“Old soldiers never die-ทหารเก่าไม่มีวันตาย” ประโยคเด็ดนายพลแม็กอาร์เธอร์

นายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ ใส่แว่นตา (ที่ 3 จากซ้าย)

Old soldiers never die-ทหารเก่าไม่มีวันตาย” ประโยคที่ใครต่อใครในบ้านเรายืม โดยเฉพาะทหารมาใช้กันอยู่บ่อยๆ หลายคนฟังแล้วอาจคิดค้านอยู่ในใจว่า เพราะข่าวฌาปนกิจนายทหารผู้ล่วงลับก็มีให้เห็นเสมอๆ ไม่ได้ได้อย่างไร

ความหมายที่แท้จริงของสำนวนข้างต้นที่ว่า “ทหารเก่าไม่มีวันตาย” เพราะเขาจะอยู่ในหัวใจของคนข้างหลัง แต่จะเป็นหัวใจใคร และจดจำในแง่มุมใดก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

เจ้าของสำนวนนี้คือ ทหารเก่าอเมริกันชื่อ นายพล ดักลาส แม็กอาร์เธอร์ (Douglas MacArthur) นายพลคนดังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

นายพลแม็กอาร์เธอร์ (ค.ศ. 1880-1964) เกิดในครอบครัวทหาร เป็นนักเรียนชั้นดีจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์แห่งสหรัฐฯ มีคุณสมบัติต่างๆ แบบนายทหารทั่วไป แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่ผิดแผกกับนายทหารทั่วไป ก็คือ “ถนัด” ในการประชาสัมพันธ์ตนเองด้วย เป็นที่ทราบในหมู่ทหารด้วยกันว่า นายพลแม็กอาร์เธอร์เชี่ยวชาญในการเอาความดีใส่ตัว

หากเกิดอะไรขึ้นที่ไหน ถ้าเป็นฝ่ายชนะนายพลแม็กอาร์เธอร์จะพูดจนคนฟังเคลิ้ม เห็นภาพว่าเขาตะลุยเดี่ยวจนชนะ มากกว่าที่จะเป็นผลงานของทหารน้อยใหญ่อื่นๆ ที่ร่วมรบด้วย แต่ถ้าเป็นฝ่ายแพ้นายพลแม็กอาร์เธอร์ก็จะหลบฉาก ให้บรรดาลูกน้องมีโอกาสได้ช่วยรับผิดถ้วนหน้ากัน แบบนายใจกว้าง ให้โอกาสเด็กเกิด

ประโยคที่ว่า “Old soldiers never die.” นี้ มาจากประโยคเต็มที่ว่า “Old soldiers never die; they just fade away.-ทหารเก่าไม่มีวันตาย (แต่จะ) ค่อยๆ จางหาย” นายพลแม็กอาร์เธอร์มารับว่าขอยืมมาจากเนื้อเพลงอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีชื่อว่า Old Soldiers Never Die อีกต่อหนึ่ง

นายพลแม็กอาร์เธอร์จะพูดว่า “Old soldiers never die.” นี้ในวาระใดบ้างไม่ทราบแน่ชัด แต่คงจะบ่อยครั้งอยู่จึงเป็นประโยคทองประจำตัว แต่ครั้งหนึ่งที่เขาพูดประโยคนี้ต่อหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ แล้วเขาก็ถูกประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ปลดจากราชการทันที (เพราะเสนอให้เอาระเบิดปรมาณูไปถล่มเมืองจีน)

อันนี้เรียกว่าไม่ตายก็คางเหลือง แล้วนายทหารเก่าก็ค่อยๆ fade away จางหายไป

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ศุภาพศิริ สุพรรณเภสัช. เพลงของโลกและของเรา, สำนักพิมพ์มติชน, ธันวาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2564