เมื่อฝรั่งมอง “ความเป็นทาส” และ “ความเป็นไท” ของสยาม

คณะราชทูตไทยเข้าเฝ้าฯ จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ที่พระราชวังฟงแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2404 พระยาศรีพิพัฒน์ รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นราชทูต, จมื่นไวยวรนารถ (วอน บุนนาค) เป็นอุปทูต, พระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) เป็นตรีทูต และผู้คุมเครื่องราชบรรณาการ รวม 28 นาย (จากหนังสือ ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

“…ข้าพเจ้าเคยใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซียยาวนานกว่าสิบปี ได้พบเห็นผลเสียอย่างเลวร้ายอันเกิดจากการใช้อำนาจบาตรใหญ่และระบอบทาส เชื่อไหมว่าที่เมืองสยามนี่ ข้าพเจ้าก็ได้พบเห็นเรื่องที่น่าเศร้าน่าเวทนาไม่แพ้กัน ณ ดินแดนแห่งนี้ ผู้ด้อยกว่าจะต้องยอบกายเนื้อตัวสั่นเทาต่อหน้าผู้เหนือกว่า คอยรับฟังคำสั่งในท่าคุกเข่าหรือไม่ก็หมอบกราบ แสดงทีท่าว่ายอมสยบให้ เมืองทั้งเมือง สังคมทั้งสังคมในทุกระดับชั้น ล้วนตกอยู่ในสภาวะหมอบราบอย่างถาวรทั่วทุกหัวระแหง ทาสหมอบกราบนาย นายเล็กนายใหญ่หมอบกราบนายบ้าน ผู้นำทางทหาร พระสงฆ์ และไพร่ฟ้าทุกๆ คน ต่างหมอบกราบพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะมียศมีศักดิ์สูงส่งเพียงไรเมื่อชาวสยามอยู่ต่อเบื้องพระพักตร์ของเจ้าเหนือหัว จะต้องคลานเข่าหมอบกราบตราบเท่าที่องค์กษัตริย์ยังประทับอยู่ในสายตา การแสดงความเคารพด้วยอากัปกิริยานี้ไม่ใช่เฉพาะต่อพระองค์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงพระราชวังที่ประทับด้วย ยามใดที่พวกเขาผ่านไปทางประตูพระราชวัง ก็จะต้องแสดงความเคารพให้เห็น พวกข้าราชบริพารแถวหน้าต้องหุบกลดบังแดดของตน ไม่ก็หันหน้ายอบตัวไปทางทิศนั้น ข้างชาวเรือบนเรือนับพันๆ ลำที่แจวขึ้นล่องอยู่ในลำน้ำ ก็จะต้องนั่งคุกเข่า ถอดหมวกออก จนกว่าจะผ่านเลยพระราชวัง ตลอดแนวกำแพงวังมีพลธนูพร้อมอาวุธกระสุนดินเหนียวยิงได้รัศมีไกลเฝ้ารักษาการณ์อยู่ตามช่องเชิงเทินคอยควบคุมให้เป็นไปตามกฎ และลงโทษผู้ฝ่าฝืน เห็นจะต้องกล่าวเพิ่มเติมปิดท้ายว่า ประชากรที่อยู่ในสถานะหมอบราบกับพื้นเช่นนี้ นับจำนวนได้อย่างน้อยถึงหนึ่งในสาม หรือบางทีอาจถึงกึ่งหนึ่งของประเทศ ถ้าไม่นับชุมชนชาวจีน ประชากรที่ตกเป็นทาสทั้งทางกายและทางสินทรัพย์เหล่านี้น่ะหรือที่เรียกตัวเองว่าไท อันหมายถึงเสรีชน!!!…”

-อ็องรี มูโอต์ ชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนสยาม กัมพูชา และลาวในช่วงศตวรรษที่ 19 กล่าว (จากศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาวและอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ)

Advertisement

ทั้งนี้ มูโอต์เป็นผู้ที่ต่อต้านระบบทาสอย่างแข็งขัน และมักกล่าวย้ำความเลวร้ายของระบบทาส และการกดขี่อยู่บ่อยครั้งในบันทึกการเดินทางของตน

ข้อมูลจาก

อ็องรี มูโอต์ (เขียน) กรรณิการ จรรย์แสง (แปล), บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2559