ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
“—ไหนใครๆ ว่าฉันมีบุญจะได้เป็น พระเจ้าแผ่นดิน ทำไมถึงเป็นไปเช่นนี้—” เป็นพระปรารภใน พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ขณะประชวรหนักใกล้เสด็จทิวงคต (ทิวงคต วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2467)
สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นพระราชโอรสที่ทั้งพระบรมราชชนกชนนีทรงสนิทเสน่หาและทรงเอาพระทัยใส่อย่างใกล้ชิด เมื่อทรงพระเยาว์มีพระพักตร์และพระวรกายอ้วนป้อมน่ารัก ตรัสเรียกอย่างทรงเอ็นดูว่า “ลูกเอียดเล็ก” แต่มีพระพลานามัยไม่สู้จะสมบูรณ์นัก ประชวรหนักหลายครั้ง
เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จประพาสชวา พ.ศ. 2444 ได้โดยเสด็จพระบรมราชชนกชนนีด้วย ขณะเสด็จประทับอยู่ที่โฮเต็ลโฮมันน์ เมืองบันดุง ประชวรไข้ไทฟอยด์ มีพระอาการหนักมาก เล่ากันว่าถึงขั้นเตรียมการว่าจะสิ้นพระชนม์
ทั้งพระบรมราชชนกชนนี ทรงเศร้าโศกเสียพระทัย ทรงพระกันแสงเมื่อทรงเห็นพระอาการ ตรัสว่าเหมือนกับจะถูกใครเอาไปประหารชีวิตวันละ 2 ครั้ง 3 ครั้ง บรรยากาศสลดหดหู่เงียบเหงา บางวันดูเหมือนพระอาการหนักจะสิ้นพระชนม์ เวลาทรงไม่สบายทรงร้องจะเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ทูลว่า “—ทูลหม่อมป๋าคะ เอียดเล็กทูลลา—“
ยิ่งทำให้พระบรมราชชนกชนนีทรงโศกเศร้ามากขึ้น แต่พระชาตาชีวิตยังไม่ทรงถึงที่สิ้นจึงมีหมอแขกชวารับรักษานานกว่าเดือน โดยใช้ผ้าโสร่งชุบน้ำแข็งพันพระองค์จนไข้ลด พระอาการค่อยทุเลาลง
ด้วยเหตุที่พระพลานามัยไม่ทรงสมบูรณ์ดังกล่าว ทำให้พระบรมราชชนกชนนีทรงห่วงใยกว่าพระราชโอรสพระองค์อื่น เช่น เมื่อมีพระชนมายุสมควรออกวัง ก็โปรดให้สร้างวังที่ประทับ คือวังสวนกุหลาบ ตั้งอยู่บริเวณส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต
และทรงได้รับการยกเว้นหลายอย่าง เช่น ทรงศึกษาต่างประเทศในระยะเวลาสั้นๆ โปรดให้เข้าเฝ้าตามพระทัย ด้วยทรงเกรงจะกระทบกระเทือนพระพลานามัย แม้เมื่อทรงพอพระทัยนางสาวแผ้ว สุทธิบูรณ์ สตรีสามัญชน ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสเป็นพระชายา ตำแหน่งหม่อมแผ้ว นครราชสีมา ก็ไม่มีผู้ใดขัดพระทัย
พระปรารภที่ว่า “ฉันมีบุญจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน” สืบเนื่องมาจากการที่พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงกราบบังคมทูลขอพระพรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระองค์ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แทนสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่เสด็จสวรรคต ว่าขอให้สิทธิในการเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ อยู่ในพระราชโอรสของพระองค์จนสิ้นสายวงศ์ จึงจะเริ่มสายวงศ์ของพระมเหสีพระองค์อื่น ซึ่งก็ทรงได้รับพระพรนั้น
ด้วยเหตุนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์ ฐานะพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีสิทธิในราชบังลังก์เป็นลำดับที่ 2 ต่อจากจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระเชษฐา แต่หลังจากที่กรมหลวงพิษณุโลกฯ เสด็จทิวงคตอย่างกะทันหันเมื่อพระชนมายุเพียง 38 พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์ จึงทรงมีสิทธิในพระราชบังลังก์เป็นลำดับที่ 1 ตามกฎมณเฑียรบาล หมวดที่ 4 ว่าด้วยลำดับชั้นผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์ ระบุไว้ชัดเจนว่า
“—หากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตลง โดยที่มิได้ทรงสมมติพระรัชทายาทไว้ก่อนตามกฎมณเฑียรบาล กำหนดให้เลือกสายตรงก่อนเสมอ—“
เพราะเหตุว่าในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยังไม่มีพระราชโอรส อันถือเป็นรัชทายาทสายตรง ทุกคนจึงหมายว่าหากสิ้นรัชกาลเมื่อใด สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์ก็จะต้องได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติอย่างแน่นอน จึงมีผู้คนบางพวกบางกลุ่มแห่ล้อมถวายพระพรว่า ทรงเป็นผู้มีบุญจะได้เป็น พระเจ้าแผ่นดิน
พันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ นายทหารผู้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระอาการประชวรจนเสด็จทิวงคต ไว้ในหนังสือเรื่องการดำเนินชีวิตของพันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ ความตอนหนึ่งว่า
“—เมื่อวันทิวงคตนั้น เฝ้าอยู่ข้างพระที่ตลอดเวลา ประชวรครั้งนั้นประชวรไข้ ทรงร้อนมาก ตรัสถามหมอว่าจะอาบน้ำได้หรือไม่ หมอทูลว่าได้ จึงลงแช่พระองค์ในอ่าง พอขึ้นมาก็มีพระอาการปับผาสะบวม ขณะประชวรน้ำพระเนตรไหล ตรัสว่า ‘ไหนใครๆ ว่าฉันมีบุญ จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทำไมถึงเป็นไปเช่นนี้’ รับสั่งเสร็จไม่ถึงชั่วโมงก็เสด็จทิวงคต—“
การเสด็จทิวงคตของพระราชโอรสผู้มีสิทธิในพระราชบัลลังก์เป็นไปอย่างรวดเร็ว และในระยะเวลาอันสั้น ถึง 3 พระองค์ คือจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
เป็นเหตุให้สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ พระราชโอรสพระองค์ท้ายสุดในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่มิได้มีผู้คาดหมายว่าจะต้องรับพระราชภาระใหญ่ยิ่งนี้ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของพระราชดำรัส รัชกาลที่ 7 แก่ชาวจีน “ข้าพเจ้าเองก็มีเลือดจีนปนอยู่”
- ปัญหาตั้งรัชทายาทสมัยร.6 เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ปะทะฝีปากเจ้านาย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2561