ทหารไทยในเยอรมนีเล่าระบบบัตรปันส่วน “สบู่” ที่ใช้วัตถุดิบจากกระดูกสัตว์-คน!?

พ.อ. วิชา ฐิตวัฒน์ ผู้ผู้เขียนหนังสือ “คนไทยในกองทัพนาซี”

เมื่ออยู่ในภาวะสงครามย่อมเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ การผลิตได้รับผลกระทบ จนทำให้อาหารหรือสินค้าขาดแคลน รัฐบาลในหลายประเทศจึงมักใช้ระบบบัตรปันส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือการดำรงชีวิตของประชาชนโดยถ้วนทั่ว

รัฐบาลนาซีเยอรมนีก็ใช้ระบบบัตรปันส่วนเช่นเดียวกัน โดยนอกจากบัตรอาหาร (จำพวก น้ำตาล ขนมปัง เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ฯลฯ), บัตรยาสูบ และบัตรเสื้อผ้า แล้ว ยังมี “บัตรสบู่” อีกด้วย

เรื่องบัตรสบู่นี้ พ.อ. วิชา ฐิตวัฒน์ ทหารไทยที่ได้ไปศึกษาในโรงเรียนทหารที่เยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เขียนบันทึกในหนังสือชื่อ “คนไทยในกองทัพนาซี” เล่าไว้ว่า

“…สำหรับเรื่องสบู่ คนหนึ่งได้สบู่หนึ่งก้อนต่อเดือน แต่หาใช่สบู่ที่เรารู้จักกันไม่ เป็นสบู่วิทยาศาสตร์ ฟอกไปแล้วไม่ใคร่เป็นฟองเลย เพราะมีกรดไขมันน้อยเต็มที ส่วนมากประกอบด้วยธาตุคล้ายดินสอพอง ใช้ซักผ้าก็ไม่ได้ พอแห้งแล้วเกิดรอยด่างเต็มไปหมด…

นอกจากสบู่ที่กล่าวแล้ว ยังมีบัตรที่ใช้ซื้อสบู่แท้ได้ด้วย ผู้มีสิทธิ์จะได้บัตรชนิดนี้คือคณะทูตเดือนละก้อน และเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เพราะขืนปล่อยให้ใช้สบู่วิทยาศาสตร์จะเป็นการทำลายผิว เสียสุขภาพหมด สบู่สำหรับโกนหนวดได้ปีละสองก้อนต่อคน เป็นสบู่ที่เกิดฟองมากกว่าสบู่วิทยาศาสตร์หน่อย

ข้าพเจ้าจำได้ว่า เมื่อเวลารับประทานอาหารที่เบอร์ลินไม่เคยขว้างกระดูกหมูหรือกระดูกเนื้อทิ้งเลย สิ่งเหล่านี้ต้องเก็บสะสมไว้ หากสามารถเก็บได้ 2 กิโล ก็นำไปแลกสบู่ได้หนึ่งก้อน แต่ก่อนนี้สบู่ในเยอรมนีมักทำจากไขปลาวาฬและถ่านหิน ต่อมายามสงครามไขมันที่ได้จากสองสิ่งนี้มีความจำเป็นสำหรับใช้ในการบริโภค คือทำเนยวิทยาศาสตร์ การทำสบู่จึงต้องทำจากกระดูกสัตว์

ทุกเช้า เด็ก ลูกสาวแม่บ้าน จะรวบรวม ‘เศษ’ ของวัตถุนานาชนิดเพื่อนำเอาไปมอบให้แก่ครูที่โรงเรียน จะได้คะแนนพิเศษไว้ช่วยสอบไล่ เศษของวัตถุนับตั้งแต่ผ้าขี้ริ้ว เศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระดาษหนังสือพิมพ์ และกระดูกที่พวกเราใช้ต้มซุปมาสองสามน้ำแล้ว เหล่านี้ล้วนทำประโยชน์ได้ทั้งสิ้น…”

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะสงครามที่ยาวนานและหนักหน่วงตลอดหลายปี ทำให้แม้แต่กระดูกสัตว์ก็กลายเป็นของขาดแคลน จึงเกิดเสียงเล่าลือกันว่ามีการนำ “กระดูกคน” มาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำสบู่ด้วย พ.อ. วิชา ฐิตวัฒน์ เล่าไว้ว่า

“…สำหรับกระดูกสัตว์ก็ดุจกัน ใช้ทำสบู่ได้เป็นอย่างดี ต่อมาภายหลังมีเสียงเล่าลือว่า นอกจากกระดูกสัตว์แล้ว ยังใช้กระดูกคนด้วย ทำให้ข้าพเจ้าใจคอไม่สบาย ไม่รู้ว่าสบู่ที่กำลังใช้อยู่นั้นมาจากกระดูกยิวคนไหน ใกล้เบอร์ลินจะแตก บรรดายิวยิ่งหายสาบสูญไปหมด ทำให้ข้าพเจ้าค่อนข้างจะเชื่อว่าเป็นความจริง

เพราะในตัวมนุษย์เรามีส่วนที่ทำประโยชน์ได้น้อยนัก ดังสุภาษิตที่ว่า ‘นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์’ ทั้งนี้ก็เป็นความจริง ร่างกายเราอาจทำประโยชน์น้อยกว่า ‘พฤษภกาสร’ และนอกจากกระดูกที่พอจะกลั่นเอาไขมันไปทำสบู่แล้วก็คงไม่มีอย่างอื่นอีกในเมื่อหมดลมปราณ…”

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564