ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
ข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีมาถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2440 มีว่า
“—ฉันเสียคนก็เพราะเกิดมาไม่มีกำลังพอ แลมีความอยากรู้อยากจำเกินไป แลรักเมียรักบ้านเมือง รักพวกพ้องในบางกอกจนมากเกินไป—“
เนื้อความที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขานี้ บ่งบอกถึงความผิดหวังท้อถอยในเหตุการณ์ที่ทรงต้องเผชิญเพราะไม่เป็นไปตามที่มีพระราชประสงค์จะให้เป็น ทำให้ทรงเสียเวลา เสียแรง และไม่สามารถที่จะทำตามที่ทรงตั้งพระทัยไว้ให้สำเร็จโดยเร็ว
ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้เป็นการเสด็จฯ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศ เป็นพระราชวิเทศโศบายในอันที่จะทำให้บ้านเมืองคงความเป็นเอกราชอยู่ได้อย่างสม่ำเสมอภาคกับอารยประเทศ นับเป็นพระราชภารกิจที่หนักหน่วง เพราะก่อนเสด็จฯ จะต้องทรงศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพื้นภูมิหลังและเรื่องราวความเป็นไปของแต่ละประเทศในทุก ๆ ด้าน ตลอดจนวัฒนธรรมขนบประเพณีของประเทศนั้น ๆ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามพระราชวิเทโศบายให้สำเร็จอย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกทั้งต้องสมเกียรติยศของพระองค์และประเทศชาติด้วย
ขณะประทับอยู่ต่างบ้านต่างเมืองก็ทรงต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่ทรงสะดวกสบายทั้งพระวรกายและพระทัยไม่ว่าจะเป็นด้วยเรื่องอาหาร อากาศ ซึ่งไม่ทรงเคยชิน ตลอดจนความขัดข้องขาดแคลนปัจจัยอำนวยความสะดวก และความสุขที่ทรงเคยได้รับ และเมื่อเสด็จฯ ถึงแต่ละประเทศก็ยังต้องทรงอดทนกับผู้คนที่มีอุปนิสัยใจคอตลอดจนวัฒนธรรมขนบประเพณีแตกต่างกัน ซึ่งจะต้องทรงดำเนินพระราชภารกิจร่วมกับบุคคลเหล่านั้น
ทรงต้องใช้ทั้งพระสติปัญญาไหวพริบในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์มากที่สุด เช่น เมื่อทรงพบพระเจ้าแผ่นดินประเทศที่ทรงชอบดื่มสุราและเมา ก็ต้องทรงแกล้งเมาทั้งที่มิได้เสวยสุรา เพื่อให้การสนทนาตอบโต้ทันกันและเป็นไปในลักษณะเดียวกัน แต่สิ่งที่ทรงหนักพระทัยมากที่สุดก็คือความประพฤติและการกระทำของข้าราชบริพารบางพระองค์บางคนที่มุ่งแต่ความสุขสนุกสนานส่วนตัวไม่พยายามเข้าใจถึงพระราชภารกิจและพระราชประสงค์ ทำให้ต้องทรงเสียทั้งเวลาและแรงงานโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเท่าที่ควร ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงพระราชปรารภกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“—แต่คนไทยทั้งหมดไม่มีใครชอบใจในความประพฤติของฉัน และเหนื่อยหน่ายในความลำบากที่ต้องติดตามฉันไปในที่พระราชพิธีไม่พึงใจ ไม่พอใจในการที่ฉันไม่ไปในที่ล่อแหลมซึ่งฉันไม่ชอบใจ—“
ด้วยเหตุนี้ทำให้ข้าราชบริพารผู้นั้น ซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรองจัดกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปสถานที่ต่าง ๆ ตามที่ได้รับเชิญ มีทั้งที่สมควรเสด็จฯ ไม่สมควรเสด็จฯ ในที่ได้ประโยชน์น้อย ได้ประโยชน์มาก ผู้ทำหน้าที่กลั่นกรองจะต้องเลือกสถานที่ที่ควรเสด็จฯ และได้ประโยชน์มากที่สุด แต่การณ์กลับไม่เป็นดังที่ควร เป็นเหตุให้ทรงต้องเสียทั้งเวลาและเหน็ดเหนื่อยโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังไม่ได้ประโยชน์แก่บ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่ทรงอึดอัดขัดข้องเป็นที่ยิ่ง ดังปรากฏความรู้สึกนี้ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ด้วยความขัดข้องพระทัยเช่นนี้พระราชหัตถเลขาที่ทรงกล่าวว่า “—ฉันเสียคนก็เพราะเกิดมาไม่มีกำลังพอ แลมีความอยากรู้อยากจำเกินไป แลรักเมียรักบ้านเมือง รักพวกพ้องในบางกอกจนมากเกินไป—“ ข้อความนี้จึงแฝงนัยแห่งความท้อถอยและผิดหวังในผู้ตามเสด็จบางองค์บางคน
หมายเหตุ: คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ความขัดข้องพระทัยในรัชกาลที่ 5” โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2552)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561