รัชกาลที่ 4 กับความคับแค้นพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อชาตินักล่าอาณานิคม

บาทหลวงฝรั่งเศสถูกทรมานโดยชาวญวน ฝรั่งเศสจึงใช้เป็นข้ออ้างเข้าแทรกแซงยึดครองญวน (ภาพจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณไกรฤกษ์ นานา)

ข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงมีถึงพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ราชทูตสยามที่เดินทางไปเฝ้าพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

“—พวกเขาได้ทำพวกเราเหมือนคนป่าคนเถื่อน คงมิใช่เป็นมนุษย์เหมือนพวกมันนั้นแล ทั้งยังคงคิดแต่ว่าเป็นสัตว์สำหรับพวกมันจะแทะแล่เถือหนัง ทั้งหลอกใช้แรงดังโคกระบือ ทั้งเรายังไม่รู้ว่าพวกมันจะยังมีเล่ห์กระเท่ห์เพทุบายที่จะแบ่งแยกพระราชอาณาเขตสยามของเรากันอย่างไร—”

อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการที่จะแผ่อิทธิพลและอำนาจเข้าครอบครองอาณาจักรต่างๆ ในเอเชีย เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งระบายสินค้า ทั้ง 2 มหาอำนาจจึงมุ่งมั่นในอันที่จะแย่งชิงกันแสวงหาอาณานิคมในภูมิภาคเอเชีย ประการสำคัญจีนเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชีย เป็นประเทศที่เมืองเล็กๆ ในเอเชียให้ความนับถือ หากได้ครอบครองจีนก็น่าจะเท่ากับได้ครอบครองประเทศเล็กๆ ในเอเชียเกือบทั้งหมด สองนักล่าอาณานิคมจึงพยายามแข่งขันหาหนทางที่จะไปถึงประเทศจีนให้ได้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ดังนั้น เมื่อฝรั่งเศสได้ญวนเป็นเมืองขึ้นแล้ว ดินแดนต่อไปที่จะนำไปสู่แคว้นยูนนานทางตอนใต้ของจีนก็คือเขมร ซึ่งช่วงเวลานั้นเขมรยังอยู่ในฐานะประเทศราชของสยาม แต่ปัญหาคือเขมรแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายเหนือขึ้นอยู่กับสยาม แต่ฝ่ายใต้กลับฝักใฝ่ฝ่ายญวน

เมื่อแรกนั้นฝรั่งเศสก็ยอมรับว่าเขมรเป็นเมืองขึ้นของสยาม แต่ครั้นเมื่อฝรั่งเศสต้องการที่จะได้เขมรเป็นอาณานิคม แม้พระองค์จะทรงใช้วิถีทางการทูตเจรจาให้ฝรั่งเศสเข้าใจว่าอาณาจักรเขมรนั้นเป็นประเทศราชของสยามจึงเป็นสิทธิของสยามโดยชอบธรรมแต่ฝรั่งเศสก็มิได้สนใจในเหตุผลที่สยามพยายามชี้แจงแต่กลับยืนยันว่าเขมรเป็นเมืองขึ้นของญวนเมื่อฝรั่งเศสได้ญวนเป็นเมืองขึ้นจึงมีอำนาจที่จะครอบครองเขมรด้วย

บาทหลวงฝรั่งเศสถูกทรมานโดยชาวญวน ฝรั่งเศสจึงใช้เป็นข้ออ้างเข้าแทรกแซงยึดครองญวน (ภาพจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณไกรฤกษ์ นานา)

ในระหว่างวิกฤตการณ์การคุกคามของชาติตะวันตกนี้ สยามได้พยายามทำการเจรจากับชาติที่เรียกตนเองว่าเป็นชาติอารยะอย่างฝรั่งเศสอยู่หลายครั้งหลายครา แต่ผลจากการเจรจาที่คาดว่าจะเป็นไปตามเหตุตามผล กลับสร้างความคับข้องและคับแค้นให้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นอย่างมากจนถึงกับมีพระหัตถเลขาว่า

“—พวกเขาได้ทำพวกเราเหมือนคนป่าคนเถื่อน คงมิใช่เป็นมนุษย์เหมือนพวกมันนั้นแล ทั้งยังคงคิดแต่ว่าเป็นสัตว์สำหรับพวกมันจะแทะแล่เถือหนัง ทั้งหลอกใช้แรงดังโคกระบือ ทั้งเรายังไม่รู้ว่าพวกมันจะยังมีเล่ห์กระเท่ห์เพทุบายที่จะแบ่งแยกพระราชอาณาเขตสยามของเรากันอย่างไร—”

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งและเรียบเรียงเนื้อหาขึ้นใหม่จากบทความ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์สยามที่ทรงรู้เท่าทันภัยคุกคามจากชาติตะวันตก เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2561)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ.2561