“รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกามิได้ก่อตั้งบนความเชื่อทางคริสต์ศาสนาไม่ว่าในทางใดๆ”

ประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์ (ภาพโดย John Trumbull [Public domain], via Wikimedia Commons) ธงชาติสหรัฐฯ โดย AFP PHOTO / NASA

“รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกามิได้ก่อตั้งบนความเชื่อทางคริสต์ศาสนาไม่ว่าในทางใดๆ”

ข้อข้างต้นปรากฏอยู่ในมาตราที่ 11 ของสนธิสัญญาแห่งตริโปลี (Treaty of Tripoli) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกา และตริโปลิตาเนีย (Tripolitania-แคว้นหนึ่งในจักรวรรดิออตโตมัน ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของประเทศลิเบีย) ลงนามในตริโปลีเมื่อปี 1796 ซึ่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ให้สัตยาบันด้วยเสียงเอกฉันท์ และลงนามโดยจอห์น อดัมส์ ประธานาธิบดีในขณะนั้น

ความในมาตราที่ 11 ของ สนธิสัญญาแห่งตริโปลี

ความดังกล่าวระบุไว้เพื่อแสดงว่า ปัจจัยทางความเชื่อของรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่เป็นอุปสรรค และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นชาติมุสลิม

เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ จะเห็นว่ามีข้อความระบุถึงศาสนาน้อยมาก มีเพียงบทแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่หนึ่ง (First Amendment) ที่ห้ามการออกกฎหมายตามความเชื่อของสถาบันศาสนาใดๆ และห้ามการออกกฎหมายที่จะไปจำกัดการนับถือศาสนาโดยเสรี ซึ่งลำพังข้อความในส่วนนี้ก็น่าจะยืนยันได้ว่า สหรัฐฯ เป็นรัฐทางโลก มิได้เป็นรัฐคริสเตียนอย่างที่ฝ่ายขวามักกล่าวอ้าง และข้อความที่ปรากฏบนสนธิสัญญาแห่งตริโปลี ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งช่วยยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว (แม้จะมีผู้โต้แย้งว่า ผู้ร่างสนธิสัญญาฉบับภาษาอังกฤษ แปลความมิได้สอดคล้องกับข้อความในสนธิสัญญาฉบับภาษาอาหรับ แต่ถึงกระนั้น สนธิสัญญาที่วุฒิสภาและประธานาธิบดีสหรัฐฯ รับรองก็คือสนธิสัญญาฉบับภาษาอังกฤษ)

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติความเชื่อของประธานาธิบดีมีผลต่อความนิยมทางการเมืองค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นชาวคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ (ซึ่งแยกย่อยออกไปอีกหลายสาขา) และข้อสงสัยในการนับถือศาสนาก็กลายมาเป็นข้อโจมตีเพื่อเรียกคะแนนนิยม เหมือนเช่นที่ บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาจากฝ่ายรีพับลิกันว่าเป็นชาวมุสลิม

ปัจจุบันเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ยิ่งทำให้สหรัฐฯ เอนเอียงเข้าใกล้ความเป็นรัฐศาสนามากยิ่งขึ้นเพื่อเอาใจกลุ่มอนุรักษ์นิยม การออกมาตรการห้ามการเดินทางเข้าประเทศของประชาชนที่เดินทางจาก 7 ประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560