“—อะไรที่ฝรั่งทำได้ คนไทยก็ทำได้—” : กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้ทรงรอบรู้กิจการช่างทุกประเภท

ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

“—อะไรที่ฝรั่งทำได้ คนไทยก็ทำได้—”

เป็นพระดำรัสของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ตรัสเมื่อครั้งนักบินชาวเบลเยียมได้นำเครื่องบินมาแสดงการบินให้คนไทยชมที่สนามม้าสระปทุม ครั้งนั้นทรงเป็นคนไทยคนแรก และเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรกที่ทดลองเสด็จขึ้นเครื่องบินไปพร้อมกับนักบินฝรั่ง

พระดำรัสนี้แสดงถึงพระอุปนิสัยของความเป็นคนจริง ไม่เกรงกลัวหรือย่อท้อ อีกทั้งยังทรงมุ่งมั่นตั้งพระทัยแน่วแน่ในการข้ามพ้นอุปสรรคทั้งปวง ดังจะเห็นพระอุปนิสัยนี้ได้อย่างชัดเจนจากพระประวัติของเจ้าชายแห่งสยามพระองค์นี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทรงเป็นเจ้าชายที่มีคุณลักษณะพิเศษประจำพระองค์ คือความกระตือรือร้นมุ่งมั่นและมีพระวิริยะอุตสาหะในการแสวงหาความรู้ด้านช่างทุกประเภทที่ทรง
สนพระทัย และความสนพระทัยของพระองค์ก็มิได้ทรงหยุดนิ่ง โดยเฉพาะด้านการช่างและเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งทยอยหลั่งไหลเข้ามาตลอดพระชนมชีพของพระองค์

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาวาด มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร พระบรมราชชนกทรงตระหนักพระราชหฤทัยถึงพระคุณสมบัติและความถนัดของพระราชโอรสพระองค์นี้เป็นอย่างดี ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ หน้าที่พระอภิบาลพระราชโอรสที่เสด็จไปทรงศึกษาต่อในทวีปยุโรป ความว่า

“—ชายบุรฉัตรอยู่ข้างจะเป็นคนขี้อวด มีท่าทางที่จะเป็นเช่นนักเรียนแต่ก่อนๆ คือมักจะอวดแลถือความรู้มากไปกว่าที่จะทำได้จริง แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นด้วยประสงค์จะแสดงความเท็จ เป็นด้วยตื่นๆ เมาๆ ตัวหน่อยๆ หนึ่ง ถ้ากวดให้มีความรู้ได้มากๆ จนความที่เชื่อตัวของตัวไม่ยิ่งไปกว่าความรู้แล้วก็คงจะใช้ได้ดี—”

ในส่วนของความถนัดนั้น ทรงเล็งเห็นถึงความสามารถและความถนัดทางการช่างของพระราชโอรสพระองค์นี้ แต่ก็ทรงทราบถึงพระประสงค์ของพระราชโอรส ที่มีพระประสงค์จะศึกษาวิชาการทหารตามที่นิยมกันในหมู่พระราชโอรส สืบเนื่องจากพระราชดำริที่ว่าพระเจ้าลูกเธอชั้นเจ้าฟ้านั้นควรจะเรียนทหารทั้งหมด เพราะถือการเป็นทหารนั้นมีเกียรติ และแม้ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ความรู้ด้านการทหารก็จะสามารถช่วยให้ทรงดำรงพระองค์เองได้อย่างมีเกียรติยศ ปรากฏถึงความตระหนักพระราชหฤทัยเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระราชโอรสพระองค์นี้ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ พระราชโอรส ซึ่งทรงกำลังศึกษาวิชาทหารบกในประเทศเยอรมนี ความตอนหนึ่งว่า

“—องค์บุรฉัตรนั้น ว่าเธออยากเป็นทหารเพราะฟังเทศนาขององค์สวัสดิ์ และอยากเอาอย่างลูก—”

เพื่อให้เป็นไปตามความพอพระทัยและพระประสงค์ของพระราชโอรสพระองค์นี้ และเพื่อความเหมาะสม จึงโปรดให้เจ้าชายหนุ่มได้ทรงเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมที่ตรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และศึกษาวิชาทหารช่างต่อที่โรงเรียนวิศวกรรมทหารที่ซัทแทม เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ยังเสด็จไปทรงดูงานทหารช่างสมัยใหม่แบบอังกฤษ เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย โปรดให้เข้ารับราชการด้านการทหารช่าง ตำแหน่งจเรทหารช่าง ในหน้าที่นี้ทรงพระวิริยะอุตสาหะทุ่มเททั้งพระทัยและพระวรกายให้กับการฝึกอบรมทหารช่างให้มีความรู้ด้านช่างสมัยใหม่ตามแบบทหารช่างอังกฤษ ในการฝึกอบรมนั้น ต้องทรงแต่งตำราวิชาทหารช่างเพื่อใช้สอนนักเรียนทหารช่างตลอดจนต้องทรงปรับปรุงและพัฒนาวิชาช่างในกองทัพบก ให้มีความสามารถในการซ่อมแซมสร้างสรรค์เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นเครื่องยนต์กลไกมิให้ต้องทิ้งเสียหาย หรือต้องพึ่งความสามารถของช่างฝรั่ง ปรากฏพระเกียรติคุณนี้ในประกาศพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมขุน ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ความตอนหนึ่งว่า

“—ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งจเรการช่างทหารบก มาแต่พระพุทธศักราช ๒๔๕๑ ในเวลาที่ทรงรับราชการอยู่ในตำแหน่งนี้ ได้ทรงพระดำริวางระเบียบวิธีจัดการงานในกรมนั้นให้เรียบร้อยเป็นหลักฐาน ทั้งได้ทรงแต่งตำราเรียน และทรงทำการสอนด้วยพระองค์เอง และแนะนำให้ผู้สอนในวิชชาช่างสำหรับทหาร นับว่าเป็นบ่อเกิดแห่งวิชชาช่างทหารในกองทัพบกสยามเป็นอย่างดี เพราะพระองค์ท่านเป็นผู้รอบรู้กิจการช่างทุกประเภททั้งทางทหารและพลเรือน เป็นอย่างวิเศษ—”

หน่วยงานช่างทหารในสมัยที่พระองค์ทรงบริหารนั้น ครอบคลุมกิจการต่างๆ อันล้วนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งองค์ผู้บริหารทรงกระตือรือร้นที่จะศึกษาด้วยการอ่านมากฟังมาก ไตร่ตรองทดลองก่อนที่จะนำมาใช้ในหน่วยงาน ครั้งทรงตั้งแผนกรถไฟขึ้นในกองทัพบก ครั้งนั้นทรงนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการรถไฟหลายประการ ซึ่งบางอย่างปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่ เช่น โทรศัพท์ทางไกลและโทรศัพท์อัตโนมัติ แทนการขอทางด้วยโทรเลขดังเดิม ทรงริเริ่มการใช้รถจักรดีเซลไฟฟ้าแทนการใช้รถจักรไอน้ำ เพราะมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ที่ทรงคาดการณ์ถึงอนาคตว่า ต่อไปไม้ฟืนจะหายากและราคาสูง
การใช้รถจักรดีเซลจะสะดวกสะอาดและประหยัดเงิน พระดำริในการสร้างสรรค์ของพระองค์มิได้หยุดยั้ง เพราะเมื่อทรงปรับปรุงรถไฟเพื่อประโยชน์ของกองทัพด้านคมนาคมขนส่งแล้ว ทรงมองถึงประโยชน์ที่น่าจะได้มากกว่าการคมนาคม

นั่นคือการท่องเที่ยว ซึ่งทรงคาดการณ์อย่างถูกต้องว่า ในอนาคตการท่องเที่ยวจะเป็นกิจการหนึ่งที่นำรายได้มาสู่ประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ ดังเช่นบางประเทศในยุโรป จึงทรงริเริ่มธุรกิจนี้อย่างครบวงจร นับแต่โปรดให้ตั้งแผนกโฆษณาขึ้นในกรมรถไฟ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ชักชวนชาวต่างประเทศให้มาท่องเที่ยวในไทย ด้วยการส่งหนังสือและภาพชวนท่องเที่ยวไปให้นักเรียนไทยและสถานทูตไทยเป็นผู้ดำเนินการ ในส่วนพระองค์ทรงเข้าเป็นสมาชิกสมาคมโรตารีกรุงเทพ (Bangkok Rotary Club) เพื่อจะได้มีโอกาสติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น อันจะเป็นผลดีกับธุรกิจท่องเที่ยว โปรดให้สร้างโรงแรมชั้นหนึ่ง คือโรงแรมวังพญาไทไว้รับรองนักท่องเที่ยว และเพื่อให้การคมนาคมและท่องเที่ยวเป็นไปอย่างสะดวก จึงทูลแนะนำให้สร้างสะพานพระราม ๖ เชื่อมเส้นทางรถไฟสายเหนือและสายใต้ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติในสมัยนั้นคือชายทะเลหัวหิน ทรงเตรียมทั้งโรงแรมและสนามกอล์ฟไว้รับรอง การท่องเที่ยวในสมัยนั้นได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศพอสมควร อันถือเป็นพื้นฐานธุรกิจท่องเที่ยวในปัจจุบัน

พระอุปนิสัยกระตือรือร้นและกระหายความรู้โดยเฉพาะวิทยาการสมัยใหม่ที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไก ซึ่ง
จะนำประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมือง ก็จะยิ่งทรงขวนขวายศึกษาเพิ่มเติม เช่น วิทยุกระจายเสียง ทรงให้ความสนพระทัยศึกษาและทดลองด้วยพระองค์เองจนแน่พระทัย จึงโปรดให้จัดตั้งสถานีส่งวิทยุกระจายเสียงขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่โรงแรมวังพญาไท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ อันเป็นพื้นฐานกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ได้พัฒนาต่อมา นอกจากวิทยุกระจายเสียงแล้ว ยังมีวิทยาการสมัยใหม่อื่นๆ เช่น โทรศัพท์อัตโนมัติ เครื่องปรับอากาศ ซึ่งโปรดใช้เป็นครั้งแรกที่อาคารโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง เป็นต้น

จากพระอุปนิสัยและวัตรปฏิบัติพระองค์ที่กล่าวแล้ว จึงไม่น่าที่จะแปลก เมื่อครั้งที่ นายวินเดฟ เบิร์น
นักบินสัญชาติเบลเยียม ถอดชิ้นส่วนเครื่องบินบรรจุหีบลงเรือมาแสดงการบินครั้งแรกในประเทศไทยที่สนามม้าสระปทุม มีผู้ไปชมกันคับคั่ง ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชน และชาวต่างประเทศ แต่ไม่มีพระองค์ใดหรือผู้ใดแสดงเจตจำนงที่จะทดลองโดยสารไปกับเครื่องบินนี้ แต่กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งทรงมีวัตรปฏิบัติและพระดำริบางประการแตกต่างจากพระบรมวงศานุวงศ์ส่วนใหญ่ มีพระประสงค์จะทดลองขึ้นบินไปกับ นายวินเดฟ เบิร์น นับเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นเครื่องบินเพื่อทดลองบินนี้ ทำให้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการบิน ซึ่งต่อมาได้ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งแผนกการบินทหารบกขึ้นในกองทัพบก และได้พัฒนาต่อมาเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน

ผลงานอันก่อให้เกิดความทันสมัยเจริญรุ่งเรืองแก่บ้านเมืองของกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน
ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพระดำริและพระดำรัสที่ว่า “—อะไรที่ฝรั่งทำได้ คนไทยก็ทำได้—”