“ธงมหาราช” ธงสำหรับพระมหากษัตริย์ 

ธงมหาราช

“ธงมหาราช” เป็น “ธงสำหรับพระมหากษัตริย์” จัดอยู่ในประเภทธงพระอิสริยยศตามพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๕๒๒ ลักษณะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นสีเหลือง กลางธงเป็นรูปพระครุฑพ่าห์สีแดง

ธงสำหรับพระมหากษัตริย์ เริ่มมีครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะพื้นนอกมีสีแดง พื้นในสีขาบ ตรงกลางเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎประกอบฉัตรเครื่องสูง ๗ ชั้นทั้ง ๒ ข้าง ธงรูปพระมหาพิชัยมงกุฎนี้ เรียกกันเป็นสามัญขณะนั้นว่า “ธงจอมเกล้า”

ธงจอมเกล้า จัดทำขึ้นด้วยพระราชดำริว่า เมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือหลายลำ ราษฎรผู้ประสงค์จะถวายความเคารพ ไม่อาจสังเกตได้ว่าพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งลำใด จึงมีการเชิญธงจอมเกล้าประดับ ณ เรือพระที่นั่ง ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญขึ้นบนยอดเสาธงในพระบรมมหาราชวังด้วย แต่หากมิได้ประทับในพระนครแล้วก็จะเชิญ “ธงไอยราพต” ขึ้นแทน

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๐”  (พ.ศ. ๒๔๓๔) เป็นกฎหมายเกี่ยวกับธงฉบับแรกของสยาม เพื่อเป็นแบบแผนในการใช้ธงต่างๆ และเปลี่ยนนามธงใหม่ว่า “ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์” 

หากเชิญ “ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์” ขึ้นในที่แห่งใด เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ ที่แห่งนั้น หากประทับในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบแล้ว ต้องเชิญขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือนั้นเสมอ

นอกจากนี้ ยังทรงเปลี่ยนรูปแบบของธงใหม่ โดยเพิ่มโล่ตราแผ่นดินหรือตราอาร์มแผ่นดิน มีตราจักรีไขว้ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ภายในโล่ตราแผ่นดินช่องบน เป็นช้างเอราวัณสามเศียรพื้นเหลือง หมายถึง ดินแดนสยามเหนือ กลาง และใต้ ช่องล่างด้านขวา เป็นรูปช้างเผือกพื้นชมพู เป็นสัญลักษณ์ของดินแดนลาว และช่องล่างข้างซ้าย เป็นรูปกริชไขว้กันบนพื้นแดง หมายถึง มลายูประเทศ มีแท่นรองโล่และฉัตรเครื่องสูง ๗ ชั้นบนพื้นเหลือง เพื่อให้เป็นเครื่องหมายแห่งธงเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสยามินทร์แต่เพียงพระองค์เดียว

ต่อมาได้ทรงตรา “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๖” ใหม่ เปลี่ยนนามธงจาก “ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์” เป็น “ธงมหาราช” โดยยังคงลักษณะของธงและความหมายไว้เช่นเดิม แต่กำหนดขนาดและสัดส่วนของธงเพิ่มเติมเข้ามา  มีข้อกำหนดเพิ่มเติมว่าเมื่อนายทหารเชิญไปในกระบวนใด ให้เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนนั้น

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติธงใหม่ เรียกว่า “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙” ทรงเปลี่ยนรูปลักษณ์ของธงมหาราชใหม่ กำหนดเป็น ๒ ขนาด คือ “ธงมหาราชใหญ่” และ “ธงมหาราชน้อย”

“ธงมหาราชใหญ่” มีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน (รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) ศูนย์กลางเป็นรูปพระครุฑพ่าห์สีแดง คงลักษณะการใช้ไว้เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วน “ธงมหาราชน้อย” มีลักษณะเช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ปลายนั้นกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น รวมทั้งธงมีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ปลายครึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ ของด้านยาว

มีข้อกำหนดการใช้ธงมหาราชน้อย เช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่ถ้าเวลาใดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญธงมหาราชน้อย แทนธงมหาราชใหญ่ ให้งดยิงสลุตถวายคำนับ

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เชิญ “ธงมหาราช”

ซึ่งยังมีรูปลักษณ์แบบธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ประกอบด้ามธงขึ้นผูกกับเสาพระแท่นมณฑลภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็เชิญ “ธงมหาราชแบบใหม่” ขึ้นผูกกับเสาพระแท่นมณฑลแทน ถือเป็นพระราชประเพณีปฏิบัติกระทั่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

อนึ่ง ธงมหาราชเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คงด้วยพระราชประสงค์ให้สอดคล้องกับคติการทำไมตรีกันระหว่างพระนารายณ์-พญาครุฑ ที่พระนารายณ์ประทานพรให้พญาครุฑเป็นอมตะ และทรงให้สัญญาว่าจะให้นั่งบนที่สูงกว่าพระองค์ ฝ่ายพญาครุฑก็ยอมอาสาเป็นพาหนะให้กับพระนารายณ์ เหตุนี้ พระนารายณ์จึงทรงครุฑ และครุฑก็ได้อยู่ในธงที่งอนรถพระนารายณ์อันเป็นที่นั่งสูงกว่า

ดังนั้น เมื่อ “ธงมหาราช” ชักขึ้นสู่ยอดเสา ขณะพระมหากษัตริย์ประทับในพระบรมมหาราชวัง หรือในพระราชฐาน ย่อมเสมือนหนึ่งว่าพญาครุฑอยู่สูงกว่าพระมหากษัตริย์ อันทรงเปรียบเสมือนพระนารายณ์อวตาร เมื่อเชิญไว้ที่เสาธงด้านหน้าทางขวาของรถยนต์พระที่นั่ง หรือบนเสาเรือพระที่นั่งเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ย่อมประหนึ่งว่ามีครุฑทำหน้าที่เป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนิน


อ้างอิง

พิชญา สุ่มจินดา. “ธงสำหรับพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม ๒๕๕๙.