เมื่อรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตร “สำนักโสเภณี” ในปีนัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉายคราวเสด็จประพาสแหลมมลายู พ.ศ. ๒๔๓๓ ที่บ้านระนองของพระยารัตนเศรษฐี ปีนัง (ภาพจาก Leiden University Libraries, Netherlands)

“—ต้องไปเที่ยวดูพอให้รู้เห็นบ้าง ว่าการทั้งปวงนั้นเป็นอย่างไร—”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมลายู รัตนโกสินทรศก 109 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้อความที่ว่า “—ต้องไปเที่ยวดูพอให้รู้เห็นบ้าง—” นั้นทรงหมายถึงการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปดูสำนักโสเภณี ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความตั้งพระราชหฤทัยในอันที่จะเสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง เพราะในด้านมืดของแต่ละประเทศนั้นหากเสด็จฯ เป็นทางการแล้วจะไม่ใคร่ได้มีโอกาสดูรู้เห็น

แต่ครั้งนั้นเป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์ จึงทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะได้เสด็จฯ ไปดูทุกๆ ที่ของบ้านเมืองนั้นในทุกๆ ด้าน ดังที่ทรงกล่าวไว้ว่าเสด็จฯ ไป “—ดูพอให้รู้เห็นบ้าง—”

การเสด็จไปเพื่อดูพอให้รู้เห็นครั้งนั้น เป็นการเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมลายู ใน พ.ศ. 2433 ครั้งนี้นับเป็นครั้งพิเศษ เพราะทรงแจ้งพระราชประสงค์ว่าจะเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ โปรดให้ใช้พระนามระหว่างการเสด็จฯ ว่า “เจ้าจักรี” โดยทรงให้เหตุผลว่า “—เพื่อจะให้ได้เห็นการที่ไม่เคยเห็น และไม่ควรเห็นได้ในเวลาทำยศให้ทั่วตามความมุ่งหมายที่จะเที่ยวอย่างเป็นสามัญ—” ทั้งนี้เพราะพระองค์เคยเสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายูอย่างเป็นทางการมาแล้วถึง 2 ครั้ง ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรความเจริญต่างๆ ของบ้านเมืองที่เป็นเมืองขึ้นของอารยประเทศ การได้รู้ได้เห็นทั้ง 2 ครั้ง จึงเป็นการรู้เห็นอย่างเป็นทางการและเหมาะสมกับการเป็นพระราชอาคันตุกะ

แต่ครั้งนี้มีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรในสิ่งที่ไม่เคยเห็นและไม่ควรเห็น ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า “—ครั้งนี้มีความประสงค์จะดูจะรู้มากกว่าความสนุก ถึงว่าความรู้ที่เรียนได้ในทางไม่ดี ก็ควรจะจดจำไว้พออย่าให้ลืมเสียดีกว่า จึงจดไว้ตามที่จำได้—”

ด้วยเหตุนี้การบันทึกเรื่องนี้จึง “—เป็นการบันทึกไว้สำหรับความทรงจำ มิใช่หนังสือแต่งให้คนอ่าน บางครั้งจึงมีบางคำที่ผู้ใกล้ชิดจึงจะเข้าใจ—”

การเสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์ครั้งนั้นทรงพระเกษมสำราญ เพราะทรงรู้สึกอิสระในการที่จะเสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่ที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่อย่างแท้จริงของชาวบ้าน เช่น ตลาดสดและซื้อของกินของใช้ที่ชาวบ้านกินและใช้ ทรงเล่าถึงวิธีการเสด็จฯ ไว้ว่า “—ทำเป็นไพร่อยากดูอะไรๆ เล่นตามปกติบ้านเมือง—ปลอมไปเที่ยวดูตามร้านแขกและร้านเจ๊ก—ไปซื้อซาเต๊ะกับกล้วยแขกตามที่น่าตึกริมถนนกิน—”

นอกจากการเสด็จประพาสเพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินปกติของสามัญชนแล้ว อีกสถานที่หนึ่งซึ่งก็ถือเป็นการทำมาหากินของทุกบ้านเมือง แต่หากเสด็จฯ อย่างเป็นทางการแล้วจะไม่ทรงมีโอกาสได้เห็น นั่นคือ สำนักโสเภณี

การเสด็จฯ ครั้งนั้น นายเต๊กซุน คนในตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากที่ปีนัง เพราะมีกิจการต่างๆ มากมาย รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้องกับโสเภณี จึงรับอาสาพาพระองค์ทอดพระเนตรสำนักโสเภณีในปีนัง ดังที่ทรงเล่าว่า “—โรงที่เราไปดูนั้นที่ปีนังโรงเดียว—เพราะเป็นตึกที่เต๊กซุนให้เช่า ทั้งเขาเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงคนพวกนี้อยู่โดยมาก จึงได้ขึ้นไปดูได้ เพราะคนพวกนี้ไม่รับคนชาติใดนอกจากจีนด้วยกัน—”

เมื่อได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรแล้ว ทรงบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสำนักโสเภณีตามที่ทรงเห็นอย่างละเอียด ทั้งการแต่งกาย การต้อนรับ ลักษณะการจัดสถานที่ วิธีการรับแขก ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า “—ยังการที่เที่ยวกลางคืนอีกอย่างหนึ่งน่าเล่าเต็มที มิใช่เรามีความปรารถนาในการผู้หญิงริงเรืออะไร—”

ทรงเล่าถึงการเตรียมการต้อนรับไว้ว่า “—ชักรอกผ้าระบายใต้สาหร่ายกับม่านขึ้นแขวน ขนเครื่องดีดสีตีเป่าออกมาตั้ง—”

เมื่อเตรียมสถานที่แล้ว ต่อจากนั้นก็เตรียมน้ำชาออกมาตั้งเลี้ยง มีเด็กผู้หญิงอายุสัก 13-14 ปี 2 คน มาคอยปรนนิบัติ ทรงเล่าถึงลักษณะทรงผมและการแต่งกายของเด็กผู้หญิงไว้ว่า “—ขวั้นผมเข้าไปครึ่งหัวถักเปียผม ตีนไรไว้ยาวสัก ๒ นิ้ว กริบเสมอ นุ่งกางเกงแพรสวมเสื้อแพรติดขลิบใหญ่—เด็ก ๒ คนนี้เป็นคนมาฝึกหัดการปฏิบัติตั้งแต่ดีดสีขับร้องเป็นต้นไป ใครจะเล่นหัวลูบคลำก็ได้ เว้นไว้แต่ถ้าจะ ‘เปิด’ ต้องเสียเงินมากในคราวแรก—”

ทรงเล่าถึงการแต่งตัวและลักษณะเฉพาะของผู้หญิงอื่นๆ ที่ออกมาร่วมต้อนรับ “—ผมเกล้าอย่างจีนมีสไตล์ต่างๆ ดูไม่ใคร่เหมือนกัน สวมถุงเท้ารองเท้าอย่างจีน นางคนหนึ่งตีเล็กเหมือนตีนกวางแท้ๆ แต่ดูมันเดิรคล่องแคล่วไม่กระโผลกกระเผลกเลย เสื้อชั้นในใช้รัดเชือกอย่างเสื้อละคอน มีตุ้มหูทองเปล่าบ้างประดับหยกบ้าง—การปฏิบัติก็คือผลัดกันร้องและดีดสีต่างๆ และเอากล้องมรกู่มาบรรจุยาให้สูบบ้าง มีมานั่งให้หยอกเป็นพื้น—”

การหยอกล้อและการปฏิบัติดังกล่าวดำเนินไปพร้อมกับการดื่มน้ำชาและรับประทานอาหารเบาๆ ต่อจากนั้นจึงมีการเลือกคู่ที่ตนพอใจ ซึ่งทรงเรียกว่า “เปรียบคู่” ซึ่งทรงจำเป็นต้องเลือกเพื่อผู้อื่นจะได้เลือกต่อ โปรดให้พาผู้หญิงที่เลือกไปที่บ้านสวนของเต๊กซุน ทรงบรรยายถึงสถานที่นั้นไว้ว่า “—สกปรกเต็มที—เหม็นเยี่ยวออกคลุ้งไปทั้งนั้น—” ทรงเล่าถึงข้อสงสัยในเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับสตรีจีนว่า “—เขาว่าลัดตีนเพื่อจะให้ลั่นขึ้นไปข้างบน—”

เมื่อไปถึงห้องซึ่งน่าจะได้ทรงพิสูจน์ข้อสงสัยนั้น ดังที่ทรงเล่าว่า “—ครั้นเมื่อไปถึง ใครๆ ก็พากันรอเรา เห็นมันไปกีดเขาอยู่ จึงตกลงยอมไปเข้าห้องดูนางตีนเล็ก ไม่เห็นจริงดังคำกล่าวเลย แต่เราไม่ได้มีธุระอันใดต่อไป นั่งเล่นอยู่ข้างนอก ซึ่งเป็นที่ประชุมต่อ เวลาดึกมากจึงได้กลับมา—”

นอกจากโสเภณีชาวจีนที่ทรงมีโอกาสรู้เห็นชัดเจนแล้ว ยังทรงสังเกตสิ่งรอบๆ พระองค์ เช่น ทรงเล่าถึงลักษณะของโสเภณีญี่ปุ่น “—พวกญี่ปุ่นนั้นทำหัวเป็นฝรั่ง แต่ยังแต่งตัวเป็นญี่ปุ่นอยู่ ผิวพรรณมันแห้งๆ ดูหน้าและตัวเป็นพรุนๆ เทือกกล้วยไข่ไปแทบทุกคน ดูใกล้ๆ ครุคระเหลือทน ทำกิริยาอาการจะใคร่เป็นฝรั่ง—” และยังทรงเล่าถึงสภาพของโสเภณีที่น่าสังเวช “—แต่ถ้าดึกหน่อยแล้ว นั่งหลับอยู่กับเก้าอี้ ดูน่าสังเวช ดูกิริยาไม่เป็นเชิงยวนยีให้เกิดความกำหนัด—”

การเสด็จประพาสสำนักโสเภณีครั้งนั้น แสดงอย่างชัดเจนถึงความเป็นผู้ใฝ่รู้เรื่องรอบพระองค์ในทุกๆ ด้านอย่างจริงจัง ละเอียดลออ และทรงสามารถที่จะวิเคราะห์ส่วนดีส่วนเสียได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในหมู่มวลมนุษย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เมื่อรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตร ‘สำนักโสเภณี’ ในปีนัง” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 7 พฤษภาคม 2561