รัชกาลที่ 4 ทรงอธิบายทฤษฎี “มือที่มองไม่เห็น”

รัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์อย่างเครื่องแบบนายทหารเรือสหรัฐฯ ฉายเมื่อ พ.ศ. 2411

“ท่านทั้งหลายทั้งปวงอย่าบ่นอย่าว่าในหลวง ว่าปล่อยให้คนต่างประเทศซื้อข้าวไปเสียหมด เห็นฝนฟ้าแล้งแล้วทำไมไม่ประกาศกักข้าวไว้ ในการที่จะบ่นอย่างนี้ ทรงพระราชดำริว่าหาต้องการไม่ ถึงราคาข้าวแพงขึ้นไป ก็เพราะคนนอกประเทศเอาเงินทองต่างเมืองมาซื้อหาโปรยหว่านอยู่ในกรุงนี้มาก ราคาข้าวปรกติจึงสูงขึ้นไป

ก็เมื่อราคาข้าวสูงอยู่ดังนี้ คนนอกประเทศเขายังซื้อบรรทุกเรือไปอยู่เสมอ ก็เพราะเขาไปขายได้มีกำไรอยู่ ถ้าราษฎรฝ่ายเราเห็นว่าข้าวในพื้นบ้านพื้นเมืองน้อยไปแล้ว ก็จะกลัวอดอยากไม่ยอมขายเอง หรือถึงจะขายก็จะตั้งราคาสูงขึ้นไปตามการ

Advertisement

คนนอกประเทศเห็นว่าจะซื้อไปด้วยราคาแพงนักเอาข้าวไปขายเมืองอื่นไม่มีกำไรแล้วเขาก็จะหยุดเอง ไม่ต้องประกาศปิดห้าม แลคนบางพวกเล่าลือว่าคนนอกประเทศมีเงินทองมาก ขนเอาเงินทองเข้ามาล่อซื้อเอาข้าวเมืองไทยไปเทน้ำเสีย เพื่อจะให้เมืองไทยได้รับความอดอยาก คำคนที่ลืออย่างนี้ป่านัก วัดๆ เถนๆ นัก อย่าฟังเสียเลย ไม่ต้องการ”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศเตือนสติให้สงวนข้าวไว้ให้พอกินตลอดปี พ.ศ. 2407

ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤษภาคม 2551

 

ทั้งนี้ อดัม สมิธ เป็นนักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวสก็อต มีชีวิตในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 (ราว พ.ศ.2266-2333) ก่อนรัชสมัยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นคนแรกที่อธิบายถึงหลักการ “มือที่มองไม่เห็น” ว่าเป็นกลไกทางสังคมที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนของปัจเจก ซึ่งเขาใช้ในการอธิบายเรื่องการกระจายรายได้และกำลังการผลิต


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ :20 กันยายน 2559