“เราเกิดมาเป็นไพร่ ได้มาเป็นเจ้าเป็นนาย..เป็นเบื้องปลายอายุ” นัยแห่งพระราชดำรัสร.1

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 อดีต คือ เจ้าพระยาจักรี เชิง สะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพ พระพี่เลี้ยง เจ้าจอมแว่น
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร

“—เราเกิดมาเป็นไพร่ ได้มาเป็นเจ้าเป็นนาย เมื่อเวลาเป็นเบื้องปลายอายุแล้ว—“

เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงตรัสในพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ

Advertisement

ครั้งนั้นเกิดความไม่ลงรอยกันกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เมื่อเจ้าพนักงานเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเข้าขอบรรพชาก่อน ทำให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทรงโกรธ และต่อว่าที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งมีพระชนมายุอ่อนกว่าพระเจ้าหลานเธอ แต่กลับได้เข้าขอบรรพชาก่อน แม้ว่าเสนาบดีผู้ใหญ่จะกราบทูลว่า เป็นไปตามโบราณราชประเพณีที่พระบรมราชวงศ์เคยประพฤติปฏิบัติสืบกันมาช้านาน

ความไม่ลงรอยกันในเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นผลเนื่องมาจากการที่ต้องทรงปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติพระองค์ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีในพระราชสำนักของต้นราชวงศ์จักรี

เพราะก่อนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะทรงปราบดาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น แม้จะทรงเป็นเสนาบดีที่มีบรรดาศักดิ์สูงสุดในแผ่นดิน คือเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แต่ก็มิได้ทรงสืบสายพระโลหิตจากพระราชวงศ์ใดทั้งสิ้น

ดังนั้นเมื่อแรกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงต้องทรงปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติในพระชนมชีพใหม่ จากสามัญชนมาสู่ความเป็นเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักอาศัย ซึ่งเปลี่ยนจากบ้านหรือจวนมาเป็นพระบรมมหาราชวัง ตำหนักบรรดาพระญาติวงศ์ทั้งหลาย ต่างก็ได้รับสถาปนาให้มีพระอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี การกินอยู่ การพูดจา การวางตัวจึงเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงตระหนักพระทัยดีว่า การอ้างสิทธิธรรมในการขึ้นครองราชสมบัติสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์นั้นค่อนข้างยากลำบาก ด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการคือ

ประการแรก มิได้ทรงมีสายสัมพันธ์ทางสายพระโลหิตจากพระราชวงศ์ใดๆ ทั้งสิ้น

ประการที่สอง มิได้ทรงอยู่ในฐานะวีรบุรุษผู้แลกเลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อบ้านเมือง ดังเช่นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์จึงต้องทรงแสวงหาความชอบธรรมในการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับในหมู่ข้าทหาร ข้าราชบริพาร ตลอดจนราษฎรทั้งปวง

ทรงเลือกวิถีทางธรรมะเป็นหลักสำคัญ เพราะทรงมีพระราชดำริว่า หัวใจของราษฎรทุกดวงพันผูกมั่นคงอยู่กับพระพุทธศาสนา จึงทรงเน้นพระราชภารกิจสำคัญของพระมหากษัตริย์ประการหนึ่งคือ จะต้องทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา ทรงเป็นธรรมราชควบคู่ไปกับการปกป้องรักษาอธิปไตยของบ้านเมือง

วิเทโศบายนี้บรรลุผลสำเร็จส่วนหนึ่ง เพราะทรงเป็นที่ยอมรับของราษฎรทั่วไป

แต่ในบทบาทความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จำเป็นต้องทรงปฏิบัติพระองค์ตามโบราณราชประเพณี เพื่อเป็นการเสริมสร้างพระบารมีของพระมหากษัตริย์ที่ยังมีผู้เชื่อมั่นกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ จึงต้องทรงศึกษาเกี่ยวกับโบราณราชประเพณี ทั้งส่วนของบ้านเมืองและส่วนพระองค์

ในขณะนั้นตำรับตำราที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในพระราชสำนักถูกทำลายสูญหายไปครั้งเสียกรุงแก่พม่า พ.ศ. 2310 และในสมัยธนบุรีบ้านเมืองก็ยังไม่อยู่ในภาวะสงบ ต้องทำสงครามป้องกันราชอาณาจักรจนตลอดรัชสมัยจึงยังมิได้ทรงดำเนินการเรื่องนี้มากนัก

ในรัชสมัยของพระองค์จึงต้องทรงเร่งฟื้นฟูเกี่ยวกับพระราชประเพณีในพระราชสำนักอย่างเร่งด่วน ทรงโปรดให้ผู้รู้เกี่ยวกับโบราณราชประเพณี เช่น พระองค์เจ้าหญิงพินทวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงถ่ายทอดแบบแผนขนบธรรมเนียมในราชสำนักที่ทรงเห็นและปฏิบัติสืบกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้อาลักษณ์จดและคัดลอกไว้เป็นตำราสำหรับประพฤติปฏิบัติสืบไป

แต่มีบางครั้งที่ทรงรู้สึกสะเทือนและน้อยพระทัยที่พระญาติวงศ์บางพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอไม่ทรงเข้าพระทัยในพระราชวิเทโศบายที่ทรงดำเนินอยู่ จึงมักทรงเอาแต่พระทัยพระองค์เอง หรือทรงปฏิบัติตามที่ทรงเคยชินมาแต่ครั้งยังเป็นสามัญชน เช่น การที่ทรงวางพระองค์อยู่เหนือพระมหากษัตริย์ เพราะทรงถือว่าเป็นพระพี่นาง ดังเช่นในพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าหลานเธอ

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สมเด็จพระพี่นางเธอทรงมีพระดำริตามพระทัยพระองค์เอง แม้เสนาบดีกรมวังจะยกโบราณราชประเพณีมากล่าวอ้าง สมเด็จพระพี่นางเธอก็มิทรงยินยอมกลับทรงโกรธเกรี้ยว ทำให้ทรงต้องยอมตามพระทัยสมเด็จพระพี่นาง โดยยอมให้พระเจ้าหลานเธอ ซึ่งมีพระชนมายุมากกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จนำหน้า เข้าขอบรรพชาก่อน

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ถึงความสะเทือนและน้อยพระทัยถึงแก่น้ำพระเนตรคลอ ขณะทรงมีพระราชดำรัสว่า

“—ถึงอย่างธรรมเนียมเก่าไม่มี ก็ธรรมเนียมใดที่ท่านทั้งหลายว่าดี ธรรมเนียมนั้นให้ยกเลิกเสียเถิดอย่าใช้ จงเอาธรรมเนียมอย่างไพร่ๆ มาประพฤติเถิด ให้จัดลำดับตามอายุเถิด ใครแก่ให้ไปหน้า ใครอ่อนให้ไปหลัง หรือตามลำดับบรรพบุรุษ ที่นับตามบุตรพี่บุตรน้องนั้นเถิด—เพราะเราเกิดมาเป็นไพร่ ได้มาเป็นเจ้าเป็นนาย เมื่อเวลาเป็นเบื้องปลายอายุแล้ว—“

โบราณราชประเพณีเป็นรากเหง้าสำคัญของวัฒนธรรมไทย แสดงถึงความเป็นชาติเอกราชและยิ่งใหญ่ พระมหากษัตริย์ไทยได้พยายามเพียรที่จะทำนุบำรุงและรักษาไว้ให้คงอยู่ แม้จะลำบากยากเย็น ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนแม้ถึงขั้นเสียพระทัย เสียน้ำพระเนตร ดังบันทึกที่ปรากฏในประวัติศาสตร์นี้นั้น น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังตระหนัก และไม่มองข้ามความสำคัญของคำว่า โบราณราชประเพณี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2562