เผยแพร่ |
---|
การเสด็จประพาสแหลมมลายูของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งที่ 5 เป็นที่รู้กันว่าเสด็จแบบ “ไปรเวต” ในฐานะเจ้านายพระองค์หนึ่งของพระราชวงศ์จักรี ซึ่งหากมองผิวเผินอาจเหมือนการเสด็จประพาสท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวครั้งนี้พระองค์ทรงบันทึกไว้ว่า มีความประสงค์ “จะดู จะรู้” มากกว่าความสนุก
การเสด็จประพาสแหลมมลายูครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นช่วงที่ดินแดนละแวกนั้นอยู่ในการปกครองของอังกฤษในสมัยนั้น ทรงบันทึกในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมะลายู รัตนโกสินทรศก 109” ทรงเล่าว่า ทรงตัดสินใจเดินทางแบบ “อินคอกนิโต” (Incognito) หรือไม่เปิดเผยพระนาม ซึ่งสุพจน์ แจ้งเร็ว ผู้เขียนบทความ “รัชกาลที่ 5 ทรงเที่ยวกลางคืน” แสดงความคิดเห็นว่า ทรงมีเหตุผลส่วนพระองค์หลายประการที่ไม่ได้ทรงแสดงให้ปรากฏ
ในพระราชนิพนธ์ยังมีข้อความเอ่ยถึงวัตถุประสงค์หนึ่งของการเสด็จฯครั้งนี้ว่า “เพื่อจะให้ได้เห็นการที่ไม่เคยเห็นและไม่ควรเห็นได้ในเวลาทำยศให้ทั่ว…” ซึ่งจากพระราชนิพนธ์จะแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงสมพระราชหฤทัยกับหลายอย่างเมื่อไม่ต้องทรงระมัดระวังพระองค์นัก
ผู้เขียนบทความเล่าว่า พระราชนิพนธ์นี้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อมีนาคม พ.ศ. 2475
ลักษณะที่น่าสนใจของพระราชนิพนธ์นี้คือต้นฉบับเป็นลายพระหัตถ์ ทรงไว้เป็นสมุดเล่มเล็ก 6 เล่ม เรียกได้ว่าเป็นลักษณะบันทึกความทรงจำ ไม่ใช่หนังสือที่ทรงแต่งให้คนอ่าน
บันทึกระยะทางทรงเริ่มตั้งแต่เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 จบลงวันที่ 22 มิถุนายน ปีเดียวกัน เป็นวันที่เสด็จฯกลับมาถึงกรุงเทพฯ ส่วนต่อมาถึงมีว่าด้วย “เรื่องเที่ยวกลางคืน” ซึ่งเชื่อว่าพระราชนิพนธ์เพิ่มเมื่อเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ
ทรงบันทึกว่าการเสด็จถึงสำนักโสเภณีนั้นจำเป็นต้องมีผู้นำร่อง ผู้ที่นำร่องให้การ “เที่ยวกลางคืน” ครั้งนี้คือ “จีนเต๊กซุน” แต่ในพระราชนิพนธ์นี้ไม่ได้บันทึกว่า “จีนเต๊กซุน” คือใคร
“จีนเต๊กซุน” ไปปรากฏในจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมะลายู คราว ร.ศ. 109 ร.ศ. 117 ร.ศ. 119 ร.ศ. 124 ร.ศ. 128 ซึ่งส่วนที่เป็นร.ศ. 109 ระบุว่า “จีนเต๊กซุนน้องภรรยาพระยารัตนเศรษฐี”
พระยารัตนเศรษฐีคนที่ว่านี้คือ “คอซิมก๊อง” แห่งสกุล ณ ระนอง สุพจน์ อธิบายว่า เป็นเจ้าเมืองระนองคนที่ 2 ครองตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2420-2439 เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพรคนแรก ต่อมายังได้เลื่อนยศเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี
กลับมาที่พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวถึงสถานที่ซึ่งเสด็จไปนั้นเป็นตึกของเต๊กซุนให้เช่า จึงทรงขึ้นไปทอดพระเนตรได้ เพราะคนพวกนี้ไม่รับคนชาติใดนอกจากจีนด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ในพระราชนิพนธ์ไม่ได้บันทึกว่าเต๊กซุน นำเสด็จในวันไหนบ้าง
สำหรับเนื้อหาในส่วน “เที่ยวกลางคืน” ที่เหลือนั้น พระองค์ทรงเล่าถึงลักษณะย่าน “โรงคนชั่ว” ทั้งที่ปีนังและสิงคโปร์ แต่ละเมืองแบ่งเขตต่างกัน อธิบายถึงตึกของชาวกวางตุ้งที่เสด็จไป จากนั้นจึงทรงเล่าวิธีรับแขก ซึ่งทรงอยู่ในเหตุการณ์ด้วย มีข้อความว่า
“การรับแขกนั้นคือแรกขึ้นไป เจ้าพวกผู้ชายคนใช้กาหลกันอย่างยิ่ง ชักรอกผ้าระบายที่ใต้สาหร่ายกับม่านขึ้นแขวน ขนเครื่องดีดสีตีเป่าออกมาตั้ง และสั่งให้ไปทำกับเข้าที่เตี๊ยมใกล้กับที่ตึกนั้น มีน้ำชามาเลี้ยงก่อน น้ำชานั้นใช้ถ้วยชงลายสี่รดูอย่างเลว มีจุ๊นกลมอย่างที่ไทยๆ เราเรียกว่าจุ๊นยี่ปุ่นทำด้วยตะกั่ว ในนั้นมีใบชาอยู่ในก้นถ้วย แล้วเอาน้ำร้อนเปล่ามาริน เวลาจะกินขยับฝาให้เคลื่อนกันใบชา ซดทางช่องข้างฝาถลําลงไปนั้น
ในเวลาแรกนี้มีเด็กผู้หญิงอายุสัก 13-14 ปี 2 คน ขวั้นผมเข้าไปครึ่งหัวถักเปียผม ตีนไรไว้ยาวสัก 2 นิ้วกริบเสมอ นุ่งกางเกงแพรสวมเสื้อแพรติดขลิบใหญ่อย่างผู้หญิง แต่ดูรูปร่างหน้าตามันเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จนตกลงกันเรียกว่าอ้าย เด็ก 2 คนนี้เป็นคนมาฝึกหัด การปฏิบัติตั้งแต่ดีดสีขับร้องเป็นต้นไป ใครจะเล่นหัว ลูบคลําก็ได้ เว้นไว้แต่ถ้าจะ ‘เปิด’ ต้องเสียเงินมากในคราวแรก มีผู้หญิงออกมารับหน้าอยู่ 2 คนแต่ยังไม่ได้แต่งตัว คือสวมเสื้อและกางเกงผ้าดํา ต่อคนอื่นแต่งตัวมาเปลี่ยนแล้วจึ่งได้กลับไปแต่งตัวใหม่
การที่แต่งตัวนั้น คือสวมกางเกงแพรสีหนึ่ง เสื้อสีหนึ่ง เป็นสีเทาๆ ด่าง ๆ ไม่ฉูดฉาด เสื้อใช้แขนโตอย่างมาก ติดขลิบดําและลูกไม้โตรอบ ผมเกล้าอย่างจีนมีสไตลต่างๆ ดูไม่ใคร่เหมือนกัน สวมถุงเท้ารองเท้าอย่างจีน นางคน 1 ตีนเล็ก เหมือนตีนกวางแท้ๆ แต่ดูมันเดิรคล่องแคล่ว ไม่กระโผลก กระเผลกเลย เสื้อชั้นในใช้รัดเชือกอย่างเสื้อละคอน มีตุ้มหูทองเปล่าบ้างประดับหยกบ้าง ปืนที่ปักผมก็เหมือนกัน การปฏิบัติก็คือผลัดกันร้องและดีดสีต่างๆ และเอากล้องมรกู่มาบรรจุยาให้สูบบ้าง มีมานั่งให้หยอกเป็นพื้น คนมาในชั้นที่ 1 กับชั้นที่ 2 จนหมดโรง แต่วันที่ไปนี้ เต๊กซุนพาคนโรงอื่นมาด้วยประมาณสัก 40 คน และไปพาคนญี่ปุ่นมาให้ดูด้วยแต่จะงดไว้กล่าวทีหลังต่อไป…”
เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้วก็ถึงช่วงการตกลง “เปรียบคู่”
“การเลี้ยงเสร็จแล้วยังมีการที่ยืดยาวใหญ่อีกต่อไปคือการที่จะเปรียบคู่ ผู้ต้อนรับเขาอยากรู้ว่าเราจะชอบคนใด เราไม่มีความประสงค์จะทําไม ไม่รับก็ไม่ฟัง ใครๆ ก็ไม่ตกลงกันลงไปได้ เราเห็นจะเป็นเรามากีดเขาอยู่จึงต้องยอมรับเลือกสําหรับดูเล่นคน 1 คือนางตีนเล็ก เขาว่ารัดตีนเพื่อจะให้ลั่นขึ้นไปข้างบน เราไม่เชื่อจึงใคร่ที่จะเห็นว่าจริงหรือไม่อยู่บ้าง เรารับแล้วคนอื่นจึงเลือกกันต่อไป แต่เป็นการกาหลอันยิ่งใหญ่ เพราะมันไม่ใคร่ยอม รับคนต่างประเทศ ต้องทาวกันแล้วทาวกันเล่าอยู่เป็น เท่าหนึ่งเท่าใด อีตีนกวางยิ่งเล่นตัวยิ่งใหญ่ไปกว่าคนอื่น เขาแอบไปได้ยินว่ากันจนร้อยห้าสิบเหรียญแล้วยังไม่ตกลง เราเห็นเขาจะฉิบหายเพราะค่าดูเท่านั้น บอกเลิกเสียก็ไม่ยอม กลับมาบอกตกลงเป็นได้ ไม่รู้ว่าจะเอาเท่าใด…”
จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเลือกเพื่อไม่กีดขวางผู้ตามเสด็จอื่นๆ ขณะที่ความเชื่อที่พระราชนิพนธ์มีข้อความว่า “รัดตีนเพื่อให้ลั่นขึ้นไปข้างบน” สุพจน์ อธิบายว่า ความเชื่อรัดตีนเพื่อให้อวัยวะบางส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปใหญ่ขึ้นนั้น ไม่เคยมีหนังสือใดอ้างถึงความเชื่อนี้ สันนิษฐานว่าอาจเป็นเสียงร่ำลือ
ประการต่อมาที่ทรงบรรยายถึงสถานที่นั้นว่า “สกปรกเต็มที” และ “เหม็นเยี่ยวออกคลุ้งไปทั้งนั้น” จึงต้องเคลื่อนย้ายไปที่บ้านเต๊กซุน โดยให้ผู้หญิงล่วงหน้าไปก่อนพร้อมคนจากสำนักอื่นอีกจำนวนหนึ่ง
เมื่อถึงห้อง คาดว่าน่าจะได้ทรงพิสูจน์ข้อสงสัยเรื่องความเชื่อนั้นแล้ว จากที่ทรงเล่าว่า
“ครั้นเมื่อไปถึง ใครๆ ก็พากันรอเรา เห็นมันไปกีดเขาอยู่จึ่งตกลงยอมไปเข้าห้องดูนางตีนเล็กไม่เห็นจริงดังคำกล่าวนั้นเลย แต่เราไม่ได้มีธุระอันใดต่อไป นั่งเล่นอยู่ข้างนอก ซึ่งเปนที่ประชุมต่อ เวลาดึกมากจึงได้กลับมา”
ส่วนเรื่องโสเภณีญี่ปุ่นที่ทรงเล่าค้างไว้ มีข้อความดังนี้
“อีกพวกหนึ่งนั้นคือฝรั่งกับญี่ปุ่น คน 2 พวกนี้อยู่ปนกันทั้ง 2 เมือง ที่สิงคโปร์ฝรั่งมีมาก แต่ที่ปินังมีน้อย ญี่ปุ่นนั้นเป็นสวะไปทั้ง 2 แห่ง ตึกที่อยู่ตกแต่ง เป็นประเภทเดียวกันคืออย่างฝรั่ง เพราะตั้งใจจะรับพวกนั้นมากกว่าคนอื่น แต่ไม่เลือกว่าชาติใดภาษาใดเปนรับ ได้หมดทั้งนั้น เรือนตอน 1 ๆ มีตั้งแต่ 3 คนเป็นอย่าง น้อยขึ้นไปหา 9-10 คนลงมานั่งเก้าอี้อยู่ตามใต้ถุนริมถนน ตอนหัวค่ำมีร้องเพลงญี่ปุ่นเซงแซ่ไป คนไปคนมากวักบ้างเรียกบ้าง ถ้าไปพูดจาที่หน้าโรงถึงเหนี่ยวรั้งไว้ก็มี แต่ถ้าดึกหน่อยแล้วนั่งหลับอยู่กับเก้าอี้ดูน่าสังเวช ดูกิริยาไม่เป็นเชิงยวนยีให้เกิดความกําหนัด หรือจะเป็นด้วยเราเป็นไทยมันจะไม่ทํา หรือทําแต่เราไม่เข้าใจและไม่ชอบใจ ดูมันไม่ชวนที่จะเกิดความยินดีเลย
เรื่องเหม็นปากอีกอย่างหนึ่ง อยู่ข้างไม่ได้การทั้งเจ๊กญี่ปุ่น และฝรั่ง ว่าด้วยดวงหน้าและผิวพรรณฝรั่งดูหน้ามันแก่น ๆ เหมือนกับผู้ชาย น่าเกลียดน่ากลัวมากกว่าน่าเอ็นดู คนหนึ่งที่ว่าเป็นดีวิเศษก็เป็นคนมีลูกแล้ว พวกญี่ปุ่นนั้นทําหัวเป็นฝรั่ง แต่ยังแต่งตัวเป็นญี่ปุ่นอยู่ ผิวพรรณมันแห้งๆ ดูหน้าและตัวเปนพรุน ๆ เทือกกล้วยไข่ไปแทบทุกคน ดูใกล้ ๆ ครุคระเหลือทน ทํากิริยาอาการจะใคร่เป็นฝรั่ง แต่ร่างกายมันเป็นเจ๊กเราดีๆ
เรื่องกินอยู่อะไรไม่มี เล่นแต่เรื่องเหล้ากันเท่านั้น เหล้าก็ใช้เหล้าฝรั่ง น้ำชาไม่กินกันเลย เครื่องแต่งเรือนเป็นของฝรั่งมีจนปิยาโน แต่ดีดก็ไม่ได้มีไว้เป็นเครื่องประดับเท่านั้น แต่เรือนที่รับคนไปมาเห็นจะไม่ได้อยู่ ทีจะมีที่ปอน ๆ ลง ไปแห่งใดแห่งหนึ่งต่างหาก เพราะดูคนมันมากกว่าห้องที่มี ดูตอนหนึ่งจะมีสัก 3-4 ห้องเท่านั้น คนพวกนี้ถ้าเวลาดึกมากลง ที่หลับก็หลับไป ที่ตื่นลงมาเดิรไปมาอยู่ตามถนนบ้าง ขี่รถเที่ยวไปตามถนนบ้าง สังเกตได้ที่ร้องเพลง เสียงเอื่อยไปตามถนนเป็นร้องขายตัวเองอยู่ในตัว สําหรับใครจะเรียกให้แวะก็เรียกได้ เรื่องร้องเพลงเช่นนี้ มีจนสามยามสิบทุ่มยังได้ยินอยู่”
กลุ่มต่อมาที่พูดถึงคือเรื่อง “คนเถื่อน” ข้อความมีว่า
“คนอีกพวกหนึ่งนั้นเป็นคนไม่ได้อยู่โรงหากินทั่วไปเหมือนที่กล่าวมาแล้ว เป็นคนมีที่อยู่ในบ้านต่างๆ มักเป็นคนมีผัวและมีลูกเกือบทุกคน ที่บ้านนั้นไม่ได้รับผู้ชาย เป็นแต่มีคนมารับไปบ้าน เช่นเต๊กซุนจะเรียกที่ไหนเรียกได้ คนพวกโรงนั้นถ้าพอเข้าห้องเรียกเงินก่อนทุกคราว แต่คนพวกนี้เวลาก่อนเวลาหลังอย่างไรไม่พูดถึงเรื่องเงินทองเลย เพราะเต๊กซุนเป็นที่พึ่งอาศัย ถ้าขัดสนมาขอเมื่อใดให้เป็นคราวๆ ไม่ได้คิดเป็นราคาค่างวด แต่ถึงที่สิงคโปร์ไม่มีเต๊กซุนก็เป็นเช่นนี้ได้เหมือนกัน ที่นั้นมีเรือนแม่สื่อเปนคนไทยเข้าไปอยู่ในกรอกที่ลับๆ เรือนที่อยู่นั้นจัดไว้สําหรับทีเดียว
เปนอย่างเรือนฝรั่ง ชั้นล่างเป็นพื้นปูอิฐ แต่มีโต๊ะเก้าอี้ไม้อย่างเลวๆ ครัวไฟก็สอาดพอใช้ เสียแต่เหม็นเยี่ยวไปหน่อยหนึ่ง เพราะเว็จอยู่ใกล้ ชั้นบนตั้งเตียงนอนมีที่ล้างหน้า แต่เลวๆ ปานกันทั้งนั้น เจ้าของเรือนมีที่นอนต่างหาก แต่อยู่บนนั้นเองปูลงไปกับพื้นอย่างไทยๆ เปนแต่ไม่เปื้อนเปรอะ หมดจดทั้งเรือนๆ เช่นนี้เห็นจะมีมาก แต่เราได้ไปเห็นแห่งเดียวเท่านั้น เป็นแต่ได้ฟังเขาเล่าว่ามีที่อื่นอีก คนพวกที่จะเรียกได้ว่าคน ‘เถื่อน’ เหล่านี้มักจะเป็นคนพ่อเป็นฝรั่งบ้างเป็นเจ๊กบ้าง แม่เป็นแขกหรือเป็นคนไทยแต่ไปแต่งตัวเป็นแขก
บางทีก็แม่เป็นพะม่าพ่อเป็นฝรั่ง อยู่ในคงพูดแขก พูดเจ๊กพูดไทยได้ทั้งสามภาษา โดยมากบางคนก็พูดอังกฤษได้ แต่คงพูดแขกเป็นท้องภาษา ถึงพูดไทยไม่ได้ก็เข้าใจเกือบทุกคน คนเหล่านี้แต่งตัวเป็นแขก แต่ผัดหน้าแต่งตัวคล้ายๆ ไทย กินหมากสูบบหรี่ ไม่ใคร่เหม็นปาก พวกที่ปินังกินเหล้าจัดอยู่หน่อยหนึ่ง หน้ามักจะดี ผิวขาวกว่าแขกมะลายู แต่ไม่ถึงเจ๊กหรือฝรั่ง ที่มีความรู้ดีจนน่าพิศวงว่าทําไมจึ่งไปเป็นคนเช่นนี้ได้ก็มี
เราพบที่สิงคโปร์คน 1 รูปร่างหน้าตาเป็นเมียขุนนางได้ดี ๆ รู้ภาษาอังกฤษพูดอ่านเขียนได้คล่อง เรียนที่แรฟฟัลสกูล อายุก็เพียง 19 ปีเท่านั้นมันเป็นคนเช่นนี้ได้ขันเต็มที การที่เป็นทั้งนี้เพราะมันไม่มีเมียน้อยกันเท่านั้น คนเช่นนี้คงจะคิดอยากดีมากเกินไป เช่นอีแฟนคบกับอีแม่สื่อจะหาผัวให้ ถูกเข้าคนหนึ่ง ผิดไปแล้วหาใหม่ ผิดอีกหาใหม่ก็ผิดร่ำไปจนกลายเปนไม่มีตัวกันเท่านั้น”
พระองค์ทรงเล่าถึงคนไทยที่ทรงพบ ซึ่งก็อยู่ใน ประเภท “คนเถื่อน” เช่นกัน ทรงเล่าว่า
“คนไทยที่เราพบคน 1 นั้นเป็นคนกฎีจีน ไม่ได้ไว้มวย ไว้ผมประบ่า เขาชอบกันแต่เราเกลียดเต็มที อีแม่สื่อชื่อเอมเป็นคนบ้านอยู่วัดสระเกศ เป็นเมียแขก ดูท่าทางตอแหลเต็มที คนหากินพวกนี้ดูมันรู้จักกันหมด เราเข้าใจว่าคนพวกนี้เห็นจะเป็นพวกที่ดีกว่า 2 พวกที่ว่ามาก่อนนั้น และมักสรรเสริญกันว่ามีวิชชาดีต่าง ๆ ในเชิงนักเลง.”
อ้างอิง :
สุพจน์ แจ้งเร็ว. “รัชกาลที่ 5 ทรง ‘เที่ยวกลางคืน'”. ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน, 2550
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2561