ทำไมรัฐบาลต้องช่วยชาวไร่ชาวนา? ย้อนดูดีเบต เคนเนดี VS นิกสัน ก่อนเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ

นิกสัน เคนเนดี ดีเบต เลือกตั้ง ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา
นิกสัน (ซ้าย) และเคนเนดี (ขวา) ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กำลังดีเบตทางช่อง CBS เมื่อ 26 กันยายน ค.ศ. 1960 นับเป็นการดีเบตทางโทรทัศน์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา (Photo by AFP)

การ “ดีเบต” เป็นสีสันสำคัญหนึ่งในช่วงเลือกตั้งก็ว่าได้ เพราะเป็นการประชันวิสัยทัศน์ วัดกึ๋น ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ หรือตัวแทนประชาชน

ในสหรัฐอเมริกา การ “ดีเบต” ของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “ทางโทรทัศน์” เกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1960 ทางช่อง CBS เป็นการดีเบตระหว่างผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตคือวุฒิสมาชิก จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) กับผู้ท้าชิงพรรครีพลับลิกันคือรองประธานาธิบดี ริชาร์ด เอ็ม นิกสัน (Richard M. Nixon) ดำเนินรายการโดย โฮเวิร์ด เค สมิธ (Howard K. Smith)

ชาวอเมริกันให้ความสนใจและตื่นตัวกับการดีเบตครั้งนี้มาก เพราะไม่เคยเกิดขึ้นทางหน้าจอโทรทัศน์มาก่อน การดีเบตครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าวจึงมีผู้ชมมากถึง 70 ล้านคน ทั่วประเทศ 

หลังจากผู้ดำเนินรายการให้เคนเนดีและนิกสันแถลงการณ์เปิดตัวแล้ว นักข่าวหลายสำนักก็ได้ถามคำถามในประเด็นต่าง ๆ เมื่อถึงคราวของ ชาร์ลส วอร์เรน (Charles Warren) นักข่าวจาก Mutual News เขากล่าวเปิดประเด็นเกี่ยวกับเกษตกรชาวไร่ชาวนาว่า ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมักจะให้สัญญากับเกษตรกรเสมอ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติ ประชาชนหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร เมื่อพวกเขาไม่ได้ผลิตผลผลิตบางชนิด หรือเมื่อผลผลิตล้นตลาด

วอร์เรน จึงตั้งคำถามว่า ทำไมเกษตรกรไม่สามารถทำงานให้เหมือนกับพวกนักธุรกิจที่สามารถจัดการงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ หากบริษัทผลิตรถยนต์มีผลผลิตล้นตลาด ทำไมรัฐบาลถึงไม่เข้าไปแทรกแซงและหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แล้วเหตุใดจึงต้องให้การช่วยเหลือเกษตรกรมาโดยตลอด

เคนเนดี ลุย “ดีเบต” 

เคนเนดีตอบว่า หากรัฐบาลกลางไม่ให้การสนับสนุนเกษตรกร อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ เกษตรกรปลูกพืชในฤดูใบไม้ผลิ และเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง เกษตรกรนับแสนคนไม่สามารถควบคุมตลาดได้ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต พวกเขาจะนำพืชผลหรือปศุสัตว์เข้าสู่ตลาดในเวลาพร้อม ๆ กัน ขณะที่ในตลาดมีผู้ซื้อจำนวนน้อยกว่า ในบางกรณีก็มีเพียงบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งเท่านั้น เกษตรกรจึงไม่มีอำนาจ และไม่สามารถต่อรองการซื้อขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผมคิดว่าจากประสบการณ์การทำงานนับ 20 ปีของผม แสดงให้เห็นว่าภาคเกษตรกรรมสามารถทำตลาดการค้าเสรีได้ และหากเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมทรุดตัวลง นั่นจะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เหลือพังทลายลงตามไปเช่นกัน

เกษตรกรเป็นผู้บริโภคอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เป็นผู้บริโภคอันหนึ่งในตลาดเหล็ก ดังนั้นหากเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมยังคงถดถอยอย่างรวดเร็วเหมือนในปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เหลือในประเทศก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นกรณีตัวอย่างของความจำเป็นประการหนึ่ง สำหรับการแทรกแซงของรัฐบาลกลาง

เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ นโยบายเกษตรกรรมในปัจจุบันไม่สามารถควบคุมให้อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศมีภาระภาษีทางการคลังสำหรับเกษตรกรที่สูงขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันรายได้จากภาคเกษตรกรรมกลับต่ำที่สุดในรอบหลายปี”

เคนเนดีคิดว่า มีเพียงนโยบายและแนวปฏิบัติจากรัฐบาลกลางเท่านั้นที่จะสามารถดึงให้อุปสงค์และอุปทานเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ โดยขั้นพื้นฐานรัฐบาลกลางต้องสนับสนุนผลผลิตในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นห่วงโซ่แรกของการผลิตทั้งมวล และจำเป็นต้องเข้าไปควบคุมการผลิตของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพด้วย เขากล่าวต่อไปว่า เขาไม่ต้องการให้ผลผลิตส่วนเกิน 5-6% ต้องมาทำลายราคาสินค้าให้ลดลงไปกว่า 15% หรือ 20 %

เคนเนดีกล่าวโจมตีว่า นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันนั้นล้มเหลว และเขาเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าสิ่งที่นิกสันจะพูดหลังจากนี้ก็จะไม่แตกต่างจากนโยบายเดิมของรัฐบาลที่ใช้อยู่ และให้ความเห็นว่า รัฐบาลไม่มีความสามารถที่จะควบคุมเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก่อนกล่าวปิดท้ายโจมตีนโยบายของรัฐบาลว่า “กระผมไม่เชื่อว่านี่มันคมพอที่จะตัดอดีตให้ขาด เพื่อที่จะมีความหวังไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

“I therefore do not believe that this is a sharp enough breach with the past to give us any hope of success for the future.”

นิกสัน โต้กลับ

นิกสันกล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับเคนเนดีอย่างแน่นอนอยู่แล้ว คำแนะนำของเคนเนดีคือเพิ่มการควบคุมของรัฐบาลกลางให้มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่าอาจทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้บริโภค

ประเด็นนี้นิกสันอาจมองว่า การที่เคนเนดีต้องการอุดหนุนผลผลิตของเกษตรกรนั้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย เมื่อเข้าสู่ภาคการผลิตในระบบอุตสาหกรรมก็จำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย และท้ายที่สุดผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไปก็ต้องแบกรับภาระเหล่านี้ เพราะราคาสินค้าจะสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

นิกสันกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เคนเนดีพูดนั้นเป็นไปในทิศทางที่ผิด ซึ่งไม่เคยประสบผลสำเร็จในอดีต และไม่คิดว่ามันจะประสบความสำเร็จในอนาคตด้วย โครงการที่นิกสันจะสนับสนุนจะมาจากการต่อยอดจากโครงการในปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับ

รัฐบาลทราบดีว่า เป็นความรับผิดชอบโดยตรงในการกำจัดปัญหาของเกษตรกรให้หมดไป เพราะรัฐบาลเป็นคนดึงให้เกษตรกรเข้ามาสู่ความยากลำบาก และนั่นคือเหตุผลที่เป็นรากฐานอันสำคัญว่า ทำไมจึงไม่สามารถปล่อยให้เกษตรกรต้องต่อสู้อย่างลำพังในเวลาเช่นนี้

เกษตรกรได้ผลิตผลผลิตจำนวนมาก เพราะรัฐบาลออกกฎหมายเพื่อป้อนผลผลิตสำหรับช่วงสงคราม แต่ตอนนี้มีผลผลิตส่วนเกินจำนวนมากจนล้นตลาด ซึ่งต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เกษตรกร จนกว่าอุปทานส่วนเกินเหล่านั้นจะลดลงไป อย่างไรก็ตาม นิกสันคิดว่าควรจะมีโครงการที่จะช่วยเพิ่มรายรับให้เกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น

นิกสันเสนอว่า ไม่ควรช่วยเกษตรกรด้วยการเพิ่มหรืออุดหนุนราคาผลผลิต ตามแนวคิดของเคนเนดี แต่สิ่งหนึ่งที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เกษตรกรคือ จ่ายให้ในรูปของผลิตภัณฑ์ที่เกินดุลอยู่ในตลาด ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่ายก็คือ หากเกษตกรเป็นผู้ผลิตอ้อยก็จะได้รับการชดเชยจากรัฐบาลเป็นน้ำตาล

ประธานาธิบดีเคนเนดีเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 35 ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1961 (Photo by STF / AFP)

การดีเบตระหว่างเคนเนดีกับนิกสันมีขึ้นอีก 3 ครั้ง คือวันที่ 7, 13 และ 21 ตุลาคม รวมแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง ก่อนมีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1960

ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่าเคนเนดีได้เสียงทั้งหมด 49.72% ขณะที่นิกสันได้เสียงทั้งหมด 49.55% นับเป็นการเลือกตั้งที่สูสีมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และเคนเนดีก็ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ่านการดีเบตได้ ที่นี่, ชมวีดีทัศน์การดีเบตได้ ที่นี่ (ประมาณนาทีที่ 21 เป็นต้นไป)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2563