ปัญหาตั้งรัชทายาทสมัยร.6 เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ปะทะฝีปากเจ้านาย

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา ก็เกิดความกังวลเรื่อง ‘รัชทายาท’ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของพระราชบัลลังก์และชาติ ในเวลานั้นรัชกาลที่ 6 ยังมิได้เสกสมรสและมีพระราชโอรส ปัญหาการตั้งรัชทายาทจึงเป็นปัญหาสำคัญเมื่อตอนต้นรัชกาล

รบเร้าตั้งรัชทายาท

เจ้านายที่ใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 สองพระองค์ที่ทรงเป็นห่วงเรื่องรัชทายาทคือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (พระราชมารดาในรัชกาลที่ 6) และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พระอนุชาร่วมพระชนนีในรัชกาลที่ 6, ในที่นี้รัชกาลที่ 6 ตรัสเรียกว่า ‘น้องชายเล็ก’) ดังที่รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกเล่าไว้ว่า “…การที่ปัญหาเรื่องตั้งรัชทายาทได้เกิดเปนเรื่องเร่งร้อนขึ้นนั้น เพราะน้องชายเล็กเธอรบเร้าฉันนัก, และเสด็จแม่ก็ได้ทรงช่วยรบเร้าด้วย, โดยมีพระดำรัสว่า ตัวฉันเองก็ยังมิได้มีมเหษี, ฉนั้นถ้าฉวยว่ามีเหตุการณ์อันไม่พึงปรารถนา ฉันล้มตายลง ก็อาจจะเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้นได้…”

และทรงเล่าอีกว่า ขณะที่รอฟังข่าวสวรรคต ซึ่งทรงทราบแน่แล้วว่ารัชกาลที่ 5 “…ประชวรหนัก ไม่มีหนทางรอดแน่แล้ว…” อยู่นั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ได้เตือนว่า กิจการขั้นต้นอย่างหนึ่งที่ทรงควรกระทำให้เรียบร้อยแต่แรกคือการตั้ง “รัชทายาท” ป้องกันไม่ให้มีผู้ใดเข้าใจผิด

ทั้งนี้เพราะในเวลานั้น เป็นที่รับรู้กันว่ารัชกทาลที่ 5 ตรัสเรียก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสอีกพระองค์ว่า “เจ้าฟ้าองค์ที่ 2” ซึ่งทรงเป็นรองจากรัชกาลที่ 6 ในบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอชั้นเจ้าฟ้าทั้งหลาย จึงมีความกังวลว่าอาจเกิดการเข้าใจผิดขึ้นว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ อาจมีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์

ภายหลังจากรัชกาลที่ 5 สวรรคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ก็ทรงเร่งเร้ารัชกาลที่ 6 สมเด็จฯ พระพันปีหลวงก็ทรงคอยเตือนอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การรบเร้าของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ไม่ได้มีส่วนสำคัญให้รัชกาลที่ 6 ทรงต้องรีบจัดการเรื่องตั้งรัชทายาท ดังที่ทรงบันทึกเล่าไว้ว่า

“…เพราะตามความจริงฉันเองก็ได้รู้สึกอยู่ว่าเปนปัญหาอันถึงเวลาที่จะต้องวินิจฉัยและวางระเบียบเพื่อให้เปนการเรียบร้อยและมั่นคงสืบไป. ความรบเร้าของน้องชายเล็กเปนแต่ได้เร่งให้ฉันคิด และจัดการวางระเบียบการอันนั้นเร็วขึ้นหน่อยเท่านั้น…”

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ประชุมพิเศษ

ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนัดพิเศษเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ที่สำคัญเพื่อปรึกษาราชการแผ่นดินและการตั้งรัชทายาท ในที่ประชุมประกอบไปด้วย รัชกาลที่ 6, สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ, กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4), กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4), กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4), กรมพระสมมตอมรพันธุ์ (พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4), กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4) และกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5)

โดยรัชกาลที่ 6 ทรงปรารถและทรงแสดงความเห็นเรื่องการตั้งรัชทายาทว่า ความมั่นคงของพระราชวงศ์ก็คือความมั่นคงของสยาม พระราชวงศ์จะมั่นคงอยู่ได้ก็ด้วยมีรัชทายาทที่มั่นคงจะได้สืบราชบัลลังก์ต่อไป และทรงเห็นควรให้ตั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เป็นรัชทายาทจนกว่าพระองค์จะทรงมีพระราชโอรส

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงอธิบายถึงธรรมเนียมการสืบราชสันตติวงศ์ สรุปได้ว่า ประการแรก เนื่องจากรัชกาลที่ 5 พระราชทานตำแหน่ง “พระบรมราชินีนาถ” และผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แด่สมเด็จฯ พระพันปีหลวง เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440 จึงนับว่าสมเด็จฯ พระพันปีหลวง เป็นพระอัครมเหสีตามโบราณราชประเพณี ดังนั้น พระราชโอรสก็ย่อมจะทรงความสำคัญตามพระราชอิสริยยศของพระราชมารดาด้วย

อีกประการคือ รัชกาลที่ 5 พระราชทาน ‘พระชัยนวโลหะ’ แด่รัชกาลที่ 6 ซึ่งเคยมีพระราชดำริที่จะพระราชทานแด่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาก่อน โดยรัชกาลที่ 5 ทรงกำชับกับรัชกาลที่ 6 อันเป็นที่พึงเข้าใจว่า พระราชทานไว้ให้เฉพาะบรรดาพระราชโอรสที่ประสูติแต่สมเด็จฯ พระพันปีหลวง ให้พระราชโอรสผู้มีพระชนมายุสูงสุดรักษาไว้จนถึงสิ้นพระชนมายุ แล้วจึงให้รักษาตกทอดกันไปตามลำดับพระชนมายุ

เหตุผลทั้งสองประการข้างต้น จึงสนับสนุนสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติในสายพระราชโอรสที่ประสูติแต่สมเด็จฯ พระพันปีหลวง ดังนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ จึงทรงมีความเหมาะสมที่จะได้รับการตั้งเป็น “รัชทายาท” สืบราชสันตติวงศ์สืบไป ซึ่งในที่ประชุมก็มิได้มีเจ้านายพระองค์ใดโต้แย้งหรือคัดค้าน

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ

เสียงคัดค้าน

รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกเล่าว่า ในที่ประชุมไม่มีใครกล้าคัดค้านเพราะ “…เขาพากันเกรงน้องชายเล็ก…” คือเกรงพระทัยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ปรากฏว่าสองวันต่อมา กรมพระยาดำรงราชานุภาพมาเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 6 กราบทูลว่า ในบรรดาองคมนตรีมีผู้คัดค้านการตั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เป็นรัชทายาท เพราะ “…เขาพากันรังเกียจเรื่องเมีย…” กล่าวคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงมีพระภรรยาเป็นชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้นไม่ได้ทรงรังเกียจแต่ประการใด แต่ทรงเป็นกังวลว่า หากมีการประกาศออกไปแล้วเกิดเสียงคัดค้านในหมู่องคมนตรี ก็จะเป็นการไม่ดี และ “…อีกประการหนึ่ง ถ้าแม้ว่าได้ยกย่องน้องชายเล็กขึ้นเปนรัชทายาทแล้ว เมื่อฉันมีลูกออกมา น้องชายเล็กจะมิต้องกลับถอยหลังลงไปอีกหรือ…” ซึ่งอาจทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เสื่อมเสีย

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นควรว่า ให้รัชกาลที่ 6 ทรงเขียนเป็นหนังสือไว้ว่าจะให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เป็นรัชทายาท และให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงเขียนหนังสือปฏิญญาณว่า จะไม่ตั้งพระโอรสเป็นรัชทายาทสืบต่อไป และให้เก็บรวมหนังสือสองฉบับไว้ที่อาลักษณ์เก็บรักษา

ต่อมา รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เข้าเฝ้า ทรงเล่าความต่าง ๆ ที่ได้ตรัสกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพให้ทรงทราบ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงเห็นว่า หากให้พระองค์ทำหนังสือปฏิญาณนั้นจะทรงทำตามที่รัชกาลที่ 6 ทรงปรารถนา แต่หนังสือที่จะให้รัชกาลที่ 6 ทรงเขียนขึ้นนั้นจะเป็นผลร้ายมากกว่า

ทรงอธิบายว่า ถ้าไม่มีหนังสือนี้ แล้วเสนาบดียกเจ้านายพระองค์อื่นเป็นพระมหากษัตริย์ จะไม่ทรงโต้เถียงเลย แต่หากมีหนังสือนี้ แล้วเสนาบดีไม่ทำตามพระราชประสงค์ ยังคงยกเจ้านายพระองค์อื่นเป็นพระมหากษัตริย์ “…ก็คงจะต้องคัดค้านหรือถึงแก่ต่อสู้จนสุดกำลัง…” ซึ่งรัชกาลที่ 6 รับสั่งว่าทรงเห็นใจ แต่จะกระทำการใดเป็นการรุนแรงก็อาจทำให้เกิดความบาดหมางขึ้นในพระราชวงศ์

นอกจากนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ยังทรงเล่าให้รัชกาลที่ 6 ฟังว่า “…ได้ทราบเค้าจากเสด็จแม่ว่า ผู้ที่คัดค้านในการตั้งเธอเปนรัชทายาทอย่างแขงแรงนั้นคือ………. เพราะฉนั้นเธอไม่เห็นว่าเปนข้อสำคัญอันใดนัก…”

แรงปะทะ

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงส่งหนังสือคำปฏิญญาถวายรัชกาลที่ 6 ในหนังสือนี้ยังมีคำอธิบายเพิ่มเติมอีกอันมี “…ถ้อยคำบางแห่งรุนแรงมากอยู่ สำแดงปรากฏว่าน้องชายเล็กมีความโกรธเคืองผู้ที่ระแวงสงสัยในตัวของเธอ…” วันนั้นเอง รัชกาลที่ 6 จึงเรียกประชุมพิเศษอีกครั้งหนึ่ง มี กรมพระนเรศรวรฤทธิ์, กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์, กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ, กรมพระสมมตอมรพันธุ์ และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เข้าร่วมประชุม

เมื่อปรึกษาข้อราชการเรียบร้อย จึงปรึกษาเรื่องตั้งรัชทายาทอีกครั้ง เจ้านายผู้ใหญ่เห็นควรให้ตั้งรัชทายาทเป็นการเงียบ ๆ เพื่อไม่ให้มีผู้ใดคัดค้าน และอ้างเหตุอื่น ๆ ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยกราบทูลรัชกาลที่ 6 เมื่อวันก่อน

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 6 ทรงมีความเห็นต่างออกไป การทำเป็นทางลับนั้นทรงเชื่อว่าจะไม่เป็นผลดี ทรงเห็นว่าควรให้ประกาศต่อที่ประชุมเสนาบดีสภา และให้มีการลงนามไว้ด้วย จนที่ประชุมก็ “…ออกจะอึ้ง ๆ อยู่…” แต่ก็มิได้ทรงรับสั่งอะไรต่อไป แล้วจึงรับสั่งให้กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการรับไปปรึกษากับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ให้แก้ไขหนังสือปฏิญญา

ภาพวาดสีน้ำมัน (จากซ้าย) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ, สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2453 หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ลงข่าวว่า รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เป็นรัชทายาท วันต่อมา สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงเขียนจดหมายกราบทูลรัชกาลที่ 6 ดังที่รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกเล่าไว้ว่า “…น้องชายเล็กกล่าวต่อไปด้วยว่า การแตกร้าวนั้นถ้ามีก็จำจะต้องปราบปรามให้สูญสิ้นไป, แต่ที่จะติดปิดบังไว้นั้น เห็นว่าอย่างไร ๆ ก็ปิดไม่มิดชิดได้ ‘เพราะใคร ๆ ก็ย่อมทราบอยู่เกือบจะทั่วกันแล้ว ว่าใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้ทรงเลือกให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนรัชทายาท’…”

นอกจากนี้ ในจดหมายฉบับนี้ยังทรงอธิบายว่า เจ้านายผู้ใหญ่บางพระองค์ทรงไม่เห็นชอบการตั้งพระองค์เป็นรัชทายาท จึงวานให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพไปเข้าเฝ้ากราบทูลรัชกาลที่ 6 ให้ทรงเปลี่ยนพระทัย ซึ่งเรื่องนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงทราบมาจากกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชอีกทอดหนึ่ง และในท้ายจดหมายยังระบุอีกว่า กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชทรงมีความเห็นพ้องกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ว่า ทรงไม่พอพระทัยเจ้านายผู้ใหญ่ในความประพฤติและถ้อยคำ และทรงอ้างว่ากรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชตรัสว่า “ส่วนการแตกร้าวนั้น, ในกรุงเทพฯ นี้เท่านั้นก็มีดาบปลายปืนอยู่แปดพันแล้ว”

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 6 ทรงไม่เชื่อว่ากรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชจะคิดอ่านเช่นข้อความในจดหมายนั้น วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2453 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชมาเข้าเฝ้า รัชกาลที่ 6 ทรงสอบถามความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชทรงมีความเห็นสรุปได้ว่า การตั้งรัชทายาทเป็นเรื่องจำเป็น แต่ทรงไม่เห็นด้วยว่าจะให้ทำเป็นการเงียบ ๆ ส่วนเรื่องที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงมีพระภรรยาเป็นชาวต่างชาตินั้น ก็ทรงตะขิดตะขวงและหนักพระทัยอยู่ไม่น้อย เกรงว่าจะเป็นอันตรายถูกคนต่างชาติชักจูง และหากจะตั้งรัชทายาทเห็นควรให้กระทำต่อหน้าเสนาบดีสภา และให้ลงนามเพื่อเป็นพยาน

ต่อยปาก

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 มีการประชุมพิเศษปรึกษาเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 ได้นำเรื่องตั้งรัชทายาทมาปรึกษาด้วย โดยเป็นอันตกลงว่าจะให้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศในที่ประชุมเสนาบดีสภา และให้ทุกคนลงนามการตั้งรัชทายาท

ต่อมา รัชกาลที่ 6 “…จึ่งได้มีจดหมายถึง………. กล่าวถึงเรื่องเลือกรัชทายาท ชี้แจงความประสงค์ของฉันและบอกไปด้วยว่า น้องชายเล็กเต็มใจที่จะปฏิญญาว่าจะไม่ให้ลูกของเธอเปนรัชทายาท. ที่ฉันมีจดหมายไปถึง………. เช่นนี้ ก็เพราะน้องชายเล็กได้บ่นและฟ้องอยู่แทบมิได้เว้นแต่ละวันว่า………. พูดเช่นนั้นกล่าวเช่นนี้, ฉันเกรงจะทำให้เปนเรื่องอื้อฉาวใหญ่โตมากไป, จึ่งตั้งใจที่จะให้สงบเรื่อง. ……….มีลายพระหัตถ์ตอบฉันยืดยาว สรุปรวมใจความว่าไม่เห็นด้วยในการที่จะเลือกหรือแสดงให้ปรากฏว่าเลือกผู้ใดเปนรัชทายาท…ต่อนั้นไป………. ได้กล่าวข้อความยืดยาว แสดงความระแวงแคลงใจต่าง ๆ ในส่วนตัวของน้องชายเล็ก, หาว่ามักใหญ่ใฝ่สูง อยากเปนพระปิ่นเกล้าหรือวังน่าสุรสีย์, จึ่งได้หนุนให้ฉันตั้งเปนรัชทายาท และอ้างเอาอำนาจฝรั่งมาขู่จะให้กลัว…และเห็นว่าน้องชายเล็กเปนผู้กำเริบ ควรให้ฉัน ‘ทรงกำราบให้ละพยดเสียบ้าง’…”

รัชกาลที่ 6 ทรงมีจดหมายตอบกลับเจ้านายพระองค์นั้นว่า ทรงได้ตริตรองเรื่องตั้งรัชทายาทแล้ว เห็นว่าการตั้งรัชทายาทจะทำให้เกิดความมั่นคง ทรงขอให้ “……….” อย่าทรงวุ่นวายให้เกิดเป็นเหตุแตกร้าว อันจะเป็นที่ขัดเคืองพระทัยในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรื่องตั้งรัชทายาทจึงสงบไปชั่วขณะหนึ่ง

หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปได้ไม่นาน รัชกาลที่ 6 ทรงได้รับจดหมายจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ว่า มองสิเอร์ นิโคไล เอ็ลเตะก็อฟ อุปทูตรัสเซียได้เข้าเฝ้าสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และเล่าว่า “……….” ได้ไปเที่ยวกล่าวแก่ชาวต่างชาติว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงเป็นรัชทายาทไม่ได้ โดยนำหนังสือเล่มหนึ่งเป็นหนังสือโบราณ ไม่ปรากฏว่าเป็นตำราอะไร ทราบเพียงเป็นภาษาสันสกฤตแล้วนำมาเปิดให้ชาวต่างชาติดู ทำให้เกิดข่าวลือไปทั่วว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงเป็นรัชทายาทไม่ได้ ต้องเลือกเจ้านายพระองค์อื่นแทน

ข่าวลือไปถึงขั้นว่ารัชกาลที่ 6 ทรงเรียกสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย พระอนุชาอีกพระองค์หนึ่งกลับจากต่างประเทศ และหมายจะตั้งเป็นรัชทายาทแทน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ จึงทรงเห็นว่า “ควรรีบลงข่าวจริงในหนังสือพิมพ์ เพื่อตัดความลือเหล่านี้ต่่อไป” ทรงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการตั้งรัชทายาทเพื่อความมั่นคง จึงทรงกระตุ้นและแนะนำให้รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งรัชทายาทและประกาศให้รับรู้โดยเร็ว และในท้ายจดหมายฉบับเดียวกันนี้ทรงเขียนว่า “ถ้าการมียุ่งอยู่ต่อไปเช่นนี้น่ากลัวจะถึงต้องต่อยปาก………. คราว 1”

รัชกาลที่ 6 ทรงมีจดหมายตอบถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ว่า “…ฉันได้รีบตอบตักเตือนไปให้เหนี่ยวรั้งสติไว้บ้าง…”

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (ภาพจากหนังสือ “สมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร ๒๕๔๗)

“……….” คือเจ้านายพระองค์ใด?

รัชกาลที่ 6 ทรงพิจารณาไม่ออกว่า “……….” จะนำหนังสือสันสกฤตอะไรไปให้ชาวต่างประเทศดู ทรงมีความเห็นว่า “…ไม่เห็นจะเข้าเรื่องอะไรเลย…ถ้าจะว่าแสดงอะไรให้ปรากฏก็ต้องว่าแสดงกระแสร์อุบายของน้องชายเล็กเองให้ปรากฏ…” และทรงสรุปจดหมายฉบับข้างต้นที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงมีถึงพระองค์ว่า “…(1) ปรารถนาให้ฉันตกลงเลือกตัวเธอเปนรัชทายาทเสียโดยเร็ว, จะได้ตัดทางที่คนจะโต้แย้งได้ต่อไป, (2) ปรารถนาให้ข้อความนั้นปรากฏแพร่หลายมากที่สุด, ฉนั้นเมื่อมิได้ประกาศในองคมนตรีสภาแล้ว จึ่งคิดให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์,… (3) อ้างนามชาวยุโรปว่ากล่าวเช่นนี้, สำหรับให้เปนการใหญ่และซึ่งเขาทึ่งกันมากฉันจะได้ตกใจและเร่งร้อนขึ้น…”

ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ได้ละชื่อเจ้านายพระองค์นี้ไว้เหลือเพียง “……….” แต่หากพิจารณาจากความตอนหนึ่งในหนังสือ ที่รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกเล่าว่า “…อนึ่งในระหว่างที่ยังมีปัญหาโต้เถียงกันอยู่นั้น ฉันได้สังเกตเห็นว่า เสด็จแม่ดูออกจะกริ้ว ๆ ……….อยู่, และกริ้วหญิงอาภาว่าเปนผู้ชักให้ผัววุ่นต่าง ๆ ฉันนึกวิตกว่าถ้าเรื่องจากฝ่ายน้องชายเล็กเข้าไปกระทบพระกรรณเสด็จแม่บ่อย ๆ ……….คงต้องถูกกริ้วมากขึ้น ฉันจึ่งขอไปที่น้องชายเล็กว่าให้มีใจเย็น ๆ ไว้บ้าง…”

จากการสืบหาข้อมูลพบว่า “หญิงอาภา” ก็คือ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี ผู้เป็นพระภรรยาเจ้าใน ‘กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์’ 

สอดคล้องกับวิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ” ที่ระบุข้อมูลว่า กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ทรงเป็นเจ้านายที่ทรงแสดงการคัดค้านการตั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เป็นรัชทายาทอย่างรุนแรง ดังจดหมายกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ความว่า

“…ขอได้ทรงมีพระสติยับยั้งชั่งคุณแลโทษ อย่าได้ทรงเริ่มพระราชกรณียกิจด้วยมาทรงทำกรรมที่ไม่ใช่อัปมาทนี้เลย เปนแต่สักว่าขึ้นชื่ออัปมาทพอเปนที่อ้างเอามากำบัง Ambition เท่านั้น ความทะเยอทะยานทุรนทุรายถือเอาข้อราชการของพระราชวงษ์ของแผ่นดินว่าเปนการส่วนตนไปเสียท่าเดียว จนลืมละอายลืมแล้วบาป ออกน่าคร่าแรงโต้ต้านขึงดันราวกะว่าออกประจานบานต่อศัตรู การต่อสู้นี้มิได้เลือกอาวุธตรงฤาอาวุธคต ใช้หมดสุดแต่จะได้ทั้งไทยแลฑูตทิ่มแทงไม่เลือกที่ว่าจนถูกเบื้องบนฤาใต้สะเอว เรวเปนได้ท่าช้าเปนเสียการเช่นนี้ เปนที่สยดสยองเกล้าเศร้าสลดใจนัก ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเสด็จสวรรคตแล้ว ก็มีที่เห็นแต่ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทเท่านั้น ถ้าไม่โปรดเกล้าฯ ทรงกำราบให้ละพยสร้ายกลายเป็นดี ด้วยพระปรีชาอันสุขุมคัมภีรภาพ ไหนเลยจะมีความสงบความสวัสดีในกาลข้างน่า…”

กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์หรือพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หากจะพูดง่าย ๆ คือ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์เป็นลูกพ่อเดียวกันแม่เดียวกันกับ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และสมเด็จฯ พระพันปีหลวง คือทรงมีศักดิ์เป็น ‘น้า’ แท้ ๆ ของรัชกาลที่ 6 และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ

ศิรินันท์ บุญศิริ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ” วิเคราะห์ว่า จากการศึกษาไม่พบหลักฐานที่เป็นสาเหตุให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ กับกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ทรงขัดแย้งกันอย่างไรมาก่อน จนกระทั่งกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ทรงคัดค้านเรื่องตั้งรัชทายาทนี้อย่างรุนแรง หากความสัมพันธ์ระหว่าง ‘น้า-หลาน’ น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองพระองค์เป็นไปในทางที่ดีมากกว่า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์

พระราชกฤษฎีกา

แนวคิดการคัดค้านการตั้งรัชทายาทของกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์สะท้อนให้เห็นจากจดหมายกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ความว่า “อกาโล premature เป็นการไม่ควรแก่ราชการ impolitic…อาจนำความขัดข้องมาในทางพระราชไมตรี ความมั่นคงของพระราชวงศ์” ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเจ้านายผู้ใหญ่ในพระราชวงศ์น่าจะไม่พอพระทัยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เนื่องจากกรณีทรงรับเอาชาวต่างชาติมาเป็นพระภรรยา

แม้แต่รัชกาลที่ 5 เองก็ทรงไม่พอพระทัยในเรื่องนี้เช่นกัน ถึงขั้น “…ทรงรังเกียจหม่อมคัทริน…” ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างยิ่งและทรงเตือนให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงตระหนักถึงลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ที่ทรงเป็นที่สองต่อจากรัชกาลที่ 6 ซึ่งแต่แรกสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ มิได้สนพระทัยนัก เนื่องจากทรงคิดว่าการสืบราชสันตติวงศ์นั้นให้สืบต่อกันตามลำดับพระชนมายุของบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งหมด

ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 มีการประชุมเสนาบดีสภา รัชกาลที่ 6 จึงนำเรื่อง “รัชทายาท” เสนอในสภา จากนั้นได้ให้เลขาธิการสภาอ่านพระราชกฤษฎีกาเรื่องตั้งรัชทายาท และให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงอ่านปฏิญญานั้นด้วย รัชกาลที่ 6 ทรงกล่าวต่อที่ประชุมเสนาบดีสภาว่า

“…ในเวลานี้ต้องให้น้องร่วมพระราชชนนีเปนรัชทายาทไม่มีอย่างอื่น เว้นแต่ข้าพเจ้ามีบุตรให้บุตรเปนรัชทายาทต่อไป เพราะฉนั้นในเวลานี้ข้าพเจ้าขอกำหนดไว้ว่า ให้น้องที่เกิดแต่สมเด็จพระบรมราชินีนารถอันเปนน้องร่วมอุทรเปนรัชทายาทตามลำดับอายุพรรษกาล จำเดิมด้วยน้องชายเล็ก เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมขุนพิศณุโลกประชานารถ ผู้เปนน้องมีอายุพรรษารองตัวข้าพเจ้านี้ลงไป…”

จากนั้นจึงให้สมาชิกในสภาแห่งนั้นลงนามรับรองการตั้งรัชทายาทนี้โดยทั่วกัน

หม่อมคัทริน พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์พระโอรสและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

อ้างอิง :

ราม วชิราวุธ. (2545). ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน.

รินันท์ บุญศิริ. (2523). บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ. วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2563