“เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙” เรือพระราชพิธีลำใหม่ในรัชกาลที่ ๙

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เป็นเรือสำคัญในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรและสำนักพระราชวัง เริ่มสร้างเรือพระที่นั่งลำนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๗

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือพระที่นั่งลำใหม่ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร

การสร้างเรือพระราชพิธีลำใหม่นี้ กองทัพเรือได้เตรียมโครงการไว้เพื่อการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้มีงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๙ และกองทัพเรือจะได้น้อมเกล้าฯ ถวายเรือพระราชพิธีลำใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙” ตามหนังสือสำเนาราชเลขาธิการลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๗ นับเป็นเรือพระที่นั่งลำแรกที่สร้างในรัชกาลที่ ๙

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ การพระราชพิธีประกอบขึ้นระหว่างเวลา ๑๗.๑๕-๑๗.๔๙ นาฬิกา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย และทรงศีล ผู้บัญชาการทหารเรือครั้งนั้น พลเรือเอก ประเจตน์ ศิริเดช กราบบังคมทูลรายงานการสร้างเรือพระที่นั่งฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมหัวเรือ ทรงผูกผ้าสีชมพู และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงคล้องพวงมาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอกหมุดตอนกระดูกงูเรือ แล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ และทรงหลั่งทักษิโณทก

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธี พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา โหรพราหมณ์ทำพิธีบูชาฤกษ์ เจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัย เป่าสังข์และแกว่งบัณเฑาะว์ พิณพาทย์ทำเพลงมหาฤกษ์ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์สำหรับการประกอบพิธีมงคล

สำหรับการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นี้ กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรได้นำเอาโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มาเป็นแม่แบบ

โดยกองทัพเรือดำเนินการสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือ พายและคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด

อ้างอิงจาก

ณัฏฐภัทร จันทวิช. เรือพระราชพิธี จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร, ๒๕๓๙.