รัชกาลที่ 4 ตรัสพ้อน้อยพระราชหฤทัย “ข้าพเจ้าไปไหนมันก็ว่าชรา…คร่ำคร่าชราภาพ”

พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 ฉายร่วมกับพระโอรสและพระธิดา

“แต่ข้าพเจ้าไปไหนมันก็ว่าชรา ไม่มีใครให้ลูกสาวเลย ต้องกลับมาแผลงรัง เพราะว่าคร่ำคร่าชราภาพ”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตรัสพ้อถึงความ “คร่ำคร่าชราภาพ” หนึ่งในบรรดา “ข่าวลือ” ที่สร้างความน้อยพระราชหฤทัย

หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง เมื่อ พ.ศ. 2398 มีชาวยุโรปเข้ามาสยามมากขึ้น พวกเขารับเอา “ข่าวลือ” ของราษฎรชาวสยาม แล้วนำไปแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ จนสร้างความน้อยพระราชหฤทัยให้แก่รัชกาลที่ 4 ดังที่มีพระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) กับจมื่นสรรเพธภักดี ทูตไทยไปลอนดอนเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย เมื่อ พ.ศ. 2401 ระบายความอัดอั้นพระราชหฤทัยไว้หลายเรื่อง

เรื่องหนึ่งที่สร้างความน้อยพระราชหฤทัย คือ พระชนมายุของรัชกาลที่ 4 โดยปรากฎว่ามีเสียงครหาว่าพระองค์ “คร่ำคร่าชราภาพ” ทั้งที่ทรงมีพระชนมายุห่างจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มากนัก แต่ผู้คนกลับเห็นว่ายังทรงหนุ่มอยู่ ดังพระราชหัตถเลขาความว่า

“ขุนหลวงวังหลวงแก่ชราคร่ำคร่าผอมโซเอาราชการไม่ได้ ไม่แขงแรงโง่เขลา ได้เปนขุนหลวงเพราะเปนพี่วังหน้า ราชการแผ่นดินสิทธิ์ขาดแก่วังหน้าหมดทั้งนั้น

ถึงการทำสนธิสัญญาด้วยอังกฤษทะนุบำรุงบ้านเมืองก็ดีแต่งทูตไปก็ดี เปนความคิดวังหน้าหมด วังหลวงเปนแต่อืออือแอแอพยักเพยิดอยู่เปล่าๆ

เมื่อแขกเมืองเข้ามาหา วังหน้าต้องแอบข้างหลังสอนให้พูดจึ่งพูดกับแขกเมืองได้ วังหน้าเปนหนุ่มแขงแรง ขี่ช้างน้ำมันขี่ม้าเทศสูงสามศอกเศษ ยิงปืนทุกวัน ชอบการทหารมาก มีวิทยาอาคมดี ฤๅษีมุนีแพทย์หมอมีวิทยานับถือเข้าอยู่ด้วยมาก…

ข่าวลือดั่งนี้ตลอดทั่วเมืองไทยเมืองลาวแลจีนฝรั่งอังกฤษทั้งปวงไม่ใช่ฤๅ ฤๅมาดั่งนี้ ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังอ่อนกว่าวังหน้าเดี๋ยวนี้อยู่ เหมือนเมื่อแรกเข้ามาอยู่ในวังนี้ ข้าพเจ้าอายุยังอ่อนกว่าวังหน้าในบัดนี้ถึง 4 ปี มันก็ว่าแก่แล้วครั้งนี้วังหน้าท่านก็มีอายุแก่กว่าข้าพเจ้าเมื่อแรกเข้ามาถึง 3 ปีเศษแล้ว มันก็ว่ายังหนุ่มอยู่”

และตรัสพ้อถึงความ “คร่ำคร่าชราภาพ” โดยทรงนำพระองค์เปรียบเทียบกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เมื่อพระองค์เสด็จฯ ที่ใดก็ไม่มีใครให้ลูกสาว เพราะเห็นว่าชราภาพ แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ผู้คนเห็นว่ายังหนุ่มอยู่เสด็จฯ ที่ใดก็ได้ลูกสาวมาเป็นบาทบริจาริกา ดังพระราชหัตถเลขาความว่า

“ท่านเสด็จไปทั่วบ้านด่านเมืองที่ใด ก็ได้ลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองแลกรมการมาทุกที ไปสระบุรีก็ได้ลูกสาวพระปลัดมา ไปนครราชสีมาก็ได้ลาวมากว่า 9 คน 10 คน ไปพนัศก็ได้ลูกสาวพระปลัดมา ไปราชบุรีเมื่อเดือนหกนี้ ก็ได้ลูกสาวใครไม่ทราบเลยเข้ามา

แต่ข้าพเจ้าไปไหนมันก็ว่าชรา ไม่มีใครให้ลูกสาวเลย ต้องกลับมาแผลงรัง เพราะว่าคร่ำคร่าชราภาพ ผมไม่สู้ดกถึงบางยังมีอยู่บ้าง ดำอยู่บ้าง แต่หาได้จับกระเหม่าไม่ แลไกลก็เห็นเปนล้านโล้งโต้งไปข้าพเจ้าเก็บแก๊บเขาใส่ อุตส่าห์ขี่ม้าเที่ยวเล่นจะให้มันว่าหนุ่ม มันก็ว่าแก่อยู่นั้นเอง ไม่มีใครยกลูกสาวให้ สู้แต่สรรเพธภักดีก็สู้ไม่ได้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์. (มีนาคม, 2564). การเมืองเบื้องหลังสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 42 : ฉบับที่ 5.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2564