เผยแพร่ |
---|
“สนธิสัญญาเบอร์นีย์ที่ไทยตกลงลงนามกับประเทศอังกฤษใน พ.ศ. ๒๓๖๙ นับเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพานิชย์ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์ อาจกล่าวได้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้มีนัยสำคัญในการปูทางให้ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ดูเหมือนว่าไทยจะปิดประเทศไม่เปิดรับชาวตะวันตกมาตั้งแต่ครั้งการโค่นอำนาจของฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา อันที่จริงร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ เป็นทูตอังกฤษคนที่สองที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายหลังที่จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตอังกฤษคนแรกซึ่งเดินทางเข้ามาเมืองไทยเมื่อพ.ศ. ๒๓๖๕ ไม่ประสบผลสำเร็จในการเจรจา ทั้งในทางการเมืองเรื่องขอเมืองไทรบุรีคืนให้แก่รายาห์แห่งเกดะห์หรือเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) และในทางการค้าโดยไทยยังยืนยันจะค้าขายกับอังกฤษตามอย่างธรรมเนียมดั้งเดิม…”
– เกรียงไกร สัมปัชชลิต อดีตอธิบดีกรมศิลปากร คัดจาก คำนำ เอกสารเฮนรี เบอร์นีย์ กรมศิลปากรพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๕๑