กลียุค ปลายกรุงธนบุรี ในโคลงสรรเสริญพระเกียรติ รัชกาลที่ 1

รูปปั้น รัชกาลที่ 1

ใน “โคลงสรรเสริญพระเกียรติ” รัชกาลที่ 1 บอกเล่า “กลียุค” ปลายสมัยกรุงธนบุรี 

ประเทศสยามมีดวงสัมพันธ์กับเดือนเมษายน อย่างอัศจรรย์ ราวกับเทพลิขิตไว้ กรุงศรีอยุธยาก่อกำเนิดในเดือนเมษายน และแตกดับในเดือนเมษายน กรุงธนบุรีแม้ไม่ได้สถาปนาในเดือนนี้ แต่ก็เลือกที่จะล่มสลายในเดือนเมษายน แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็ทรงประดิษฐานพระราชวงศ์ พร้อมกับสถาปนากรุงเทพฯ ขึ้นในเดือนเมษายนอีกเช่นกัน

สยามประเทศเปลี่ยนจากกรุงศรีอยุธยา มาเป็นกรุงธนบุรีด้วยเหตุจากภายนอก ส่วนกรุงธนบุรีเปลี่ยนมาเป็นกรุงเทพฯ ด้วยเหตุจากภายใน มาถึงวันนี้สิ่งที่น่าเศร้าใจต่อสองเหตุการณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องของการสูญเสีย หากแต่เป็นเรื่องที่กาลเวลาไม่สามารถคลี่คลายเหตุการณ์ให้แจ่มชัดขึ้นมาได้ พงศาวดารตอนนี้ เขียนเหมือนบทละครโทรทัศน์ มีพระเอกผู้เก่งกล้า และมีผู้ร้ายที่ละโมบฟั่นเฟือน บังคับให้ผู้ชมหลงใหลตื่นเต้นไปกับการดำเนินเรื่องจนเลอะเลือนสับสน ลืมที่จะถามหาความจริง

ข้อเท็จจริงนี้จะเท็จกี่ส่วน จะจริงกี่ส่วน ไม่มีใครทราบได้ แต่อย่างไรก็ดีพอจะมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าผู้แต่ง “อาจจะ” เป็นอีกคนหนึ่งได้เห็นเหตุการณ์วันจลาจลในปลายสมัยกรุงธนบุรี แล้วจึงร้อยถ้อยคำใส่ไว้ใน “โคลงสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์” แม้จะเป็นคำโคลงยอพระเกียรติก็ตาม แต่ผู้แต่งก็ได้สอดแทรกเหตุการณ์บ้านเมืองไว้ไม่น้อย ทำให้เราได้เห็น “อารมณ์” ของบุคคลในครั้งนั้นว่าคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น

หนังสือ “โคลงสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์” แต่งโดย พระชำนิโวหาร ซึ่งไม่มีประวัติความเป็นมาของท่าน แต่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงสันนิษฐานไว้ในคำนำว่า เป็นไปได้ที่ผู้แต่งหนังสือนี้อาจจะเป็นคนร่วมสมัย เขียนขึ้นตามที่ตาเห็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้ทรงฟันธงในข้อนี้

หนังสือโคลงสรรเสริญพระเกียรติฯ เล่มนี้ เป็นหนังสือที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา โปรดให้พิมพ์ขึ้นเป็นการตอบแทนแก่ผู้ไปถวายรดน้ำสงกรานต์ ในปีเถาะ 2470 เป็นหนังสือขนาด 16 หน้ายก ปกสีเขียว มีตราหอพระสมุดวชิรญาณ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

ขึ้นต้นโคลงในตอนแรกเป็นไปตามแบบแผนคือ กล่าวสดุดี สรรเสริญพระเกียรติ เป็นลักษณะโคลงกระทู้ (ยืน) ว่าด้วยเรื่อง การปราบยุคเข็ญ จนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

ฟ้า แจ่มเดือนแจ้งเจตร   มาศา

ฟ้า ว่ายอดฟ้ามา   ดับเศร้า

ฟ้า ฝนตกอัตรา   เย็นไพร่ เมืองนา

ฟ้า ร่ำร้องเรียกเจ้า   ผ่านฟ้ามาครอง ฯ

ต่อมาจึงเข้าเรื่องด้วยการกล่าวถึงตอนที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จนำทัพไปปราบเขมรจนได้ชัย

ปางปิ่นนายกย้าย   พลหาญ

เสด็จดำเนินไปผลาญ   ละแวกเว้

ชาวกัมพุชบ่อธาร   ทนเดช

เพื่อพระเปนเอกเอ้   กัตวล้ำเฉลิมกรุง ฯ

ทีนี้จึงตัดฉากมากล่าวถึงเหตุการณ์ในพระนครซึ่งกำลังวุ่นวายด้วยเหตุจลาจล พระชำนิโวหาร ท่านเห็นเป็นถึงขั้น “กลียุค” เลยทีเดียว เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรนั้นขอร่ายยาวดังนี้

ฝ่ายธนนัคเรศร้อน   รนทรวง

ปวงราษฎร์หญิงชายปวง   คร่ำไห้

สมณเดือดแดดวง   จิตรขุ่น

ศึกษ์เสื่อมเสียแหล่งไหล้   หลีกเร้นแรมพง ฯ

เงียบเหงาเหย้าใหญ่รั้ว   เรือนขุน นางเอย

เมียมิ่งหมดหม่อมคุณ   ขุ่นข้อง

อุณห์อกราษฎร์ราวกุณฑ์   บังเกิด

เซ็งแซ่ซุบซิบพร้อง   พร่ำพร้องติฉิน ฯ

พระลานดาลเดือดฟุ้ง   ไฟเข็ญ

เสียงหวีดกรีดกราดเห็น   ห่อนได้

กะลียุคอย่างจักเปน   ควันพลุ่ง แล้วเฮย

มาตรว่ามิตรฤาใกล้   กลับดั้นเดินหนี ฯ

ฝูงชนกลัวโจทนั้น   อุปมา

แม้นมฤคยั่นพยัคฆา   คาบคั้น

เสียแหล่งละคฤหา   หวังคลาศ ไภยพ่อ

บางหมู่เมือมารคดั้น   เถื่อนลี้หลบสกนธ์ ฯ

เคหะถานปานป่าช้า   เงียบเหงา

อึงแต่พวกพาลเมา   หมู่ฟ้อง

จับมาเฆี่ยนขับเอา   ทรัพย์สิ่ง สินนา

ผูกตรากลําบากต้อง   โทษไง้เอาเงิน ฯ

ดวงจันทราทิตย์ทั้ง   ดารก

มัวมืดเมฆมาปก   ปิดไว้

พิกลเกิดลามก   ธุมเกตุ

อุบัติกาบาตใต้   ตากคว้างขวัญหาย ฯ

นั่นคือคำให้การของคุณพระชำนิโวหารผู้แต่ง ที่กล่าวถึงภาพความไม่สงบในพระนคร เป็นเหตุให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับเข้าปราบปราม “ผู้ก่อการร้าย” เป็นการเร่งด่วน จนบ้านเมืองกลับมาร่มเย็นเป็นสุขอีกครั้ง

คือองค์หริรักษเรื้อง   รามา ธิราชเฮย

ปราบอสุรพาลา   เหล่าร้าย

เสด็จแสดงมหิทธิมหา   สุรภาพ

มาเตรียกตรีภพผ้าย   แผ่นฟ้าสาธุการ ฯ

ส่วน “ผู้ก่อการร้าย” นั้น จำเป็นต้องรับโทษตามเหตุแห่งกรรม ดังนี้

ผู้ผิดแท้ท่านให้   ลงทัณฑ์

โทษฆ่าจองไปฟัน   เสียบเกล้า

น้อยโทษผ่อนผัน   ภาคโทษ ให้แฮ

ถอนแผ่นดินสิ้นเศร้า   เสื่อมเสี้ยนรนามหนาม ฯ

ต่อจากนี้ก็เป็นบรรยายถึงการเฉลิมฉลอง เมื่อบ้านเมืองสงบสุขอีกครั้ง แต่จะขอละไว้เพียงเท่านี้ก่อน

ฉากสำคัญของประวัติศาสตร์ตามคําโคลงฉากนี้ อาจจะสร้างคำตอบให้ใครบางคน และอาจจะสร้างคำถามให้ใครอีกหลายๆ คน ที่น่าสังเกตก็คือ คำโคลงเรื่องนี้กล่าวถึงความทุกข์ยากของไพร่ฟ้า โดยไม่ได้ข้องแวะกล่าวโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยตรง แต่ผู้ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรกลับเป็น “พวกพาลเมาหมู่ฟ้อง”

หากพระชำนิโวหารเห็นเหตุการณ์จริง คำถามคือ ในเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นกันแน่?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2565