ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเป็นพระอนุวงศ์ฝ่ายในเพียงองค์เดียวที่ได้มีโอกาสถวายการรับใช้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยใกล้ชิด ได้ทรงรับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกประการนับแต่เสด็จเสวยสิริราชสมบัติใน พ.ศ. 2453 ตราบจนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2468
ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์บทนิพนธ์ในตอน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖” และ “ผู้เขียน” ซึ่งถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราชเรื่อยไปจนเสด็จสวรรคตที่องค์ผู้ทรงนิพนธ์ได้ทรงพบเห็นและทรงอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วยองค์เอง จากการที่องค์ผู้ทรงนิพนธ์ทรงเป็นฝ่ายในที่ได้มีส่วนรู้เห็นความเป็นไปในราชสำนัก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแวดล้อมไปด้วยพระราชวงศ์และข้าราชบริพารฝ่ายหน้า
บทนิพนธ์ส่วนหนึ่งถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “พระราชวงศ์จักรีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่๖)”
เนื้อหาตอนหนึ่งมีว่า
“ถ้าเราจะหยิบยกอคติออกวางให้อารมณ์ของเราเป็นกลางจริงๆ แล้ว. ก็จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงเป็นสุภาพบุรุษอย่างประเสริฐ. และมีน้ำพระราชหฤทัยดีอย่างหาได้ด้วยยาก.
ที่เหตุการณ์เป็นไปแล้วต่างๆ ก็เพราะพระองค์ทรงมีกรรมเสมือนเพ็ชร์น้ำหนึ่งที่ตกอยู่ในตม. ผู้ที่รู้จักพระองค์จริงๆ จึงมีความเศร้าโศกและสงสารอยู่เป็นเนืองนิตย์ และทุกคนคงจะช่วยกันอุทิศกุศลกรรมทั้งหลายที่ได้ทำแล้ว ไปทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์.
ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ขออธิษฐานว่า -เดชะแห่งความสัตย์สุจริตที่ข้าพเจ้าได้เล่ามาแล้วนี้รวมทั้งความจงรักภักดีและกตัญญูกตเวทีที่ข้าพเจ้ามีอยู่ต่อพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ขอให้ทรงประสพแต่ความศุขสำราญในที่ทุกแห่งไม่ว่าจะประทับอยู่ในที่ใดๆ ขอพระองค์จงทรงมีชัยแก่ผู้ที่รักตัวยิ่งกว่าพระองค์, ขออย่าให้ทรงถูกเขาแย่งชิงกันจนชอกช้ำเหมือนชาตินี้อีกเลย, และถ้าแม้จะยังมีชาติใหม่สำหรับพระองค์อีก.
ก็ขอให้ได้เป็น- “ตาผมยาวใส่แว่นตามือคลำหนังสืออยู่ตลอดวันนั้น…ศุขจริงๆ” ให้สมดังพระราชประสงค์จงทุกประการเทอญ”
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของบัตรสนเท่ห์ส่งมาตำหนิและข่มขู่รัชกาลที่ 6 เกิดขึ้นจากอะไร?
- ร.6 ทรงใช้ลัทธิชาตินิยมลบภาพ “ลาวล้านนา” ผ่านการศึกษา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทส่งท้ายที่ท่านหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ถวายรัชกาลที่ 6 ใน “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นสมัยรัชกาลที่ ๖)”. สำนักพิมพ์มติชน, 2561.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2561