พระตำหนักพญาไท “บรรยากาศแห่งบ้านไร่นาสวน” ช่วงเวลาแห่งความสุขของ ร.5

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงดำนาที่นาหลวงพญาไท

“—ท้องไม่ค่อยจะสบาย จะรีบกลับ—” เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ที่พระตำหนักพญาไท ซึ่งเป็นสถานที่ที่โปรดปรานเสด็จฯ มาประทับพักพระราชอิริยาบถเสมอ ๆ ในระยะท้ายสุดแห่งพระชนมชีพ อันนับเป็นพระราชดำรัสครั้งสุดท้าย ณ สถานที่แห่งนี้ เพราะเมื่อเสด็จฯ กลับก็ทรงพระประชวร เสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

การสร้างพระตำหนักพญาไท สืบเนื่องมาจากพื้นที่ที่โปรดจัดไว้เป็นนาหลวงในวังสวนดุสิตนั้นโปรดให้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นท้องพระโรงสำหรับวัง จึงโปรดให้จัดหาที่นาหลวงแห่งใหม่ขึ้นในบริเวณทุ่งพญาไทซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวังสวนดุสิตมากนัก ทุ่งพญาไทซึ่งเป็นคลองขุดแคบ ๆ แยกมาจากคลองสามเสนทอดตัวผ่านกลางทุ่งไปบรรจบกับคลองมหานาค

ครั้งที่โปรดให้เตรียมที่สำหรับทำนาหลวงนั้น โปรดให้สร้างพลับพลาประทับชั่วคราวเพื่อทอดพระเนตรการทำนา เมื่อเสด็จฯ ประทับก็โปรดอากาศกลางทุ่งซึ่งมีลมพัดโกรกเย็นสบายสดชื่นตลอดวัน ทำให้พระนาสิกโล่งหายพระทัยสะดวกและปลอดโปร่ง จึงมีพระราชดำริให้สร้างเป็นนาและสวนสำหรับปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ดังที่เคยทอดพระเนตรเห็นในยุโรป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสนพระทัย และเอาพระทัยใส่ในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทุ่งพญาไทให้เป็นไปตามพระราชดำริ เริ่มจากการขุดขยายคลองพญาไทให้ลึกและกว้างเพื่อชักน้ำเข้าสู่ที่นาที่สวน และขุดแยกให้ผ่านเข้าไปตามที่โปรดกำหนดให้เป็นสวนผัก สวนดอกไม้ พระตำหนักฝ่ายหน้าฝ่ายใน และนาข้าว ปลายคลองไปสิ้นสุดที่นาหลวง โดยโปรดให้ขุดเป็นสระใหญ่และลึกสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี และยังโปรดให้ตัดถนนซังฮี้จากวังสวนดุสิตผ่านเข้ามาบริเวณทุ่งพญาไท ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาสั่งการ ความตอนหนึ่งว่า

“—ให้ขุดคลองพระยาไทย ด้านเหนือถนนซังฮี้ ซึ่งจะปลูกเข้าให้มีน้ำเดินได้ตลอดถึงคลองสามเสน ให้ปลูกพลับพลาข้างหน้าหลังหนึ่ง ข้างในหลังหนึ่ง ข้ามคนละฟากคลองเยื้องกันหน่อยหนึ่ง มีสะพานแล่นถึงกัน แลเรือนบริวารซึ่งไม่สำคัญ ที่ ๆ ปลูกพลับพลา 2 หลังนี้ จึงเปนในสวนหลวงหลังหนึ่ง เปนที่นาเคียงสวนหลังหนึ่ง—“

พระตำหนักหลังนอก ลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น รูปลักษณ์เรียบง่ายตามแบบบ้านชาวนาในชนบทของประเทศทางยุโรป โดยโปรดประยุกต์ให้เข้ากับภูมิประเทศของไทย เช่นหลังคากระเบื้องไม้สัก ชายคามีเท้าแขนไม้สลัก พื้นปูหินอ่อนและกระเบื้องลาย มีหน้าต่างโดยรอบเพื่อจะได้สัมผัสวิวทิวทัศน์และสายลมรอบด้าน พระตำหนักหลังในมีรูปแบบและใช้วัสดุเช่นเดียวกับพระตำหนักหลังนอก แต่ร่มรื่นงดงามด้วยไม้ยืนต้นและสวนดอกไม้ เพิ่มความงามชื่นด้วยสระบัวขนาดใหญ่หลังพระตำหนัก

ในส่วนที่เป็นสวนครัวอยู่ถัดจากพระตำหนักหลังนอกไปจนจดเขตวัดมะกอก โปรดให้ขุดท้องร่องปลูกผักนานาชนิด เป็นสวนผักขนาดใหญ่ที่สะอาดสวยงาม มีท้องร่องซึ่งมีน้ำใสเต็มเปี่ยม มีถนนดินเล็ก ๆ ผ่านอย่างมีระเบียบ มีกรงเลี้ยงไก่เล็กฮอร์นขาวไว้ 12 กรงรวมหลายร้อยตัว ในส่วนที่เป็นนาหลวงโปรดให้ขุดคลองคูนาและแต่งคันนากว้าง 5 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร ขุดบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ 2 บ่อ ขุดร่องทำไร่สับปะรด 30 ร่อง

ด้านหน้าพระตำหนักพญาไท รถยนต์หลวงจอดบนถนนซังฮี้

พระตำหนักพญาไทจึงมีบรรยากาศแห่งบ้านไร่นาสวนอย่างครบครัน มีทั้งความร่มรื่น รับลมท้องทุ่งเย็นสบายตลอดวัน ในคลองคูซึ่งคดเคี้ยวซอกซอนไปตามท้องทุ่งและสวนผักก็มีน้ำใสเต็มเปี่ยม ในสระใหญ่ก็มีบัวบานสะพรั่ง ในสวนครัวก็มีพืชผักงามสดอร่อย ในเล้าไก่มีไก่พันธุ์ดีที่ให้ไข่สด ในน้ำมีปลาและในนามีข้าว ด้วยบรรยากาศดังที่ว่าทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมเหสี เจ้าจอม และข้าราชสำนักทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในพากันตื่นเต้นกับบรรยากาศดังกล่าว จึงโปรดเสด็จและตามเสด็จมาที่วังพญาไททุกวัน โดยเฉพาะในฤดูทำนา สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ และข้าราชบริพารจะเสด็จมาที่ตำหนักพญาไทแต่เช้าทุกวัน

หม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ โสณกุล เล่าถึงบรรยากาศของนาหลวงพญาไทในช่วงนี้ไว้ว่า

“—ถ้าเป็นฤดูทำนา สมเด็จฯ มักเสด็จไปในตอนเช้า ทรงดำนากับพระราชวงศ์ฝ่ายในจนถึงกลางวัน ทรงพักสรงน้ำแล้วเสวยพระกระยาหารข้าวห่อที่โรงนา—“

และในพระราชหัตถเลขาที่โปรดพระราชทานพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขณะเสด็จเยือนบ้านเกิด (เมืองเชียงใหม่) ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในพระราชสำนักไว้ว่า

“—บางกอกในเวลานี้ ฝนตกเกือบจะไม่เว้นวัน เรื่องสนุกของชาววังนั้นคือ กำลังคลั่งทำนา ตั้งแต่แม่เล็ก เป็นต้น ลงดำนาเอง เลี้ยงดูกันเป็นหลายวัน ข้อที่เกลียดโคลนเลนนั้นหายหมด ทำได้คล่องแคล่ว ที่โรงนาเป็นที่สบาย—“

ในการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอาพระราชหฤทัยใส่กับการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทุ่งพญาไทตามพระราชดำริ ขณะดำเนินการจึงต้องเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรเนือง ๆ โดยโปรดขับรถไฟฟ้าจากวังสวนดุสิต และเมื่อวังพญาไทเป็นรูปร่างขึ้น ก็ยิ่งพอพระราชหฤทัย โปรดบรรยากาศและอากาศซึ่งโปร่งโล่ง ลมพัดโชยเย็นสบายตลอดทั้งวัน

ดังนั้น หลังจากเสร็จพระราชกิจบ้านเมืองจึงมักเสด็จประพาสวังพญาไทแทบทุกเย็น และในวันหยุดก็จะเสด็จฯ มาประทับพักผ่อนสำราญพระราชอิริยาบถทอดพระเนตรการทำนา ทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงไก่ และเสวยพระกระยาหารง่าย ๆ ประกอบด้วย ผักสด เนื้อสัตว์ ที่ปลูกเลี้ยงเอง ดังปรากฏเกี่ยวกับเรื่องนี้ในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับในช่วง พ.ศ. 2452-2453 เช่น

“—นอนฝันไปว่ากินมะเขืนต้ม เห็นจะเปนด้วยหิวเข้า เลยนึกอยากไปจริง ๆ ได้สั่งให้อาภาทำที่พญาไท สำหรับกลางคืนวันนี้ คิดอ่านจัดการหุงเข้ากับตาอ้นสักที— ไม่ต้องมีกับเข้าอื่นก็ได้ กินกันจน ๆ อย่างในเรือเมล์เสียสักที—“ และ “—13 ค่ำว่างคิดจะหาเข้ากินที่นาพญาไทอย่างเช่นครั้งก่อน ได้บอกดุ๊กและอาภา พระยาวรพงษ์ พระยาเวียงในไปแล้วให้คิดอ่านจัดการสำหรับกินเข้า เช่นครั้งก่อน—“ และ “—วันอาทิตย์กินเข้าที่พญาไทเช่นเคย—“

นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะการเสด็จประทับทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ ที่พระตำหนักพญาไท เป็นเวลาที่ทรงเพลิดเพลินอากาศที่โปร่งโล่งทำให้ทรงสบายพระวรกายและหายพระทัยสะดวก พระกระยาหารง่าย ๆ สด ๆ ที่เสวยอย่างไม่มีพิธีรีตองสบาย ๆ ทำให้เสวยได้มาก และการได้ตรัสเรื่องต่่าง ๆ กับพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด ทำให้สบายพระราชหฤทัย จึงโปรดเสด็จฯ ยังพระตำหนักพญาไททุกวันเมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง

แต่ความสุขสำราญในพระองค์ดำเนินไปไม่นานนัก เพราะในเย็นวันที่ 16 ตุลาคม ได้ทรงขับรถไฟฟ้าประพาสพระตำหนักพญาไทเช่นเคย แต่ในวันนั้นทรงขับรถพระที่นั่งทอดพระเนตรทั่วบริเวณ ทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง ดังที่เคยทรงปฏิบัติ มีรับสั่งว่า “—ท้องไม่ค่อยจะสบาย จะรีบกลับ—“ จึงเสด็จฯ กลับเร็วกว่าปกติ และก็มิได้เสด็จฯ มาพระตำหนักพญาไทอีกเลย

ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา ข้าหลวงผู้รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงคอยรับเสด็จอยู่ ณ วังพญาไท ทรงคอยอยู่นานจนทรงออกพระโอษฐ์บ่นว่า “ไม่มาก็ไม่บอก”

แต่ครู่เดียวก็มีมหาดเล็กอัญเชิญพระราชหัตถเลขามีข้อความทรงพระประชวรเสด็จมาไม่ได้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถจึงรีบเสด็จฯ กลับและอีกเพียง 2 วันต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2560