที่ปากเปิดออกทางขวา อย่างที่เรียกว่า “ทักษิณาวัฏ” ซึ่งปกติสังข์ทั่วไปปากจะเปิดออกทางซ้าย
อ้างอิงจาก
ดร. นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๖๒.
เว็บไซต์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒. http://phralan.in.th