ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ธรรมเนียมอย่างหนึ่งหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พระมหากษัตริย์จะ “เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร” เพื่อให้พสกนิกรร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล และชื่นชมพระบารมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่
ธรรมเนียม “เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร” ให้พสกนิกรชื่นชมพระบารมี เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวงที่สำคัญโดยทางสถลมารค (ทางบก) และทางชลมารค (ทางเรือ) เพื่อให้ราษฎรทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีได้ “เฝ้าชมพระบารมี” เป็นครั้งแรก
พระราชพิธีนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่นับเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ธรรมเนียมนี้อาจสืบเนื่องมาจาก “พิธีราชสูยะ” ซึ่งมีการแห่แหนผู้ที่เป็นกษัตริย์ หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีในขั้นตอนการรับมอบราชสมบัติ และการทำสัตย์สาบานว่าจะปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นธรรม
คติเดิมนั้น เป็นพระราชพิธีที่กระทำขึ้นเพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์
รัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียม โดยให้พสกนิกรสามารถชื่นชมพระบารมี โดยไม่ต้องปิดประตูบ้านเรือนเมื่อกระบวนเสด็จผ่านเหมือนอย่างแต่ก่อนมา ซึ่งทำให้เกิดธรรมเนียมอย่างใหม่ขึ้นคือ การตั้งเครื่องบูชาสักการะของราษฎรเมื่อกระบวนเสด็จผ่าน
อ้างอิง
นนทพร อยู่มั่งมี. “พระราชพิธีและพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”, เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม ๒๕๖๒.